ไทยเที่ยวนอก-พิษ ศก.-ค่าครองชีพพุ่ง กดดันการฟื้นตัว "โรงแรมไทย" โค้งท้ายปี

ไทยเที่ยวนอก-พิษ ศก.-ค่าครองชีพพุ่ง กดดันการฟื้นตัว "โรงแรมไทย" โค้งท้ายปี

สถานการณ์ “ท่องเที่ยว” เริ่มฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น หลังต้องชะลอธุรกิจไปร่วม 2-3 ปีจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศต่างแข่งขันแย่งชิงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก!

แม้เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุม “เอเปค 2022” มีโอกาสนำเสนอกิจกรรมต่างๆ เพื่อโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวแก่ชาวต่างชาติ รวมถึงผู้นำแต่ละประเทศที่เข้าร่วมงานนี้ ผนวกกับทางรัฐบาลได้ประกาศวันหยุดพิเศษในช่วงการจัดประชุมเอเปค ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมเกือบทุกภูมิภาคกลับมาคึกคักขึ้น แต่ในเรื่องราคาพลังงานที่พุ่งสูง ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ค่าตั๋วเครื่องบินที่ปรับสูงขึ้น แรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ยังขาดแคลน ถือเป็นปัจจัยที่ยังต้องจับตา กดดันการฟื้นตัวของธุรกิจระยะข้างหน้า

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน พ.ย.2565” จัดทำโดยสมาคมฯร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 11–27 พ.ย. มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 113 แห่ง พบว่า แม้ว่าภาพรวมรายได้ของโรงแรมจะยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ระบาด แต่รายได้ของโรงแรมฟื้นตัวชัดเจนขึ้น สะท้อนจากโรงแรมที่มีรายได้กลับมาเกินครึ่งหนึ่งคิดเป็น 47% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 32% ซึ่งเป็นการปรับดีขึ้นในทุกกลุ่มโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมระดับตั้งแต่ 5 ดาวขึ้นไป โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากทั้งจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและราคาห้องพักที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ส่วนหนึ่งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มเข้ามามากตามช่วงไฮซีซัน

“เดือน พ.ย. 65 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 59% เพิ่มขึ้นจาก ต.ค. 65 ที่ 49% ตามการเข้าสู่ไฮซีซัน ทั้งยังมีการจัดประชุมเอเปค 2022 ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวในเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ขณะที่ภาคอีสานมีอัตราการเข้าพักลดลง เนื่องจากลูกค้าไทยลดลง ทั้งนี้คาดอัตราการเข้าพักโดยรวมในเดือน ธ.ค.65 อยู่ที่ 59%”

ลูกค้าของโรงแรมมีแนวโน้มเป็นลูกค้าต่างชาติมากขึ้น สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หรือคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ ทั้งนี้หากพิจารณากลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลางเป็นหลัก อย่างไรก็ดีลูกค้ายุโรปและอเมริกาเริ่มเข้ามามากขึ้น

“ด้านการจ้างงาน โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยใกล้เคียงเดือนก่อนอยู่ที่ 73.3% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดโควิด-19 จากปัญหาขาดแคลนแรงงานยังคงกดดันการจ้างงานในธุรกิจโรงแรมเป็นสำคัญ”

และจากการสอบถามประเด็นพิเศษ เกี่ยวกับปัญหา “การขาดแคลนแรงงาน” พบว่า โรงแรมราว 81% ยังต้องการแรงงานเพิ่มในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยส่วนใหญ่ต้องการแรงงานเพิ่มจากปัจจุบันไม่เกิน 10%

ทั้งนี้ สาเหตุที่ธุรกิจยังคงขาดแคลนแรงงานมาจากธุรกิจไม่สามารถหาแรงงานที่มีทักษะและประสบการณ์ตรงกับความต้องการได้มากที่สุด ตามมาด้วยความสามารถขึ้นค่าจ้างทำได้จำกัด และแรงงานเดิมไปประกอบอาชีพอื่น เช่น อาชีพอิสระ นอกจากนี้มีการแข่งขันแย่งแรงงานระหว่างธุรกิจโรงแรมด้วยกัน โดยพนักงานบางส่วนหันไปทำงานกับเชนโรงแรม เนื่องจากได้เซอร์วิสชาร์จ (Service Charge) สูงกว่า

มาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง มีโรงแรม 72% ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยใกล้เคียงหรือสูงกว่า “อัตราการเข้าพักที่เป็นจุดคุ้มทุน” ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจรอบก่อน ณ เดือน ก.ย.2565 ที่มีโรงแรมเพียง 39% ที่อัตราการเข้าพักใกล้เคียงหรือสูงกว่าจุดคุ้มทุน

อีกประเด็นคือโรงแรมกว่าครึ่งหนึ่งมีจำนวนลูกค้าไทยลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะกลุ่มมากกว่า 4 ดาว จากผลของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ส่วนขยาย” สิ้นสุดลง กระแส “คนไทยเที่ยวนอก” และ “ค่าครองชีพสูงขึ้น” เป็นสำคัญ ขณะที่บางส่วนเห็นว่าราคาห้องพักและตั๋วเครื่องบินในประเทศที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนไทยเที่ยวในประเทศน้อยลง

สำหรับไตรมาส 4 นี้ โรงแรมส่วนใหญ่ 75% คาดว่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรก มาจากการปรับเพิ่มขึ้นของ 1.ราคาวัตถุดิบ 2.ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และ 3.ค่าจ้างแรงงาน เช่น ปรับขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำ และปรับขึ้นเพื่อดึงดูดแรงงาน ขณะที่ผลของค่าเงินบาทอ่อน และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นไม่ค่อยกระทบต้นทุนธุรกิจมากนัก

ด้านมาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากภาครัฐ พบว่าโรงแรมส่วนใหญ่ต้องการ 1.มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เช่น สินเชื่อฟื้นฟูดอกเบี้ยต่ำที่เข้าถึงง่ายขึ้น (ดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี และเพิ่มวงเงิน) รวมถึงต้องการให้ ธปท.ขยายเวลาลดภาระอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้น 2.มาตรการช่วยเหลือด้านการลดต้นทุน เช่น ลดราคาวัตถุดิบอาหาร ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ และลดภาษีต่างๆ

3.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5” หรือมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยอื่นๆ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมภายในจังหวัด นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐปรับเพิ่มงบสำหรับการประชุมให้สอดคล้องกับต้นทุนผู้ประกอบการที่สูงขึ้น และ 4.มาตรการด้านแรงงาน เช่น กำหนดค่าแรงขั้นต่ำของโรงแรมให้เป็นมาตรฐาน สนับสนุนฝึกอบรมพนักงาน และสร้างบุคลากรรองรับตลาดในอนาคต เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงาน