มุ่งพัฒนาฯ รับแรงกระแทกหนักรอบ 40 ปี หลังต้นทุนการผลิตป่วนโลก

มุ่งพัฒนาฯ รับแรงกระแทกหนักรอบ 40 ปี หลังต้นทุนการผลิตป่วนโลก

'มุ่งพัฒนา อินเตอร์เนชั่นแนล' เจ้าตลาดสินค้าแม่และเด็กแบรนด์ "พีเจ้น" ครวญหนัก หลังเผชิญต้นทุนพุ่งรุนแรงสุดรอบ 40 ปี ตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา โดยเฉพาะพลาสติก PPSU ไร้แนวโน้ม "ราคาอ่อนตัว" ด้านแผนธุรกิจยังมุ่งหาโอกาส M&A ดึงสินค้าใหม่เติมพอร์ตเสริมแกร่ง สู่เติบโต

นายสุเมธ เลอสุมิตรกุล ประธานคณะกรรมการ บริษัท มุ่งพัฒนา อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2565 ถือเป็นปีที่บริษัทเผชิญมรสุมรุมเร้าเลวร้ายสุด ตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมากว่า 40 ปี โดยเฉพาะภาวะต้นทุนการผลิตสินค้าปั่นป่วนทั้งโลกและปรับตัวสูงขึ้น จากราคาพลังงานพุ่ง ซึ่งวัตถุดิบพลาสติกพีพีเอสยู(PPSU) สำหรับผลิตขวดนมต่างๆ ขยับขึ้นรุนแรงมาก และไม่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการสูงมาก

ทั้งนี้ บริษัทจึงมุ่งบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้วัตุดิบพลาสติกใส เพื่อทดแทนพลาสติกพีพีเอสยูสีน้ำตาลแทน ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนโมลหรือแม่พิมพ์ต่างๆด้วย เบื้องต้นสินค้าดังกล่าวจะผลิตออกสู่ตลาดได้ในปี 2566

“ยอมรับว่าปีนี้บริษัทเจอมรสุมค่อนข้างหนัก เราไม่เคยเจอปัจจัยลบที่รุนแรงขนาดนี้มาก่อน ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าทั่วโลกปั่นป่วน แต่จนถึงขณะนี้เรามองว่าสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น มาถึงจุดต่ำสุดแล้ว ไม่มีทางเลวร้ายกว่านี้ ซึ่งบริษัทเองพยายามแก้ปัญหาทุกอย่าง ทั้งประหยัดค่าใช้จ่าย บริหารต้นทุน เพื่อผ่านพ้นไปได้ และหวังว่าปีหน้าทุกอย่างจะฟื้นกลับมาเหมือนเดิม”

มุ่งพัฒนาฯ รับแรงกระแทกหนักรอบ 40 ปี หลังต้นทุนการผลิตป่วนโลก อีคอมเมิร์ซเติบโตต่อเนื่อง

นางสาวสุวรรณา โชคดีอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มุ่งพัฒนา อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปี 2565 สินค้าที่สร้างการเติบโตยอดขายให้บริษัท เป็นหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าผู้ใหญ่ ซึ่งมีโอกาสอยู่มากในตลาด และยังมีภาคการส่งออกมีการขยายตัวดี

เจาะลึกหมวดอาหารและเครื่องดื่มถือว่าเติบโต 2 เท่าจากปีก่อน แต่สัดส่วนยอดขายยังน้อย จาก 1% ขยับเป็น 3% เท่านั้น ส่วนช่องทางขายที่เติบโต อีคอมเมิร์ซเป็นอีกกลุ่มมาแรงถึง 67% เพราะพฤติกรรมคุณแม่ยุคใหม่ หันมาชอปปิงออนไลน์มากขึ้น บริษัทจึงพัฒนาแพลตฟอร์ม Moong-Shop.com ของตัวเอง เปิดร้านบนอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ฯ ส่งผลให้สัดส่วนการขายเพิ่มเป็น 8% จากปีก่อนอยู่ที่ 5%

แม้มุ่งพัฒนาฯ พยายามขยายพอร์ตโฟลิโอสินค้า ปลุกปั้นแบรนด์ของตัวเองเข้าทำตลาดมากขึ้น อีกด้านการเป็นตัวแทนจำหน่ายต้องเดิมเกมรุก หาสินค้าใหม่ๆมาเสริมแกร่งต่อเนื่อง ล่าสุด รุกคืบสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลในกลุ่มดูแลผิวพรรณแบรนด์ “ฟูจิ” ทั้งกลุ่มครีมบำรุงผิว(สกินแคร์) ครีมกันแดด ฯ ในรูปแบบซองหรือซาเช่

มุ่งพัฒนาฯ รับแรงกระแทกหนักรอบ 40 ปี หลังต้นทุนการผลิตป่วนโลก ส่วนแบ่งการตลาดพีเจ้น

ขณะที่สินค้าหลักกลุ่มแม่และเด็ก แม้เผชิญโจทย์ใหญ่คืออัตราการเกิดของเด็กน้อยลง แต่พ่อแม่ยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อบุตรหลาน ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นขวดนม จุกนม แบรนด์ “พีเจ้น” ยังคงมีการขยายตัว ที่สำคัญ “ส่วนแบ่งทางการตลาด” เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งภาพรวมสินค้าพีเจ้น ส่วนแบ่งตลาด 46% เพิ่มจากปีก่อนอยู่ที่ 44% ขวดนม 41% จาก 38% และจุกนม 57% จาก 54% และถือเป็นส่วนแบ่งตลาดที่มากสุดในรอบ 6 ปีด้วย

ทว่า จิ๊กซอว์สร้างการเติบโตที่มีอยู่ ไม่เพียงพอ บริษัทยังสร้างโอกาสใหม่ๆต่อเนื่อง ทั้งการออกสินค้าใหม่ทุกไตรมาส ล่าสุด สินค้าแม่และเด็กออกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ขวดนมสำหรับเด็ก แชมพูแบบไม่ต้องล้างน้ำออก(Dry Shampoo Foam) สำหรับคุณแม่ ทำให้ประหยัดน้ำลดลง 15% เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นต้น การขยายช่องทางจำหน่าย “อีคอมเมิร์ซ” ที่ต้องพัฒนาต่อเนื่อง ตลาดส่งออก ไม่จำกัดกรอบแค่กลุ่ม “ซีแอลเอ็มวี” หรือกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม แต่บุกออสเตรเลีย บาห์เรน เพิ่มเติม

มุ่งพัฒนาฯ รับแรงกระแทกหนักรอบ 40 ปี หลังต้นทุนการผลิตป่วนโลก พอร์ตโฟลิโอสินค้า

กลยุทธ์สำคัญที่บริษัทหวังเร่งเครื่องเติบโตคือการ “ซื้อและควบรวมกิจการ”(M&A) เกณฑ์ธุรกิจที่เล็งไว้ ไม่ห่างจากธุรกิจหลัก เพราะต้อง “ต่อยอด” และซีนเนอร์ยีสิ่งที่มีให้แกร่งยิ่งขึ้น ส่วน “มูลค่าดีล” ไม่ใหญ่เกินกว่าขนาดรายได้ของบริษัทระดับ 800 ล้านบาท

“มองโอกาส M&A ซึ่งเราอยากได้ธุรกิจที่เติบโต มียอดขายดีมาเสริม เพื่อแกร่ง ปีหน้าหากได้ธุรกิจใหม่เข้ามาในพอร์ต จะสร้างการเติบโตให้บริษัทอัตรา 2 หลัก ถ้าเติบโตแบบธรรมชาติหรือออร์แกนิคเรามองที่ 5% แต่ภาพรวมปีนี้บริษัทค่อนข้างได้รับผลกระทบ”

สำหรับภาพรวมรายได้ 9 เดือน อยู่ที่ 638.7 ล้านบาท เติบโต 0.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรสุทธิ 23.1 ล้านบาท ลดลง 62.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจอื่นหดตัว ปัจจุบันโครงสร้างรายได้บริษัทมาจากสินค้าแม่และเด็ก 61% สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล 22% สินค้าผู้ใหญ่ 14% และอาหารและเครื่องดื่ม 3%