แนะท่องเที่ยวชูดิจิทัล-ดาต้ายกระดับอุตฯดันจีดีพีก้าวกระโดด

แนะท่องเที่ยวชูดิจิทัล-ดาต้ายกระดับอุตฯดันจีดีพีก้าวกระโดด

สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ผนึกกำลังททท. และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสู่ Digital Transformation เต็มรูปแบบ จัดงานThailand Travelution 2022ชูดิจิทัล-ดาต้ายกระดับอุตฯ ดันจีดีพีก้าวกระโดด

สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ผนึกกำลังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสู่ Digital Transformation เต็มรูปแบบ จัดงานแถลงข่าวโครงการ “Thailand Travelution 2022” เป็นครั้งแรก เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และสตาร์ตอัพสาย TravelTech ร่วมมือกันเพิ่มขีดความมารถในการแข่งขันสู่ตลาดโลก

โดยมี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล” 

โดยมองว่า ปัจจุบันรัฐบาลประสบความสำเร็จในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยี รวมถึงอินเทอร์เน็ต 5G อย่างไรก็ตามโครงสร้างพื้นฐานจะประสบความสำเร็จไม่ได้ ถ้าภาคธุรกิจไม่นำไปใช้ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนข เพราะตัวชี้วัดจาก IMD ประเทศไทยดีมากเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในด้านคนและธุรกิจยังเป็นรองหลายประเทศ ดังนั้นถือเป็นเรื่องดีที่งาน Thailand Travelution 2022 จะสนับสนุนธุรกิจดิจิทัล

“เรื่องเทคโนโลยีเราไม่เป็นรองใครและรัฐบาลพยายามส่งเสริม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เป็นเสาหลักของจีดีพีประเทศ”

ขณะเดียวกัน รัฐบาลพยายามแก้จุดอ่อนเรื่องข้อมูล ให้ภาคธุรกิจสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น โดยในอนาคต จะมีเอไอมาช่วยในการวิเคราะห์และวางแผนธุรกิจ ในการทำการตลาด หรือนักท่องเที่ยวเอง สามารถใช้วิเคราะห์ข้อมูลในการท่องเที่ยว เพื่่ออำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นต้น

ล่าสุดได้เชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยของ 2 ประเทศ ระหว่างระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย และระบบเพย์นาว (PayNow) ของสิงคโปร์  และหากสามารถดำเนินการได้ตามแผน เศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยเพิ่มจีดีพีของประเทศได้ถึง 30% ภายใน 5ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 18%

ด้าน ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตและประธานคณะกรรมการการจัดงาน ระบุว่าปัจจุบันมีคำถามว่าบริษัท Travel Tech ของไทย มีกี่รายที่สามารถไปสู่ระดับรีจินัลหรือระดับโลกได้ และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม Thailand Travel Tech จะสามารถรวมตัวและไปต่อกันได้

งานนี้จึงเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวที่จะเข้ามาหาโซลูชั่นที่เหมาะกับองค์กร  ตั้งแต่เรื่องบัญชี บริหารงานบุคคล สต็อกสินค้า หรือการจ่ายเงินต่างๆ และโอกาสที่ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เติบโตขึ้นไปสู่ระดับรีจินัล และระดับโลก

ทั้งนี้มองว่า การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นอยู่กับ “2D” D ตัวแรก คือ Digital ซึ่ง ท่องเที่ยวถูกดิสรัปมานานแล้ว และกำลังจะถูกดิสรัปต่อไปในอนาคต ส่วน D ตัวที่สอง คือ Data ข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการการท่องเที่ยว ฉะนั้น วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำ Tourism Data Hackathon การแข่งขันสตาร์ทอัปสาย Travel Tech เพื่อนำข้อมูลมาจัดการเรื่องการท่องเที่ยว

“อยากให้รมต.ช่วยจุดเปลวไฟนี้ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและ Travel Tech ให้เกิดปฏิกิริยาผีเสื้อขยับปีกหรือที่เรียกว่า Butterfly Effect ทำให้ 2 อุตสาหกรรมเติบโต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ”
 

ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) มองว่าการต่อยอดอย่างหนึ่งคือการ เชื่อมโยงดาต้าจากหน่วยงานต่างๆ ให้เอกชนเข้ามาใช้บริการ ได้สะดวก และง่าย โดยได้พัฒนาแพลทฟอร์ม “Travel Link” รวบรวมข้อมูลท่องเที่ยวจากแหล่งต่างๆ เอาไว้และเตรียมพร้อมให้บริการข้อมูล บริการการวิเคราะห์ ทั้ง Dashboard และ AI แก่ Tourism Data Intelligence Sandbox

“เป็นข้อมูลในการวางแผนการทำตลาดในหลายๆมิติ ล่าสุดพยายามทำอินโฟกราฟฟิกสื่อสารข้อมูลให้เข้าใจง่ายขึ้น แล้วยิงเข้าไปใน Line OA และปีหน้าจะขยับทำข้อมูลจากภูเก็ตไปยังพื้นที่สามเหลี่ยมอันดามัน บวกกับกรุงเทพฯ ทำให้เห็นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย การเดินทางของคนไทยมากขึ้น”

นิธี สีแพร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. ขานรับนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมเทคโนโลยี ดิจิทัล เพราะว่า การท่องเที่ยว ถือเป็น Growth Engine ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

ดังนั้น ททท. จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการ ดิจิทัลในระยะ 5ปีขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี 2566-2570 เพื่อวางแผนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายชาติในการปฏิรูปประเทศสู่ดิจิทัล ไทยแลนด์ 

โดยร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Digital Tourism ร่วมผลักดันให้เกิด Ecosystem ยกระดับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้มีความรู้ เท่าทันและได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล ให้สามารถปรับตัวในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ