AAV เผย Q3/65 บาทอ่อน-น้ำมันแพง ฉุดขาดทุน 4,050 ล้านบาท

AAV เผย Q3/65 บาทอ่อน-น้ำมันแพง ฉุดขาดทุน 4,050 ล้านบาท

“AAV” ผู้ถือหุ้นใหญ่สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2565 พิษบาทอ่อนและน้ำมันแพง สวนทางรายได้ฟื้นตัว เพิ่มขึ้น 969% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 76% จากไตรมาสก่อน จากจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตโดดเด่น อัตราขนส่งผู้โดยสารสูง 87%

บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด หรือ TAA เผยผลประกอบการไตรมาส 3/2565 มีรายได้เติบโตขึ้นแข็งแกร่งจากปริมาณการเดินทางที่สูงขึ้นอย่างชัดเจนในตลาดเส้นทางภายในประเทศที่ยังคงคึกคัก และเส้นทางระหว่างประเทศที่มีโมเมนตัมฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยรายได้รวมอยู่ที่ 4,892 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 969% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากในไตรมาส 3/2564 TAA มีการหยุดบินชั่วคราวกว่าครึ่งไตรมาสจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น  

อย่างไรก็ดี จากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง ค่าบำรุงรักษาอากาศยานสำหรับการนำเครื่องบินกลับมาให้บริการ และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวสูงสุดในรอบ 16 ปีที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ AAV ยังคงขาดทุน 4,050 ล้านบาทในไตรมาสนี้

หากไม่รวมผลของการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและกำไรขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ขาดทุนลดลงเหลือ 601 ล้านบาท ซึ่งฟื้นตัวดีที่สุดในรอบ 7 ไตรมาส พร้อมเพิ่มเครื่องบินปฏิบัติการบินต่อเนื่อง ก้าวสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 TAA ขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 2.75 ล้านคน อัตราส่วนขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 87% เพิ่มขึ้นจาก 60% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย TAA ยังรักษาความเป็นผู้นำตลาดภายในประเทศ ด้วยจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศที่ฟื้นตัวกลับมา 62% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2562 ("ช่วงก่อนโควิด-19") อัตราความตรงต่อเวลายังคงสูงกว่า 92% พร้อมฝูงบิน 58 ลำ ณ สิ้นสุดไตรมาส โดยเป็นเครื่องบินที่ปฏิบัติการบินอยู่ที่ 35 ลำ ส่วนเครื่องบินที่ยังไม่ได้ปฏิบัติการบินวางเเผนจะใช้รองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวและเส้นทางบินใหม่ในไตรมาสถัดๆ ไป

ทั้งนี้ อัตราการใช้งานเครื่องบิน (Aircraft Utilization) อยู่ที่ 9.9 ชั่วโมง/วัน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2562 แสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการเที่ยวบินที่มีประสิทธิภาพและการฟื้นตัวในทิศทางบวกที่ชัดเจน ในขณะที่มีราคาค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 1,404 บาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศ

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยวเเละบริการในประเทศไทยมีโมเมนตัมฟื้นตัวต่อจากไตรมาสที่แล้ว หลังประเทศส่วนใหญ่ทยอยประกาศยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมโควิด-19 ทำให้ปริมาณการเดินทางที่อั้นในช่วงที่ผ่านมากลับมาอย่างรวดเร็ว ซึ่ง TAA ชิงความได้เปรียบในความพร้อมของฝูงบินเเละพนักงาน ในการขยายเครือข่ายการบินครอบคลุมทั้งเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศที่มีการเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น

ทั้งนี้ ณ สิ้นสุดไตรมาส TAA กลับมาบินเส้นทางระหว่างประเทศ รวม 27 เส้นทาง สู่ 11 ประเทศ และยังแสวงหาโอกาสใหม่ๆ โดยพร้อมบินตรงสู่ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น และธากา ประเทศบังกลาเทศ รวมทั้งเส้นทางบินตรงจากฐานปฏิบัติการบินเชียงใหม่ สู่ฮานอย ดานัง ประเทศเวียดนาม และไทเป ที่จะทำการบินในไตรมาส 4/2565 ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน

“ความภูมิใจในไตรมาส 3/2565 นอกเหนือจากผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นเเล้ว กลุ่มสายการบินแอร์เอเชียยังได้รับรางวัลตอกย้ำคุณภาพเป็นสายการบินราคาประหยัดที่ดีที่สุดในโลกติดต่อกัน 13 สมัยจากการจัดอันดับของสกายเเทรกซ์ (Skytrax) และ AAV ยังได้รับคัดเลือกเป็นหุ้นยั่งยืน (THSI) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ เป็นปีที่ 4 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เป็นที่ยอมรับเชื่อมั่นของทุกคน” นายสันติสุขกล่าว

ทั้งนี้เมื่อสรุปผลการดำเนินงานของบริษัทงวด 9 เดือน ปี 2565 AAV มีรายได้รวมอยู่ที่ 9,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 229% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขนส่งผู้โดยสารรวม 5.89 ล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากบริการเสริมพิเศษ (Ancillary Income) อยู่ที่ 1,747 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 320% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากค่าบริการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่อง ค่าธรรมเนียมการเลือกที่นั่ง และค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่เติบโตดีขึ้นตามปริมาณผู้โดยสาร ผนวกกับการได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ให้จำหน่ายเเละรับประทานอาหารบนเครื่องได้ตั้งเเต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

สำหรับไตรมาส 4/2565 เชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจสายการบิน เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และได้เเรงหนุนจากภาครัฐ อาทิ เเคมเปญ “ลดทั่วฟ้า บินทั่วไทย” ที่การท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทยมอบส่วนลด 300 บาทต่อหมายเลขการจองสำหรับการบินเส้นทางภายในประเทศที่กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการทำงานเชิงรุกร่วมกันในการเจาะตลาดต่างประเทศ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทยให้มาใช้จ่ายในช่วงวันหยุดยาว

อย่างไรก็ตาม TAA ยังวางเป้าหมายยอดขนส่งผู้โดยสารตลอดปี 2565 อยู่ที่ 10 ล้านคน และคงเเผนฝูงบินจำนวน 53 ลำภาย ณ สิ้นปี รวมถึงเดินหน้าเพิ่มความถี่เเละเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมรองรับเส้นทางบินเข้าออกประเทศจีนที่คาดการณ์ว่าจะเริ่มผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 เป็นศูนย์ในปีหน้า