พันธกิจยักษ์ความงาม 'ลอรีอัล' ใช้ความสวยขับเคลื่อนโลก สร้างความยั่งยืน

พันธกิจยักษ์ความงาม 'ลอรีอัล' ใช้ความสวยขับเคลื่อนโลก สร้างความยั่งยืน

ส่องแผนพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนของยักษ์ใหญ่สินค้าความงามอันดับ 1 ของโลกอย่าง "ลอรีอัล" มุ่งสานเป้าความสวยยุคใหม่ควบคู่การรักษ์โลก ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

แนวทางขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน กลายเป็นสิ่งที่แทบทุกองค์กรต้องลุกขึ้นมาดำเนินการ เพราะโลกมีเพียงใบเดียว หากการผลิตสินค้ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระยะยาวอาจทำให้โลก “ป่วยหนัก” จนยากจะฟื้นฟู

“ลอรีอัล” ยักษ์ใหญ่สินค้าความงามอันดับ 1 ของโลก เป็นอีกบริษัทที่ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงมีพันธกิจสำคัญ “L’OREAL FOR THE FUTURE” พร้อมวางเป้าหมายลดผลกระทบต่อโลกหลายด้าน

สิตานันท์ สิทธิกิจ ผู้จัดการแผนกิจการองค์กรและสื่อสารสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพแผนงานด้านความยั่งยืนของ “ลอรีอัล” ผ่านหัวข้อ “Green Product for Smart Sustainable เมืองสะอาด ฉลาดทุกผลิตภัณฑ์” บนเวที สัมมนา Thailand Smart City : Bangkok Model

ระยะเวลา 20 ปี คือเส้นทางธุรกิจสินค้าความงามของ “ลอรีอัล” ในการบุกตลาดประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมี 15 แบรนด์ดังในพอร์ตโฟลิโอ ใน 4 หมวดหมู่หรือบริษัทเรียกว่า “แผนกสินค้า”

-หมวด Consumer Product มีแบรนด์ ลอรีอัล หัวหอก การ์นิเย่ เบอร์ 1 ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ(สกินแคร์) และเมย์เบลลีน

-หมวด L’OREAL LUXE มีแบรนด์ ลังโคม ไบโอเธิร์ม อิท คอสเมติกส์ และคีลส์ เป็นต้น

-หมวด ACTIVE COSMETICS มีผลิตภัณฑ์สกินแคร์แบรนด์ ลา โรช-โพเซย์ วิชี่ และเซราวี

-หมวด PROFESSIONAL PRODUCTS มีผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมอย่างแบรนด์ ลอรีอัล และเคเรสตาส

สินค้าจำนวนมากมาย ถูกขายผ่านหลากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นห้างค้าปลีกสมัยใหม่ สเปเชียลตี สโตร์ แพลตฟอร์มออนไลน์ ฯ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคเป้าหมายทั่วไทย และรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ชอบช้อปออนไลน์มากขึ้น

บริบทโลกธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม เทคโลโนโลยี ดิจิทัลทรงพลังกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ทำให้ “ลอรีอัล” ปรับตัว นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งสู่การเป็น “บิวตี้เทค” เป็นเวลาหลายปีแล้ว

ขณะที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน กลายเป็นอีกตัวแปรที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ และ “ลอรีอัล” ตระหนักประเด็นดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันหลายพันธกิจเดินหน้าไประดับหนึ่งแล้ว ตามเป้าหมายแตกต่างกันไปแต่ละปี เช่น ภายในปี 2568 สถานประกอบการของบริษัท และศูนย์กระจายสินค้า จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์(Carbon Neutral) การใช้พลังงานทดแทน 100%

นอกจากนี้ 100% ของน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตในโรงงาน จะถูกนำเข้ากระบวนการรีไซเคิล และนำกลับมาใช้ใหม่ และ 100% ของพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์จะต้องมาจากการรีไซเคิล หรือมาจากฐานชีวภาพ จะต้องบรรลุภายในปี 2573 รวมถึงการระบบการตรวจสอบสินค้าย้อนหลังว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อในระดับใด ผู้บริโภคสามารถเช็กได้ผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น

บริษัทจะรักษ์โลกลำพังไม่เพียงพอ เพราะยุคนี้ผู้บริโภคเองมีส่วนร่วมและพร้อมสนับสนุนแบรนด์ที่พัฒนาสินค้าลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลอรีอัล จึงต่อยอดการให้ข้อมูลความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายด้วยเช่นกันว่าบรรจุภัณฑ์ใด ซื้อไปแล้วมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“นอกเหนือจากการสร้างผลิตภัณฑ์ความงามขับเคลื่อนโลก บริษัทยังส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สะท้อนความสวยยุคนี้ต้องใส่ใจโลกด้วย”

ปัจจุบันสินค้าความงามตอบโจทย์สมาร์ท ซิตี้ ได้อย่างไร “สิตานันท์” ให้มุมมองว่า การฟังเสียงผู้บริโภค ความต้องการเชิงลึก เป็นหัวใจของแบรนด์ ที่นำไปสู่การพัฒนาสินค้าตองสนองกลุ่มเป้าหมาย อย่าง ผลิตภัณฑ์ลังโคมทำตลาดในฝรั่งเศสและประเทศไทย “ส่วนผสม” แตกต่างกัน ไม่เพียงให้ตรงลักษณะผิวพรรณของกลุ่มลูกค้า แต่ยังสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศด้วย เป็นต้น