หนาวนาน! เที่ยวไทยคึก แรงส่งปี 66 ลุยกลยุทธ์ "เที่ยวได้ทุกวัน" โกย 8.8 แสนล้าน

หนาวนาน! เที่ยวไทยคึก แรงส่งปี 66 ลุยกลยุทธ์ "เที่ยวได้ทุกวัน" โกย 8.8 แสนล้าน

“ปีนี้หนาวนานกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน!” พยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุไว้เช่นนั้น ส่งผลต่อจิตวิทยาการเดินทางของ “นักท่องเที่ยวไทย” ว่าต้องออกไปท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวนี้ให้ได้! แน่นอนว่า “ภาคเหนือ” และ “ภาคอีสาน” คือไฮไลต์ ได้อานิสงส์จากปัจจัยบวกนี้เต็มๆ

“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” คาดว่า ไฮซีซันนี้บรรยากาศการท่องเที่ยวในตอนบนของประเทศไทยจะช่วยปลุกโมเมนตัม! สร้างแรงส่งสำคัญต่อรายได้ท่องเที่ยวภายในประเทศปี 2566 ฟื้นตัวตามเป้าหมาย 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด-19

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากปัจจัยบวกอากาศหนาวเย็นดังกล่าว คาดว่าในช่วง 2 เดือนโค้งท้ายปีนี้ ตั้งแต่ พ.ย.-ธ.ค. แนวโน้มการเดินทางสู่ภาคเหนือและภาคอีสานจะดีมาก มีอัตราการเข้าพักในพื้นที่หลัก เช่น เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี และขอนแก่น ไม่น้อยกว่า 80% ทั้งสองภาคเป็น “ผู้นำ” ในการปลุกโมเมนตัม สร้างแรงส่งที่ดีต่อการฟื้นรายได้ท่องเที่ยวภายในประเทศปี 2566 ให้ได้ 8.8 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายการฟื้นตัว 80% ของรายได้กว่า 1 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562

“พยากรณ์อากาศว่าปีนี้จะหนาวนานกว่าปีที่แล้ว ส่งผลดีต่อจิตวิทยาการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทย ทำให้เตรียมตัวเที่ยวในประเทศช่วงฤดูหนาวกันมากขึ้น โดย ททท.ประเมินว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวในภาคเหนือและอีสาน จะเป็นตัวช่วยภาคอื่นๆ ในการฟื้นภาพรวมรายได้ตลาดท่องเที่ยวในประเทศปี 2565 ให้ได้เกินเป้าหมาย 6.56 แสนล้านบาท และเกินเป้าหมาย 160 ล้านคน-ครั้งแน่นอน”

หลังจากในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. มีรายได้ตลาดในประเทศสะสมกว่า 6.42 แสนล้านบาท จาก “ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย” จำนวน 177 ล้านคน-ครั้ง แบ่งเป็น “นักท่องเที่ยวชาวไทย” ที่มีการค้างคืน จำนวน 103 ล้านคน-ครั้ง คิดเป็นสัดส่วน 58.37% ของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยทั้งหมด สร้างรายได้ 5.48 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,800 บาท/คน/ทริป ลดลง 43% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4,000 บาท/คน/ทริป แม้วันพักเฉลี่ยอยู่ที่ 2.21 วัน/ทริป ลดลงจากปี 2562 ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดซึ่งมีวันพักเฉลี่ย 2.37 วัน/ทริป แต่พบว่ามีความถี่ในการเดินทางมากขึ้น

ส่วน “นักทัศนาจรชาวไทย” ที่เดินทางท่องเที่ยวแบบไม่ค้างคืน พบว่าพฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไปเป็นแบบนี้มากขึ้น มีจำนวน 73 ล้านคน-ครั้ง คิดเป็นสัดส่วน 41.63% สร้างรายได้ 9.3 หมื่นล้านบาท ใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 1,300-1,400 บาท/ทริป

ทั้งนี้ในช่วงปลายปี ยังมีไฮไลต์สำคัญอย่าง “เทศกาลปีใหม่” พื้นที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศเตรียมจัด “งานเคาท์ดาวน์” เพื่อเปิดศักราชใหม่ของแต่ละจังหวัดหลังผ่านยุคโควิด-19 โดย ททท.อยู่ระหว่างเลือกพื้นที่ที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ อาจเป็นบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อจัดงานเคาท์ดาวน์ครั้งยิ่งใหญ่ ให้สถานีโทรทัศน์ช่องดัง CNN ฉายภาพประเทศไทยบนปฏิทินเคาท์ดาวน์โลก! ว่าพร้อมต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว

สำหรับกลยุทธ์ส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศปี 2566 ททท.จะมุ่งใช้กลยุทธ์ Content Marketing” ตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบมีความหมาย (Meaningful Travel) กระตุ้นคนไทยเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกวัน ผ่านแคมเปญเรือธง 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย...เที่ยวได้ทุกวัน” ชูความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ของแต่ละภาค กำหนดธีมการท่องเที่ยวในแต่ละวัน รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกสาย โดย ททท.เตรียมจัดงานส่งเสริมการขาย “งานมหกรรมเที่ยว 5 ภาค” ตั้งแต่วันที่ 15-18 ธ.ค.นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ขณะเดียวกันต้องโปรโมทจุดหมายแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ทั้งแบบ Unseen และ Festival พร้อมชูโปรโมชั่นของภาคเอกชนท่องเที่ยวผ่านโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทย เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน ได้ออกแพ็คเกจดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย

ททท.จึงต้องแบ่งเซ็กเมนต์อย่างละเอียดตามพฤติกรรมการเดินทาง ออกเป็น 8 กลุ่มที่มีศักยภาพ ได้แก่ “กลุ่มคู่รัก” มีอัตราการเดินทาง 36% “กลุ่มเพื่อน” ที่ต้องนัดเจอหรือรียูเนียนมีอัตราการเดินทาง 18% “กลุ่มครอบครัว” มีอัตราการเดินทาง 10% “กลุ่มผู้ชายเดินทางคนเดียว” มีอัตราการเดินทาง 9.5% “กลุ่มครอบครัวมิลเลนเนียลส์” มีอัตราการเดินทาง 9% “กลุ่มผู้หญิงเดินทางคนเดียว” มีอัตราการเดินทาง 8% “กลุ่ม Power Women” ผู้หญิงทำงานเก่ง สาวมั่น มีอัตราการเดินทาง 5% และ “กลุ่มเครือญาติ” มีอัตราเดินทาง 3.2% เพื่อออกแบบแพ็คเกจจูงใจนักท่องเที่ยวไทยแต่ละกลุ่มอย่างตรงจุด

นอกจากนี้ ททท.ยังจับตา “อุปสรรค” อื่นๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย เช่น “เงินเฟ้อ” จากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง กระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน คนไทยมีรายจ่ายสูงขึ้น แต่รายได้ลดลง บางคนตกงาน ขณะเดียวกันยังมีปัญหา “น้ำท่วมหนัก” ในบางพื้นที่ของ 29 จังหวัดทั่วประเทศ มาซ้ำเติมปัญหากำลังซื้อและบรรยากาศการเดินทาง!