ช่อง 3 ลุยบิ๊กธุรกิจสื่อ “บันเทิงครบวงจร” พลิกรายได้ทีวี คืนชีพกำไร 5,000 ล.

ช่อง 3 ลุยบิ๊กธุรกิจสื่อ “บันเทิงครบวงจร”  พลิกรายได้ทีวี คืนชีพกำไร 5,000 ล.

ช่อง 3 ยังคงเดินหน้าพลิกภาพองค์กรจาก “สถานีโทรทัศน์” ไปสู่บทบาทใหม่ผู้ผลิตรายการหรือคอนเทนท์โปรวายเดอร์ ต่อจิ๊กซอว์เป็น “ธุรกิจบันเทิงครบวงจร”

เป็นเวลาราว 2 ปีที่ สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) หวนคืนบ้านเก่าอย่างช่อง 3 เป็นแม่ทัพขับเคลื่อนธุรกิจสื่อ ฝ่าสารพัดโจทย์ยาก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจชะลอตัว เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเจอโควิด-19 ระบาด ลูกค้าเบรกใช้งบโฆษณา ฯ จนกระเทือนรายได้และความสามารถในการสร้าง “กำไร”

ทว่า โจทย์โหดหินเพียงใด บริษัทต้องงัดทุกกลยุทธ์ มาสร้างการเติบโต โดยภารกิจใหญ่ใน 5 ปี คือการนำพาช่อง 3 ขึ้นแท่นผู้ประกอบการ “ธุรกิจบันเทิงครบวงจร” ซึ่งต่อยอดรากฐานธุรกิจการผลิตคอนเทนท์ทั้งละคร รายการวาไรตี้ ฯ ไปสู่การหาน่านน้ำ หรือรายได้ใหม่ๆ

“สุรินทร์” ฉายภาพแนวทางการลุยธุรกิจใน 5 ปี คือการปรับสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ๆ 50% เช่น ธุรกิจเพลง ซึ่งปีหน้าจะเห็นการดัน “ดาราในสังกัด” ก้าวมาเป็นนักร้องอีก 2-3 ราย ส่วนการขายคอนเทนท์ ลิขสิทธิ์รายการต่างๆไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันป้อนคนดูแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก หมากรบดังกล่าวไม่เพียงขยายตลาดอินเตอร์ให้กว้าง แต่การมีคอนเทนท์ในกรุจำนวนมาก ต้นทุนเดิม ทำให้โกย “กำไร” ได้อย่างดี

อีกเกมบุกคือสร้างรายได้แพลตฟอร์มออนไลน์ “3Plus” ให้เติบโตทั้งจากขายโฆษณา และระบบบอกรับสมาชิก ที่ปัจจุบันมีฐานคนดูกว่า 10 ล้านราย แม้จ่ายค่าสมาชิกต่ำกว่า “แสนราย” แต่ถือเป็น “ฐานข้อมูล” สำคัญในการต่อยอดทำเงิน จากการจีดมีท แอนด์ กรี๊ด ฯ

จิ๊กซอว์ใหม่และใหญ่คือ การผลิตคอนเทนท์ผ่าน “บีอีซี สตูดิโอ” ซึ่งหวังเทียบชั้นผลงานระดับสากลมากขึ้น เพื่อตอบสนองคนดู “ทั้งโลก” ทำให้ “ราคา” คอนเทนท์ขายในตลาดได้สูงขึ้น จากปัจจุบันตั้งราคาได้ราว 10% เทียบคอนเทนท์เกาหลีใต้ อีกทั้งลงทุนตำกว่า 10% เช่นกัน หากกรุยทางสำเร็จ ช่อง 3 เป็นผู้เล่นในตลาดคอนเทนท์โปรวายเดอร์ระดับสากลมากขึ้นด้วย

“วิสัยทัศน์บริษัทชัดเจน ต้องการเป็นผู้นำด้านการผลิตคอนเทนท์ป้อนคนดู ไม่ว่าจะอยู่บนแพลตฟอร์มไหน ช่อง 3 ไม่ใช่แค่ธุรกิจทีวี แต่เป็นโททัล เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คัมปะนี นั่นคือภาพที่อยากเห็น และสัดส่วนรายได้อนาคตจะเปลี่ยนด้วย ยิ่งกว่านั้น ภายใน 5 ปี อยากนำทัพธุรกิจให้กลับไปอยู่ในช่วงพีค ที่เคยทำกำไรเกินกว่า 5,000 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมา เราอยู่ในโหมดขาดทุน เพราะเล็งตลาดทีวีดิจิทัลพลาด มั่นใจเกินไปที่ประมูลได้มา 3 ช่อง ทำให้เกิดภาระพอประมาณ”

ทั้งนี้ ย้อนดูผลการดำเนินงานของช่อง 3 ปี 2561-2563 เผชิญ “ขาดทุน” ร่วม “ร้อยล้าน” และพลิกทำกำไรในปี 2564-2565 ส่วนรายได้ “หมื่นล้าน” ในอดีต ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ระดับ 5,000-8,000 ล้านบาท

เมื่อพลิกภาพองค์กรใหม่ “รายได้ทีวี” ระยะ 5 ปี ยังต้องเติบโต แต่สัดส่วนเหมาะสมอยากเห็นระดับ 50% จากปี 2565 คาดการณ์ทีวี ยังทำรายได้หลัก 85% จากภาพรวมรายได้ปีนี้ที่คาดว่าจะ “ทรงตัว” เนื่องจากทั้งปีเผชิญปัจจัยลบมากมาย ล่าสุด น้ำท่วม มีผลทำให้การขายสินค้าและบริการ “หดตัว” มีผลต่อการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาอีกระลอก

ปัจจุบันทีวีทำเงินจากการขายโฆษณา คอนเทนท์และเวลา “ละคร” ออกอากาศ ยังทำเงินสูงสุด 55% แต่ปีนี้ชะลอตัว เพราะโควิดทำให้การถ่ายละครสะดุด จนต้องนำคอนเทนท์เดิมมา “รีรัน” แม้ต้นทุนต่ำ การขายโฆษณาก็ได้ราคาไม่ดีเช่นกัน ส่วนรายการ “ข่าว” ยังทำเงิน 30% และโฆษณาแน่น จึงมีแผนจะ “ปรับค่าโฆษณา" หรือเรทติ้งดีมาก อาจขยายเวลาเพื่อ “ทำเงิน” สร้างการเติบโต