‘ธุรกิจดิจิทัล’ ลุยคว้าโอกาสใหม่ สร้างการเติบโตสู้โลกอนาคต

‘ธุรกิจดิจิทัล’ ลุยคว้าโอกาสใหม่ สร้างการเติบโตสู้โลกอนาคต

‘ธุรกิจดิจิทัล’ ลุยคว้าโอกาสรับโลกยุคใหม่ สร้างบริการตอบทุกโจทย์ความต้องการ ‘บิทคับ’ พัฒนาอินฟราฯ สู่ “โทเคนไนซ์เซชั่น” 'เอไอเอส’ ลุยขยาย 5จี มอง “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” โอกาสสร้างเติบโต “ไลน์” ลุยพัฒนาบริการตอบโจทย์คนไทย 24 ชั่วโมง ยอดผู้ใช้พุ่ง53 ล้านราย

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 หัวข้อ Digital Business : Next Opportunity เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ดึงธุรกิจดิจิทัลชั้นนำของประเทศร่วมแชร์ไอเดีย ทิศทางทำธุรกิจดิจิทัลที่ได้ชื่อว่าเป็น “โอกาส” การเติบโตในอนาคต เป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนประเทศไทยเสริมสร้างขีดแข่งขันประเทศ

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ “บิทคับ” ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย กล่าวว่า ในอนาคตเทรนด์การเทรดคาร์บอนเครดิต การเทรดยูนิตไฟฟ้า เทรดตราสารหนี้ จะอยู่ในรูปแบบของ “โทเคนไนซ์เซชั่น” แพลตฟอร์ม ทำให้บริษัทเร่งสร้าง “อีโคโนมิก อินฟราสตรักเจอร์” ที่พร้อมสำหรับเศรษฐกิจยุค เว็บ 3.0

ยุทธศาสตร์ปี 66 บิทคับมุ่งยั่งยืน

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์บิทคับ ปี 2566 คือ การทำให้ธุรกิจมีความ “ยั่งยืน” ด้วยการวางโครงสร้างองค์กรให้แข็งแรง เพื่อผ่านภาวะเศรษฐกิจโดยการมองการลงทุนแบบ “Short-Term Noise“ และมี ”Long-Term Vision”

สำหรับการวางแผนในระยะสั้น ที่เงินเฟ้อทั่วโลกสูงมากในรอบ 40 ปี ทุกที่ทั่วโลก ทำให้ต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่ออยู่รอดในช่วงภาวะเฟ้อ และเงินเฟ้อจะต้องกลับไปอยู่ที่ 2% ในปี 2567

 

 

 

ขณะเดียวกันเหล่า Venture Capital หรือ VC ยักษ์ใหญ่มองการลงทุน “บล็อกเชน” คือการลงทุนที่เติบโตมหาศาลในอนาคต ซึ่งมาพร้อมกับไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ฟินเทค และดิจิทัลแอสเสท ซึ่งการที่รู้ว่า VC เหล่านี้เข้าไปลงทุนในธุรกิจประเภทใด เป็นหนึ่งวิธีที่จะคาดเดาเทรนด์อนาคตได้ รวมทั้ง “Net Zero” มาเร็วกว่าที่คิด ทำให้ต้องคำนึงถึงเรื่อง “ความยั่งยืน

บิทคับ โต 2000%

ทั้งนี้ นายจิรายุส เชื่อว่า หลังสถานการณ์ “รีเซสชั่น” ทั่วโลกหายไป “ดิจิทัล แอสเสท” จะเติบโตขึ้นมาก บิทคับ จึงเตรียมฐานที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต จากปีล่าสุดที่บริษัทเติบโตเกือบ 2,000% และที่ผ่านมามีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 1000% ซึ่งมีการสร้าง “โปรดักซ์ มาร์เก็ตฟิต” คือ การสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาตอบโจทย์ตลาดมากที่สุด สู่การสเกลอัพโปรเจกต์ต่างๆ ให้แข็งแรง ทำให้บิทคับมุ่งสู่เนชั่นนัลมากขึ้น เพื่อเติบโตเป็นคอมพานีที่ครอบในภูมิภาค

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การหาบาลานซ์ระหว่างการเติบโตเทคโนโลยีที่ไม่มีวันหยุดยั้ง และหน่วยงานกำกับดูแลที่รักษาความปลอดภัยของลูกค้า ที่จะสามารถทำให้อินโนเวชั่นเติบโตได้ภายในประเทศไทย รวมทั้งการสร้างนักพัฒนาด้านเทคโนโลยี ดึงเอ็นจิเนียริ่ง บุคคลที่มีความรู้เรื่องดิจิทัล และบล็อกเชนที่กำลังขาดแคลนในขณะนี้ พร้อมกับการมีเงินทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าธุรกิจ

“ในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่ยุคทองของภูมิภาคเซาท์อีสเอเชีย จะเติบโตได้อย่างรวดเร็วที่สุด จากความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งความมั่นคง มีความรุ่งเรื่อง มีการพัฒนาคนและมีดิจิทัลอีโคโนมี่ ทำให้เราต้องเตรียม อินฟราสตรักเจอร์ ที่ต้องเชื่อมโยงกับ กรีน อีโคโนมี ภายใต้หลักการ sustainability สิ่งสำคัญของซัพพลายเชนที่จะดึงดูดให้นักลงทุนหลังไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้”

เอไอเอส มอง“ดิจิทัลดิสรัปชั่น”คือโอกาส

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีความพร้อม โครงข่ายทั้งมีสายและไร้สายมีศักยภาพ ครอบคลุม เทียบเคียงหรือเป็นผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ 5จี เป็นรองเพียงประเทศจีนเท่านั้น ซึ่งความพร้อมเหล่านี้เอื้อให้การใช้แอปพลิเคชัน อีคอมเมิร์ซ รวมถึงบริการบนดิจิทัลเติบโตได้รวดเร็วอย่างมาก

สำหรับเอไอเอส มองดิจิทัลดิสรัปชันเป็นโอกาสมากกว่าความท้าทาย เมื่อมองไปข้างหน้าสามปีคาดว่าอีคอมเมิร์ซจะเติบโตอีกไม่น้อยกว่า 60-70% ต่อไปไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กจำต้องปรับตัวสู่ดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายพื้นฐานของธุรกิจโทรคมนาคมคือ ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ปีละไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นธุรกิจที่ต้องใช้การเงินลงทุนเพื่อขับเคลื่อน อีกทางหนึ่งมีความท้าทายเรื่องการทำราคาค่าบริการ

ลุยอัปเกรด 5จี คว้าโอกาสดิจิทัล

ยุทธ์ศาสตร์ของเอไอเอส มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ 5จี ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น จากขณะนี้ที่ครอบคลุมแล้วกว่า 80% ของประชากร จะทำให้ครอบคลุมทั้งหมด ส่วนแบบมีสายจะทำให้เติบโตแบบก้าวกระโดด เพื่อรองรับการบริการบนดิจิทัลต่างๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาธุรกิจไปข้างหน้า

หลังจากนี้ มุ่งขยายโครงข่ายไปสู่การเป็น “อีโคซิสเต็ม พาร์ทเนอร์ชิป” เติบโตไปพร้อมๆ กับลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงการสร้างความยั่งยืนและมุ่งสู่ Net Zero ในอนาคต ซึ่งเริ่มมีการวางแผนและขับเคลื่อนงานที่เป็นรูปธรรมแล้ว ที่ผ่านมายังได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อทำงานร่วมกัน ทั้งมีการส่งเสริมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการมุ่งสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน

นอกจากนี้ บทบาทสำคัญในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายให้ความสำคัญอย่างมากด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ โดยจะมีการประสานงานกับหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา และเอไอเอสจะมีการลงทุนในด้านนี้อีกจำนวนมาก

‘ไลน์’ ผงาดยอดผู้ใช้ไทย 53 ล้านราย

นายพิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไลน์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ไลน์เปิดให้บริการในไทยมา 10 ปี โดยเป็น 10 ปีที่เรียนรู้เร็ว หากเอาโปรดักส์มาวางบนโต๊ะ ไลน์มีจิ๊กซอว์อยู่เป็นจำนวนมาก

เป้าหมายของไลน์ คือ ต้องการให้ผู้ใช้งานไลน์แล้วไม่ออกไปไหน สามารถใช้สิ่งที่ทำประจำทุกวัน ใช้เวลาน้อยลง เช่นแบงกิ้งใช้เวลาน้อยลง เรียกบริการรถ สั่งซื้ออาหารโดยใช้เวลาน้อยลง

“ช่วงโควิดที่ผ่านมาเกิดทำให้เกิดการใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้น เรารู้ว่าจะเกิด Digital Migration แต่ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นรวดเร็ว และเกิด Mass Migration ไม่ใช่แค่ ไลน์แชท ที่มีการเติบโต แต่บริการอื่นๆ ก็เติบโตตามไปด้วย ปัจจุบันไลน์ มีผู้ใช้งานในประะเทศไทยมากกว่า 53 ล้านคนแล้ว"

ขณะที่ บริการด้านการเงินผ่าน ไลน์ บีเค บริการฟู้ดเดลิเวอรีผ่าน ไลน์แมน หรือสำหรับธุรกิจอย่างบัญชีไลน์ ออฟฟิศเชียล แอคเค้าท์ (LINE OA) และศูนย์รวมข่าวสารผ่านไลน์ทูเดย์ ก็เติบโตเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นายพิเชษฐ กล่าวต่อไปอีกว่า เชื่อว่าในอนาคตจะเกิดโอกาสใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ไลน์พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ในไทย

“ช่วงโควิดเรามีการศึกษาพฤติกรรม เห็นพฤติกรรมตื่นเต้นหลายเรื่อง คนกล้าจ่ายเงินผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ไลน์มีฐานผู้ใช้เยอะ รู้กำลังการซื้อ คอร์ปอเรท เห็นการใช้จ่ายผ่าน ไลน์ออฟฟิศเชียลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี”

ทั้งนี้ ไลน์เปิดให้บริการไลน์ ออฟฟิศเชียล ฟรีถึงพันบาทมียอดผู้ใช้งานไลน์ออฟฟิศเชียลเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านราย ไป 5 ล้านราย เติบโต 1,000% ขณะที่ เอสเอ็มอี มีปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน ไลน์ บีเค จึงเข้ามาตอบโจทย์ ซึ่งไลน์ได้เตรียมแพลตฟอร์ม เครื่องมือ และ เงินทุนให้เอสเอ็มอี ถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มให้โอกาสค้าขายในโมเดลที่สมเหตุสมผล