เตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคต | พสุ เดชะรินทร์

เตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคต | พสุ เดชะรินทร์

การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้แนวคิดเรื่อง Future Ready Organization หรือองค์กรที่พร้อมสำหรับอนาคต ได้รับการกล่าวถึงกันมากขึ้น โดยแปลตรงๆ ว่า จะสร้างองค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคตได้อย่างไร

มีหลายสำนักออกมาให้คำแนะนำไว้สำหรับการ Future Ready แต่จากที่อ่านดูพบว่าของ McKinsey จะชัดเจนและครอบคลุมที่สุด โดยเมื่อปี 2564 ได้ออกบทความชื่อ Organizing for the future ระบุถึง 9 ปัจจัยสำคัญเพื่อเตรียมพร้อมองค์กรสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารจัดการองค์กรที่มีอยู่แล้ว แต่ข้อแนะนำของ McKinsey คือทำปัจจัยเหล่านี้ให้ลึกและมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

1. Purpose ที่ชัดเจน ซึ่งคือการมุ่งเน้นถึงสิ่งที่จะทำให้กับลูกค้า สังคม หรือคนอื่น มากกว่าการมุ่งไปที่การสร้างกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว โดย Purpose นั้นไม่ใช่เพียงแค่กำหนดให้มีแล้วจบ แต่จะต้องสามารถฝังรากเข้าสู่กระบวนการทำงานหลักขององค์กรด้วย

2. Value Agenda ที่ชัดเจน เริ่มจากว่าองค์กรจะมุ่งเน้น การเติบโตและการสร้างคุณค่าให้ลูกค้าอย่างไร และจะต้องแตกคุณค่าเหล่านั้นให้เข้ามาภายในองค์กร มีความชัดเจนว่าหน่วยงาน หรือทีม หรือบุคคลใดมีส่วนในการสร้างคุณค่าดังกล่าว มีการจัดสรรทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากรที่มีความสามารถเข้าไปสนับสนุนต่อกิจกรรมที่สร้างคุณค่า

3. วัฒนธรรมองค์กร หรือค่านิยมหลัก (หรือร่วม) โดยแนวคิดสำคัญไม่ใช่การมีและการสื่อสารให้ทุกคนท่องจำได้เท่านั้น แต่จะต้องสามารถแตกออกมาเป็นพฤติกรรมและแนวทางในการทำงาน (Ways of work) ที่จำเพาะเจาะจง ที่พนักงานทุกคนสามารถยึดถือและปฏิบัติตามได้

4. การมีโครงสร้างองค์กรที่แบน เพื่อสนับสนุนเรื่องของการดำเนินงานที่รวดเร็ว จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับกล่องและเส้นเชื่อมระหว่างกล่องต่างๆ แต่จะมุ่งเน้นที่คน การทำงาน และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่า ภายใต้โครงสร้างองค์กรที่แบน การทำงานเป็นทีมในรูปแบบข้ามสายงาน (Cross-functional) จะมีความสำคัญยิ่งขึ้น และต้องเป็นทีมที่คล่องตัว พร้อมตั้ง พร้อมยุบ พร้อมเปลี่ยนตลอดเวลา

เตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคต | พสุ เดชะรินทร์

(ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio)

5. การยกระดับความเร็วในการตัดสินใจ ในอนาคตจะเป็นโลกของปลาเร็วกินปลาช้า การตัดสินใจที่รวดเร็วอย่างมีคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้การจัดสรรและกระจายอำนาจในการตัดสินใจไปยังบุคคลที่เหมาะสมจึงจำเป็น การนำ Machine learning และ AI เข้ามาช่วยในการยกระดับความเร็วในการตัดสินใจก็เป็นสิ่งจะต้องพิจารณา

6. Talent หายากกว่าทุน องค์กรจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ต้องการ Talent แบบไหน? จะดึงดูด Talent ให้มาร่วมงานกับองค์กรได้อย่างไร และจะบริหาร Talent เพื่อสร้างคุณค่าตามที่ต้องการได้อย่างไร?

7. มองการเติบโตด้วยระบบนิเวศ ในโลกอนาคตการเติบโตขององค์กรจะต้องไปพร้อมๆ กับพันธมิตรธุรกิจ แต่ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์แบบเดิมในเชิงของการแลกเปลี่ยนกัน แต่เป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ที่จับมือร่วมกันสร้างคุณค่าใหม่ๆ มีการแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันคน ระหว่างกัน และมองว่าพันธมิตรเป็นส่วนต่อขยายขององค์กร ไม่ใช่เพียงแค่คู่ค้าที่เซ็นสัญญาด้วย

8. องค์กรแห่งข้อมูล องค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของข้อมูล และมองว่า Data is the business ไม่ใช่เพียงแค่เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และเข้าใจข้อมูลเท่านั้น จะต้องสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาสินค้า บริการใหม่ๆ ให้รวดเร็วขึ้น

9. เร่งการเรียนรู้ของทั้งองค์กร บุคลากรในองค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติใหม่ จะต้องเต็มไปด้วยความสนใจใคร่รู้ ความพร้อมที่จะเรียนรู้ ทดลอง และล้มเหลว

ทั้ง 9 ปัจจัยเบื้องต้นไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ การจะเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตนั้น ถ้าตามคำแนะนำของ McKinsey คือ จะต้องมากและลึกกว่าเดิม ลองถามตนเองว่าภายใต้แต่ละปัจจัยองค์กรท่านอยู่ในระดับใด?

พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]