ต้นทุนพุ่ง โจทย์ท้าทาย ‘เอสแอนด์พี’ มุ่งปรับตัวต่อเนื่อง ผลักดันยอดขายโต

ต้นทุนพุ่ง โจทย์ท้าทาย ‘เอสแอนด์พี’  มุ่งปรับตัวต่อเนื่อง ผลักดันยอดขายโต

ต้นทุนแพงลามทุกหย่อมหญ้า ในส่วนของภาคธุรกิจร้านอาหาร และเบเกอรี เป็นอีกกลุ่มต้องเจอราคาวัตถุดิบพุ่ง ทำให้บริษัทต้องเข้มบริหารจัดการ เพื่อประคองกำไร "เอสแอนด์พี" ปั้นฮับผลิตสินค้าป้อนสาขาเชิงรุก ลดอัตราเร่งเปิดเดลต้า หลัง Dine-in ฟื้นตัว

นายวิทูร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจัยความขัดแย้งของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบในการดำเนินธุรกิจปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ปี 2565 โจทย์ดังกล่าวจึงกลายเป็นความท้าทายใหญ่สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร และเบเกอรี เนื่องจากวัตถุดิบราคาแพงไม่ใช่เพียงรายการเดียว แต่เกือบทุกรายการด้วย ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงาน น้ำตาล แป้งสาลี เป็นต้น

แนวทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการหลายด้าน เช่น ต้นทุน เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร

ทั้งนี้ ภาพรวมแนวโน้มธุรกิจร้านอาหาร และเบเกอรีปี 2565 คาดการณ์ฟื้นตัวกลับมาได้แน่นอน เมื่อเทียบกับฐานธุรกิจในปี 2564 ซึ่งร้านถูกปิดให้บริการ จากมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งร้านอาหารของเอสแอนด์พีเอง เห็นการฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการกลับมาใช้บริการรับประทานอาหารที่ร้าน(Dine-ine) ปรับตัวดีขึ้นราว 80% เทียบก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด

สำหรับทำเลของร้านเอสแอนด์พีที่ฟื้นตัวเร็ว ได้แก่ โรงพยาบาล เนื่องจากผู้บริโภคอั้นในการออกไปรักษาการเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนที่ยังกลับมาใช้บริการในร้านค่อนข้างช้า คือ ร้านที่อยู่ในห้างค้าปลีก

ด้านแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง บริษัทยังเดินหน้าเปิดร้านใหม่ และปรับปรุงร้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเบเกอรี จะเปิดคอนเซ็ปต์เอสแอนด์พี เบเกอรีมาร์ทในเชิงรุกอีก 20 สาขาภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันให้บริการราว 10 สาขา ซึ่งร้านต้นแบบอยู่ที่อาคารอิตัลไทย มีขนาดใหญ่ และมีรายการเบเกอรีให้เลือกมากมาย เพื่อให้ผู้บริโภคเอ็นจอยกับการชอปปิงสินค้า

นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าหรือ S&P Production Hub เพื่ออบขนมปัง และเบเกอรีต่างๆ ไปยังร้านให้ครอบคลุมทุกช็อปในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 300 จุด แต่บริษัท เอสแอนด์พี ฮับ ส่งสินค้าครอบคลุมเบื้องต้น 100 จุดเท่านั้น ขณะที่ทั่วประเทศมีช็อปเปิดบริการกว่า 460 แห่ง

“เอสแอนด์พี ฮับ เหมือนโรงงานขนาดเล็ก ที่ผลิตเบเกอรีเพื่อกระจายไปยังร้านของเรา โดยที่พนักงานไม่ต้องอบขนมที่สาขาเอง ทำให้คุณภาพสินค้าขึ้น และสามารถผลิตสินค้าได้ตลอดเวลา”

ส่วนการเปิดร้านโมเดลเดลต้า เพื่อรองรับการซื้อสินค้ากลับบ้าน และบริการดิลิเวอรี ปีนี้อาจชะลอลงเล็กน้อย เนื่องจากไลฟ์สไตล์การนั่งรับประทานในร้านฟื้นตัวกลับมาแล้ว ขณะนี้ร้านเดลต้าให้บริการทั้งสิ้น 38 สาขา จะเปิดเพิ่มอีกกว่า 10 สาขา

“ปีนี้การลงทุนยังต้องระมัดระวัง แต่ภาพรวมการลงทุนเปิดร้านใหม่ และปรับปรุงร้านเดิม เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า รวมถึงการปรับแผนธุรกิจ ซึ่งเราทำมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ยังต้องลุยต่อ”

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารที่ฟื้นตัวกลับมา ยังส่งผลให้อุตสาหกรรมเกิดการแย่งตัวพนักงานด้านบริการ หลังจากโรคระบาดส่งผลกระทบให้ร้านปิด แรงงานจำนวนมากกลับท้องถิ่น และไม่กลับมา จนเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ตัวแปรดังกล่าวทำให้บริษัทต้องเริ่มนำหุ่นยนต์มาใช้ในบางร้าน โดยร้านอาหาร 1 สาขาของบริษัทใช้พนักงานกว่า 10 คน

ด้านเป้าหมายยอดขายปี 2565 ตั้งเป้าการเติบโตสูงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากฐานปีก่อนต่ำ ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกมีรายได้ 2,587 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% กำไรสุทธิ 170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47 ล้านบาท โดยยอดขายของการรับประทานอาหารในร้านเพิ่มขึ้น 31% ซึ่งสาขาในสนามบิน และโรงพยาบาลเป็นตัวผลักดันสำคัญ ส่วนยอดขายดิลิเวอรีเพิ่มขึ้น 44% โมเดลร้านเดลต้าเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนการเติบโต

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์