วัดเรทติ้งข้ามแพลตฟอร์มกู้ชีพ‘ทีวีดิจิทัล’ ล้างไพ่คนดูทีวี-ออนไลน์

วัดเรทติ้งข้ามแพลตฟอร์มกู้ชีพ‘ทีวีดิจิทัล’  ล้างไพ่คนดูทีวี-ออนไลน์

ที่สุดแล้วไทยก็มีระบบการวัดเรทติ้งใหม่ หลังพยายาม "ล้มเรทติ้ง" ระบบเดิม ที่วัดแค่ความนิยมคนดูทีวี ผ่านกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 ครัวเรือน โดยสำนักงาน กสทช. ผนึกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ระบบวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ฟื้นธุรกิจทีวีดิจิทัล

ระบบการวัดความนิยมคนดูรายการโทรทัศน์หรือเรทติ้ง ยังเป็นหนึ่งในปมปัญหาที่ “ทีวีดิจิทัล” เผชิญ เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเสพสื่อเปลี่ยนไป ทั้งรับชมรายการโปรดผ่านหลายอุปกรณ์ ทั้งทีวี สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ส่วนรายการที่รับชมไม่ได้มีแค่จาก “ทีวีดิจิทัล 15 ช่อง” แต่ยังมีคอนเทนต์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ วิดีโอออนไลน์(โอทีที) เป็นต้น

 ดังนั้น การวัดเรทติ้งความนิยมจากทีวีเพียงอย่างเดียว จึงไม่เพียงพอต่อดำเนินธุรกิจ เพราะงบโฆษณามูฃค่ามหาศาล ไม่ได้จำกัดอยู่แค่จอแก้ว ตลอดจนสื่อดั้งเดิมอื่นๆอีกต่อไป แต่ถูกกระจายไปยังสื่อใหม่ “ออนไลน์” มากขึ้น นีลเส็นรายงานภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.2565) มีมูลค่า 68,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% ทีวีครองเม็ดเงิน 37,061 ล้านบาท ลดลง 0.61 % และสื่ออินเตอร์เน็ต 15,773 ล้านบาท เติบโต 13.44% ที่เหลือเป็นสื่ออื่นๆ

เมื่อสื่อหลากหลายแพลตฟอร์ม ทำให้สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ผลักดันให้เกิดระบบ “วัดเรทติ้งข้ามแพลตฟอร์ม” ที่แรกในอาเซียน

"พิรงรอง รามสูต" กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า  สำนักงาน กสทช. ร่วมกับสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดตัวระบบวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-Platform Ratings) ที่แรกในอาเซียน โดยการใช้ระบบการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มแบบเต็มรูปแบบจะเกิดขึ้นไตรมาส 1 ปี 2566 เพื่อให้มีมาตรวัดผู้ชมทั้งที่รับชมรายการผ่านหน้าจอโทรทัศน์ และผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

วัดเรทติ้งข้ามแพลตฟอร์มกู้ชีพ‘ทีวีดิจิทัล’  ล้างไพ่คนดูทีวี-ออนไลน์

สถานการณ์เม็ดเงินในอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา

เนื่องจาก กสทช.เห็นความสำคัญของความอยู่รอดทางธุรกิจ รวมถึงการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในประเทศไทย และให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล จึงได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์แก่สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม ที่สมาคมฯได้เลือกบริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดทำการสำรวจแบบข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-Platform Ratings) ในกรอบระยะเวลา 4 ปี

การวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มจะทำให้สถานีโทรทัศน์สามารถวางแผนกลยุทธ์ในการดึงดูดและเพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้ชมได้อย่างแม่นยำมากขึ้น รวมถึงทำให้นักการตลาดมีความเข้าใจพฤติกรรมผู้ชมในทุกแพลตฟอร์มและวางแผนการตลาดได้อย่างเหมาะสม ตรงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

"ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการทีวี มีการนำเสนอเนื้อหาผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ การสำรวจความนิยมรายการที่จะต้องมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ จึงควรจะครอบคลุมช่องทางในการรับชมที่หลากหลายด้วย”

"สุภาพ คลี่ขจาย" นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า เรทติ้งเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญมาโดยตลอด ตั้งแต่มีการประมูลทีวีดิจิทัล และมีสถานีโทรทัศน์เกิด 24 ช่อง เนื่องจากระบบวัดเรทติ้งมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจ ลงโฆษณาต่างๆ ตลอดจนการพัฒนารายการทีวีให้มีคุณภาพ ตอบโจทย์ผู้ชม

ทั้งนี้ อดีตทีวีมีเพียง 4-5 ช่องหลัก และช่องธุรกิจที่ทำเงินมี 2-3 ช่องเท่านั้น เมื่อเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัล และมีเพิ่มเป็น 24 ช่อง ทำให้ระบบการวัดเรทติ้งเดิม ไม่ตอบสนองสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะการรับชมรายการทีวี

วัดเรทติ้งข้ามแพลตฟอร์มกู้ชีพ‘ทีวีดิจิทัล’  ล้างไพ่คนดูทีวี-ออนไลน์ ระบบวัดเรทติ้งใหม่ออฟไลน์-ออนไลน์

ดังนั้น สิ่งที่สมาคมฯ ต้องการไม่ใช่เพียงปรับปรุงระบบการวัดเรทติ้ง แต่ขอให้มีการยกเครื่องการวัดเรทติ้งใหม่ทั้งหมด โดยประสานกับ กสทช. เพื่อยื่นเสนอโครงการขอสนับสนุนงบประมาณ มีการประมูลทำเรทติ้ง ซึ่งหลายบริษัทเสนอตัวเข้ามา แต่ถึงจุดหนึ่งไม่สามามารถไปต่อได้ จึงหารือกับกสทช. เพื่อกลับไปทำงานร่วมกับนีลเส็นในการทำเรทติ้ง พร้อมทั้งของบประมาณสนับสนุนกว่า 400 ล้านบาท 

“เราต้องการยกเครื่องระบบวัดเรทติ้ง ไม่ใช่แค่ปรับ การกลับไปคุยกับนีลเส็นใหม่ จึงกำหนดเงื่อนไขรื้อการวัดเรทติ้งทั้งหมด ซึ่งระบบวัดเรทติ้งใหม่ข้ามแพลตฟอร์ม ไม่ใช่ผู้ประกอบการมุ่งแข่งขันว่าใครเรทติ้งมากกว่า เพื่อหางบโฆษณา แต่เรทติ้งจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมทีวี เพราะหากเรทติ้งไม่ตอบสนองข้อเท็จจริงด้านประชากรศาสตร์ ทั้งเพศ อายุ อาชีพ การศึกษาว่าใครชอบดูรายการอะไร เวลาไหน จะทำให้ปัญหาการพัฒนารายการทีวีไม่เกิดขึ้น สุดท้ายคนดูจะพูดว่ามีจำนวนช่องเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่มีรายการอะไรใหม่ๆให้ดู ด้านผู้ประกอบการก็ต้องการเห็นคืออุตสาหกรรมทีวีมีการเติบโตอย่างมีคุณภาพด้วย”

วัดเรทติ้งข้ามแพลตฟอร์มกู้ชีพ‘ทีวีดิจิทัล’  ล้างไพ่คนดูทีวี-ออนไลน์ สตรีมมิ่งเอื้อต่อเรทติ้งทีวีเพิ่ม

"อารอน ริกบี้" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การวัดเรทติ้งข้ามแพลตฟอร์ม จะวัดรวมความนิยมในการรับชมรายการโปรดทั้งทีวี แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ รวมถึงรายการออกอากาศสด และรับชมย้อนหลัง โดยระยะเวลา 3 วัน 5 วัน ที่รับชมเรทติ้งเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด และมีการตัดผู้ชมซ้ำ สามารถดูเส้นทางการรับชมหรือเจอร์นี่ เพื่อให้ผู้ประกอบการ เอเยนซี่ฯ สามารถนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมคนดู และวางแผนการตลาด โฆษณาได้อย่างเหมาะสม แม่นยำ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในยุคดิจิทัลที่สื่อหลากแพลตฟอร์ม คอนเทนต์มีมหาศาล ผู้บริโภคไม่ได้ดูทีวีลดลง แต่เปลี่ยนอุปกรณ์ในการรับชมเท่านั้น จากการสำรวจเรทติ้งใหม่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา การรับชมรายการผ่านสตรีมมิ่งช่วยทำให้คนดูรายการทีวีในไทยเพิ่มขึ้น 43.12% เทียบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 58.1%

วัดเรทติ้งข้ามแพลตฟอร์มกู้ชีพ‘ทีวีดิจิทัล’  ล้างไพ่คนดูทีวี-ออนไลน์ อุปกรณ์วัดเรทติ้งสตรีมมิ่ง

ด้านวิธีการวัดเรทติ้งแบบใหม่ จะมีกลุ่มตัวอย่างราว 2,400 คน ซึ่งจะมีการติดตั้งทั้งมิเตอร์เพื่อวัดการรับชมรายการทีวี และ Cencus ซึ่งมี SDK อยู่บนอุปกรณ์ในการรับชมรายการผ่านแพลตฟอร์มโอทีที คอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ต ส่วนแพลตฟอร์มนอกจากทีวี จะมีเพลเยอร์(Players) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม แอ๊พพลิเคชั่นของช่องทีวีดิจิทัล รวมถึงแพลตฟอร์มต่างประเทศเข้ามาเพิ่ม เช่น TrueID Facebook Netflix Youtube ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้อยู่ระหว่างการเจรจาในการติดตั้งวิธีการวัดเรทติ้ง

อย่างไรก็ตาม นีลเส็น ฯ จะส่งมอบข้อมูลเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มให้กับสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) สำนักงาน กสทช. และอุตสาหกรรมตามช่วงเวลาต่างๆ เช่น ชุดข้อมูลแยกเป็นข้อมูลจากการรับชมผ่านทีวี (รายการสดผ่านทีวีทั่วไปและสตรีมมิ่ง) และการรับชมผ่านดิจิทัล (คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน) ส่งมอบ สิงหาคม 2565 ชุดข้อมูลข้ามสื่อจากการรับชมผ่านทีวี + ดิจิทัล (คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน) เป็นรายการสด ผ่านทีวีทั่วไปและสตรีมมิ่ง ส่งมอบเดือนกันยายน 2565 โดยข้อมูลแบบเต็มรูปแบบ (Cross-Platform Ratings) ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2566

สำหรับการสำรวจแบบข้ามแพลตฟอร์ม นีลเส็นจะดำเนินการภายในกรอบระยะเวลา 4 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล อุตสาหกรรม ฯลฯ นำไปใช้ประโยชน์ หลังจากนั้นการใช้ข้อมูลเรทติ้งจะมีการซื้อขายกันตามปกติ