ไทยแกร่ง!ที่อยู่อาศัย-เฮลธ์แอนด์เวลเนสแนะเร่งลดอุปสรรคดึงต่างชาติลงทุน

ไทยแกร่ง!ที่อยู่อาศัย-เฮลธ์แอนด์เวลเนสแนะเร่งลดอุปสรรคดึงต่างชาติลงทุน

ไทยแกร่ง! ที่อยู่อาศัย-เฮลธ์แอนด์เวลเนส ภาคอสังหาฯ-ท่องเที่ยวแนะเร่งรัฐหนุนด้วยการลดอุปสรรค‘ดึงต่างชาติลงทุน’ สร้างโอกาสและความหวังขับเครื่องเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

วานนี้ (24 ส.ค.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงาน “Thailand Focus 2022” ชูศักยภาพเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยแก่ผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลก สร้างโอกาสใหม่เชื่อมโยงการลงทุน ภายใต้แนวคิด “THE NEW HOPE” โดยนำเสนอศักยภาพและความแข็งแกร่งของตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยที่สามารถยืนหยัดและฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับมาเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนทั่วโลก

เวทีเสวนา “Strengthen thailand Investment Opportunities in Strategic industries”  ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ฉายมุมมองว่า จากนโยบายการเปิดประเทศ นักท่องเที่ยว นักลงทุนเริ่มเดินทางได้อีกครั้งหลังหยุดชะงักในช่วงวิกฤติโควิด  กลุ่มนักลงทุนเริ่มกลับมาซื้อ เช่า หรือ ซื้อที่ดินมากขึ้น 

“โควิดเข้ามาดิสรัประบบซัพพลายเชนจากเน้นสต็อกสินค้าและแวร์เฮ้าส์ในประเทศจีน แต่หลังจากจีนปิดประเทศและใช้นโยบายซีโร่-โควิด ทำให้นักลงทุนมองหาฐานการผลิตใหม่จากเดิมอยู่ในจีน ส่งผลต่อดีมานด์พื้นที่คลังสินค้า ธุรกิจคลังสินค้าและโลจิติกส์ในไทยขยายตัวมากขึ้น”

จะเห็นว่า มีผู้ประกอบการหลายรายหันมาลงทุนธุรกิจคลังสินค้าและโลจิติกส์ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในส่วนของธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าของเฟรเซอร์สฯ มีอัตราการเช่ารวมสูงถึง 85% โดยแนวโน้มความต้องการพื้นที่เช่าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากดีมานด์ของผู้เช่าที่อยู่ในกลุ่มโลจิสติกส์ ยานยนต์ และ อิเล็กทรอนิกส์ จากประเทศจีนเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น

ขณะเดียวกันธุรกิจรีเทลขยายไปสู่อีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าไทยเบฟ บิ๊กซี ขยายคลังสินค้ามากขึ้น เพื่อส่งตรงถึงผู้บริโภคได้ด้วยการสต็อกสินค้าอยู่ใกล้ลูกค้ามากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ เฟรเซอร์สฯ มุ่งขยายสู่อุตสาหกรรม “New Economy” มากขึ้น
 

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมีคู่แข่งที่สำคัญอย่าง “เวียดนาม” ที่เข้ามาเป็นทางเลือกให้นักลงทุนต่างชาติ จากจุดเด่นในแง่จำนวนประชากรเวียดนามที่มีจำนวนมากกว่า จำนวนแรงงานมากกว่า ที่สำคัญมีการปรับปรุงวิธีการทางราชการต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้น ขณะที่ระบบราชการไทยยังคงล่าช้า แม้จะเป็นระบบ “วันสต็อปเซอร์วิส” แล้วก็ตาม 

“สิ่งสำคัญที่สุดที่จะดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา ต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน! ด้วยการสร้างคอมมูนิตี้ที่รองรับกับความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่ม New Economy ที่เป็นเป้าหมายหลักของประเทศ”

ท่ามกลางความท้าทาย เฟรเซอร์สฯ มี 3 ธุรกิจที่เป็นจุดแข็ง ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย  อุตสาหกรรรม และพาณิชยกรรม ขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์ “ONE Platform” ในการสร้างการเติบโต

ดังนั้น แม้ต้องเผชิญสถานการณ์โควิด ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงปัจจัยภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่ได้รับผลกระทบไม่รุนแรงมากนัก เพราะสามารถปรับตัวให้เข้ากับภาวะการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง เมื่อดีมานด์ทาวน์เฮ้าส์ลดลง เฟรเซอร์สฯ หันมาพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวเพื่อขยายเซ็กเมนต์ของกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงมากขึ้น!
 

“ออริจิ้น” ชี้ศักยภาพเมืองไทยดึงต่างชาติ

พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวในเวที “Thailand -Destination of Living” ว่า หลังวิกฤติโควิด "ไทย" นับเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการอยู่อาศัย เป็น “บ้านหลังที่สอง” ในสายตาของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะด้าน “เฮลธ์แอนด์เวลเนส” เป็นอันดับ 2 ของโลกทีเดียว 

“ไทยเป็นประเทศที่คนต่างชาตินิยมเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยระยะยาว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต รวมทั้งทำเลในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่เข้ามาลงทุนและทำงาน”

อีอีซี เป็นพื้นที่ภาครัฐเข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด และแหลมฉบัง ถือเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ซึ่งที่ผ่านมา “ออริจิ้น” ได้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรในอีอีซี อาทิ โครงการ ออริจิ้น สมาร์ท ซิตี้ ศรีราชา บิ๊กโปรเจ็กต์ที่ประกอบไปด้วย โครงการเพื่ออยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน โรงแรม และพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับดีมานด์นักลงทุนและแรงงานที่เข้ามาในพื้นที่

สำหรับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการ “รี-โอเพนนิ่ง” ประเทศไทย เป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลมากกว่า! แม้จะมีปัญหาเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นเรื่องที่พอรับได้ ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ 

“เศรษฐกิจไทย รวมทั้งภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤติเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิดมาแล้ว เชื่อว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับยุคก่อนโควิดกลางปี 2566 เร็วกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม”

ท่องเที่ยวฟื้นหนุนธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

ขณะที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญอย่าง “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจต่างๆ ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า นโยบายสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสาธารณสุข หากสามารถรักษามาตรฐานได้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวโดยตรง  ส่งผลนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงไฮซีซันนี้เป็นความหวังของประเทศไทยที่ดีมานด์จะเพิ่มขึ้นและอยู่นานขึ้น 

"เราโฟกัสรายได้ที่เกิดขึ้นมากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไม่กลับมามากมายมหาศาลเหมือนสมัยก่อน ตามเป้าหมายปีนี้รายได้ท่องเที่ยวจะกลับมาอย่างน้อย 50% ปีหน้า 80% และปี 2567 กลับมาที่ 100% แม้จำนวนไม่เหมือนเดิม แต่รายได้เพิ่มขึ้นจากนโยบายดึงนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเข้ามามากขึ้น อยู่นานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น จะส่งผลดีต่อประเทศไทย”