"ค่าเงินบาทอ่อน"เปิดตลาดวันนี้ที่ 36.46บาทต่อดอลลาร์

"ค่าเงินบาทอ่อน"เปิดตลาดวันนี้ที่ 36.46บาทต่อดอลลาร์

"ค่าเงินบาทอ่อน" เปิดตลาดเช้านี้ 36.46 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ผันผวนกรอบกว้าง มีหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน แต่นักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้เร่งรีบเทขายสินทรัพย์ไทย แนวโน้มไม่ทะลุแนวต้านสำคัญ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่าย มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.30-36.55 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เปิดตลาดวันนี้ (31 ส.ค.) "ค่าเงินบาทอ่อน"ค่าที่ระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ36.30-36.55 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้างและยังมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงได้บ้าง หากเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้น

 เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ไกล (อนึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 36.75 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกอาจรอขายเงินดอลลาร์ในโซนแนวต้านดังกล่าว อีกทั้ง ภาวะปิดรับความเสี่ยงในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ก็ไม่ได้กดดันให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยรุนแรง กลับกัน เรายังคงเห็นการทยอยซื้อสุทธิหุ้นไทยในจังหวะย่อตัวอยู่

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในวันนี้ เนื่องจากมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญหลายอย่าง เริ่มจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน ซึ่งหากออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia หรือกดดันให้สกุลเงินฝั่ง EM Asia อ่อนค่า ตามเงินหยวนของจีนได้ ส่วนในช่วงตลาดรับรู้เงินเฟ้อของยูโรโซน เงินบาทก็อาจผันผวนตามเงินดอลลาร์ ที่อาจเผชิญแรงกดดันจากเงินยูโรได้ หากผู้เล่นในตลาดเริ่มมั่นใจแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ ECB

อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงและมีหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) รวมถึงยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ต่างออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ กังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยและยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงที่อ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย/บอนด์ยีลด์ อย่าง หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Tesla -2.5%, Apple -1.5%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงแรงของหุ้นกลุ่มพลังงาน(Exxon Mobil -3.8%, Chevron -2.4%) หลังราคาน้ำมันดิบดิ่งลงหนักจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลง หากบรรดาธนาคารกลางต่างเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงความกังวลแนวโน้มการกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันจากฝั่งอิหร่านและเวเนซุเอลา ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -1.12% ส่วนดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปิดตลาด -1.10%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า -0.67% ท่ามกลางแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies -3.6%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มเทคฯ (ASML -2.6%) หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเศรษฐกิจหลักในยุโรป อาทิ เยอรมนีและสเปนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.75% ได้ในการประชุมเดือนกันยายน เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

  ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 108.75 จุด หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจจำเป็นต้องเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะที่ตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ถูกชะลอลงด้วยการกลับมาแข็งค่าขึ้นเหนือระดับ 1.00 ดอลลาร์ ของเงินยูโร (EUR) หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ECB อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทั้งนี้ แม้ตลาดจะปิดรับความเสี่ยง แต่แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,735 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งอาจเป็นโซนแนวรับที่ผู้เล่นบางส่วนจะเริ่มกลับมาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Official Manufacturing & Non-Manufacturing PMIs) ในเดือนสิงหาคม โดยตลาดประเมินว่า สารพัดปัญหาที่รุมเร้าการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน อาทิ ปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ วิกฤติภัยแล้ง รวมถึงการระบาดของCOVID-19 จะกดดันให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนอาจหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 48.6 จุด ส่วนภาคการบริการก็อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง หลังการระบาดของCOVID-19 นั้นเกิดขึ้นในหลายเมืองท่องเที่ยว โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจลดลงสู่ระดับ 52.6 จุด

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซนอาจพุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 9.0% ในเดือนสิงหาคมและอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายนได้

และในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งมักเคลื่อนไหวสอดคล้องกับ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะประกาศในวันศุกร์นี้โดยหากยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2 แสนรายไปมาก อาจยิ่งทำให้ตลาดมั่นใจการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ตามภาพตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง

นอกจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด