โบรกเกอร์ชี้ แบงก์ยังขยับขึ้น ดอกเบี้ยไม่ได้ ระวัง หุ้นแบงก์ใหญ่ โดนแรงขาย sell on fect

โบรกเกอร์ชี้ แบงก์ยังขยับขึ้น ดอกเบี้ยไม่ได้  ระวัง หุ้นแบงก์ใหญ่ โดนแรงขาย sell on fect

โบรกเกอร์ ชี้ดัชนีหุ้นไทยปรับฐานปกติ เหตุ sell on fact "กลุ่มแบงก์ใหญ่" หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด 0.25% “บล.เอเซีย พลัส” ประเมินท่าทีแบงก์พาณิชย์ขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ - เงินฝากได้ช้า รอ ก.ย. นี้ "บล.กสิกรไทย" คาดขึ้น ม.ค.ปี 66 เนื่องจากช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มอ่อนแอ 

ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 : 1 เสียง โหวตขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 0.75% ทันที ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ ปรับตัวลง 0.79%  และหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลง 2.24%  จากแรงขาย sell on fact หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ยตามที่คาด

โดยหุ้นแบงก์ ปรับตัวลง นำโดย  SCB ลดลง 2 บาท KBANK ลดลง 0.50 บาท และ BAY ลดลง 0.25 บาท  ขณะที่หุ้นนอนแบงก์ ปรับตัวลง  นำโดย MTC ลดลง 6.86 บาท  SAWAD ลดลง 3.76 บาท และ TIDLOD ลดลง 2.46 บาท  

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ดัชนีปรับตัวลงในระดับนี้มองเป็นการปรับฐานปกติ จากในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ดัชนีปรับขึ้นไปมากกว่าพื้นฐานถึง 100 จุด แล้วและยังไร้ปัจจัยใหม่หนุน  

ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. แม้เป็นบวกต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่ก็เป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ และโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากได้  มองว่า น่าจะรอไปจนถึงเดือนก.ย. ถึงจะขยับขึ้นได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับต้นทุน และภาระช่วยเหลือลูกหนี้ของแต่ละแบงก์ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้มากน้อยแค่ไหน 

ดังนั้น ในช่วงระยะสั้นนี้ ยังมีแรงขาย sell on fact หุ้นกลุ่มแบงก์พาณิชย์ต่อได้ เรามองว่าช่วงที่ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์พาณิชย์ย่อตัวเป็นโอกาสทยอยเข้าสะสม  เช่น KBANK และ KTB  

นายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ใน 1 สัปดาห์หลังจากนี้ ยังต้องจับตาท่าทีแบงก์พาณิชย์ว่า จะสามารถขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่ หากแบงก์พาณิชย์ยังไม่ขยับดอกเบี้ยขี้นได้ อาจเป็นสัญญาณ sell on fact กลุ่มธนาคารใหญ่ในระยะสั้น ยังไม่แนะนำ แต่นักวิเคราะห์ยังมองเป็นกลางต่อหุ้นกลุ่มแบงก์พาณิชย์อยู่ 

โดยให้น้ำหนักมากที่สุด ธนาคารพาณิชย์ยังไม่สามารถขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้เลย และไปขึ้นพร้อมกับที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สั่งให้สถาบันการเงินกลับมานำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในอัตราเดิม 0.46%  ช่วงเดือนม.ค.2566 

ทั้งนี้ ประเมินว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่เงินฝากล้นระบบกว่า 1 ล้านล้านบาท เทียบกับก่อนโควิดในระดับต่ำกว่า 400,00 ล้านบาท ยังไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากเช่นกัน 

 "แม้ปรับดอกเบี้ยกู้ไม่ได้แต่ธนาคารพาณิชย์จะพยายามรักษา NIM ไว้โดยไม่ปรับดอกเบี้ยเงินฝากเช่นกัน และยังความกังวลเรื่องการตั้งสำรองฯ และหนี้เสียที่สูงขึ้นด้วย" 

 

    

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์