สื่อสารแข่งเดือดต่อเนื่อง ADVANC รุกหนักปัดรั้งเบอร์ 2

สื่อสารแข่งเดือดต่อเนื่อง   ADVANC รุกหนักปัดรั้งเบอร์ 2

นับตั้งแต่เกิดดีลใหญ่ในกลุ่มโอปอเรทเตอร์ระหว่าง TRUE – DTAC ทำให้อุณหภูมิในธุรกิจกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง และคราวนี้ยังมาพร้อมกับการขยับในอุตสาหกรรมเมื่อเบอร์ 1 ในตลาดอย่าง ADVANC ต้องเข้าสู่การแข่งขันที่ดุเดือดเช่นกัน

         ดีลดังกล่าวส่งผลทำให้ผู้เล่นในตลาดที่เป็นรายใหญ่อยู่แล้ว 3 รายลดลงเหลือ  2 ราย    แม้จะทำให้เป็นผลดีต่อตลาดเพราะไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนใหญ่เพื่อแข่งขัน  สามารถลดต้นทุนการตลาดลงไปได้แต่ความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงการธุรกิจย่อมเกิดขึ้น   

            ดังนั้นสถานการณ์ที่ ADVANC เผชิญอยู่จึงจำเป็นต้อง “ขยับ” ครั้งใหญ่หลังจากเป็นยักษ์หลับมานานเมื่อมีการเปลี่ยนมือจากกลุ่ม  “ชินวัตร” มาสู่ “สิงห์เทล” และล่าสุด กลุ่ม  “GULF”  ด้วยการยื่นคัดค้านการควบรวมกิจการในครั้งนี้ผ่านจดหมายเปิดผนึก

         โดยระบุไปที่การทำหน้าที่ของ กสทช. ที่พึ่งกระทำได้และสภาพการแข่งขันจากดัชนีการแข่งขัน (HHI) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 รายเมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 กระจุกตัวในอัตราที่สูงมากอยู่แล้ว

        ดังนั้นหากให้ควบธุรกิจจะยิ่งทำให้บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 53.4% เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการแข่งขัน และเข้าข่ายเป็นการครอบงำตลาด

         ถัดมาเริ่มมีกระแสข่าวการลงมาทำการตลาดด้วย กลยุทธ์ราคา ของ ADVANC ในกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินที่มาพร้อมดึงราคาลง และแพ็กเกจดาต้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา  ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติเพราะที่ผ่านมาจะเกิดจากผู้เล่นอันดับ 2 อย่าง TRUE ที่มักจะเปิดสงครามราคาก่อนใครเพื่อดึงฐานลูกค้าในช่วงดังกล่าว

          จากประเด็นดังกล่าวทำให้ตัวเลขช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ประกาศออกมาเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนแม้ว่ารายได้เปลี่ยนเล็กน้อย  แต่กำไร 6,305  ล้านบาท ปรับลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ยิ่งตัวเลข  ARPU  ยังคงลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรง และการเลือกแพ็กเกจที่มีราคาต่ำลง

             ARPU ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบรายเดือนอยู่ที่  460 บาทต่อหมายเลขต่อเดือน จาก 471 บาทในไตรมาส 2 ปี 2564  และระบบเติมเงิน  127 บาทต่อหมายเลขต่อเดือน จาก 142 บาทต่อหมายเลขต่อเดือนในไตรมาส 2 ปี 2565

            สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการขาย และการบริหารในงวดดังกล่าวอยู่ที่ 5,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น  2.8%  จากไตรมาสก่อน เนื่องจากกิจกรรมการตลาดที่เพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายการตลาด อยู่ที่ 1,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

            โดยมีทั้งกิจกรรมการตลาด และการเปิดตัวแคมเปญต่างๆ เพื่อขับเคลื่อน 5G และขยายฐานลูกค้าหลังจากที่ภาคเศรษฐกิจเริ่มกลับมาได้อีกครั้ง ทั้งนี้การใช้จ่ายทางการตลาดของปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับที่ต่ำมาจากมาตรการ การปิดเมืองจากภาวะโควิด-19

          และที่สร้าง “เซอร์ไพรส์”  การปิดดีลซื้อ TTTBB และ JASIF  ของกลุ่ม จัสมิน  รวม 32,420 ล้านบาท จากมีกระแสข่าวมานานข้ามปีจนมาสู่การประกาศเข้าซื้อหุ้นช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งพุ่งตรงไปที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนรด์ ที่ยังรั้งท้ายมาร์เก็ตแชร์ในตลาด มีผู้นำคือ TRUE

            ดีลดังกล่าวก็ไม่ง่ายเพราะยังต้อง ฝ่าด่านผู้ถือหน่วย JASIF เพื่ออนุมัติเข้าทำรายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อยเกือบ 80%  ด้วยเงื่อนไขที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนสัญญาการเช่าที่ตั้งไว้สูงเกินกว่ารายได้จริงจนเป็นภาระในการต้องหาเงินมาจ่ายปันผลที่เคยได้ในช่วง 3 ปีหลังถึง 10% เป็นการการันตีสัญญาเช่าปี 2580 สิ้นสุด 2575  เพื่อรักษาจ่ายเงินปันผลที่ 7%  แทน จะมีการประชุมผู้ถือหน่วยวันที่ 22 ก.ย. นี้

                จากมุมมองของ ADVANC ในช่วงที่เหลือของปีด้วยการปรับลดตัว “ลง” สะท้อนได้ถึงการแข่งขันที่ยังดีกรีร้อนแรงแบบไม่แผ่วต่อไป   ทั้งการปรับรายได้จากการให้บริการหลักจะเติบโตในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ จากเดิมเติบโตในอัตราเลขตัวเดียวระดับกลาง  , กำไร EBITDA คงที่ถึงลดลงเล็กน้อย จากเดิมเติบโตในอัตราตัวเลขตัวเดียวระดับต่ำ

            และธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะแรงกดดันจากตัวเลขเงินเฟ้อ   ผู้บริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้เปลี่ยนไปใช้แพ็กเกจที่ถูกลง  และเป้าหมายของ ADVANC  จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในเชิงรายได้จากการเป็นผู้นำ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์