ถอดสูตรซีอีโอ ‘เงินติดล้อ’ สู่ความสำเร็จ ‘ไมโครไฟแนนซ์’

ถอดสูตรซีอีโอ ‘เงินติดล้อ’ สู่ความสำเร็จ ‘ไมโครไฟแนนซ์’

รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับซีอีโอ ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ผู้ที่เคยถูกขนานนามว่า “เอ็มดีอายุน้อยที่สุดในวงการไฟแนนซ์”

ที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง “ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์” ในแบบฉบับเงินติดล้อจนสำเร็จ ปัจจุบันเป็นรู้จักในระดับประเทศ และจะก้าวต่อไปในโลกความเป็นจริง คู่ขนานกับโลกเสมือนจริง 

“ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR กับสมญานามที่วงการไฟแนนซ์ยกให้เมื่อ 8 ปีก่อนคือ เอ็มดีอายุน้อยสุดของวงการด้วยวัย 32 ปี และภารกิจสำคัญในวัย 39 ปี นำพาองค์กรแห่งนี้ติดป้าย “มหาชน” ภายหลังนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อ 10 พ.ค.2564 สำเร็จ   

ถอดสูตรซีอีโอ ‘เงินติดล้อ’ สู่ความสำเร็จ ‘ไมโครไฟแนนซ์’

 

 

 

ย้อนวัยเยาว์เขาเติบโตในสหรัฐ เรียกว่าเป็น “เด็กสหรัฐ” ที่ครอบครัวเป็นชนชั้นกลางที่นั้น ทำธุรกิจร้านอาหารไทย แม้ใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนแต่ความใกล้ชิดแบบวิถีครอบครัวคนไทยแท้ โดยเรียนจนจบไฮสคูลจึงกลับมาต่อปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีภาคอินเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

ด้วยประสบการณ์การทำงานเริ่มต้นในธุรกิจการเงินชั้นนำที่ “บอสตัน คอนเซาท์ติ้ง กรุ๊ป” เป็นจุดที่เขาเริ่มศึกษาธุรกิจไมโครไฟแนนซ์อย่างจริงจัง

 

ต่อมาเมื่อปี 2551 เป็นก้าวแรกเข้าสู่ “เงินติดล้อ” ในฐานะผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาด ในวัยเพียง 26 ปี จากตอนนั้นที่เป็นเพียงธุรกิจไฟแนนซ์ห้องแถว ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก ทว่าผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่มากับ Passion และเต็มที่กับทุกเรื่องที่ทำ         

 ช่วงเวลา 5 ปีหลังจากนั้น เขาสามารถก้าวสู่บทบาทเอ็มดีอายุน้อยที่สุดในวงการไฟแนนซ์ไทย และเดินหน้าสร้างแบรนด์เงินติดล้อให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ และในระยะเวลาอันรวดเร็วปี 2564 ที่ผ่านมา เขาก็สามารถผลักดัน “เงินติดล้อ” เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จตามเป้าหมาย

ถึงแม้ว่า “ชีวิตในวัยเด็ก” ของ “ปิยะศักดิ์” จะเป็นเด็กที่แพ้ทุกอย่างรอบตัว ทั้งแพ้เกษรดอกไม้ แพ้แดด แพ้ไปหมด แถมเป็นเด็กขี้เกียจอีกด้วย แต่สิ่งที่เรียกว่า “ฮาร์ดเวิร์ค” ที่ทำให้เขาเอาชนะจนสำเร็จมาได้จนถึงทุกวันนี้ และเติบโตในวงการไฟแนนซ์ได้เร็วกว่าคนอื่น

“จะช้าหรือเร็ว บางทีอยู่ที่จังหวะเวลา แต่เราคิดต่าง และโชคดี เราศึกษาจากต่างประเทศ และให้ความสำคัญ กับธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ แต่ตอนนั้น 20 ปีก่อนในไทย ไม่มีธุรกิจนี้ ไม่มีใครสนใจ และเรายังสัมผัสได้ว่า สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ ชนชั้นกลางจะมีโอกาสเติบโตขึ้นได้ นั่นก็คือ สินเชื่อซึ่งต้องปรับองค์ความรู้จากต่างประเทศที่เรามี ให้เข้ากับวัฒนธรรมสไตล์ของคนไทย” 

“ไมโครไฟแนนซ์” สไตล์ “เงินติดล้อ” 

“ปิยะศักดิ์” ยังได้ฉายภาพธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในแบบฉบับของ “เงินติดล้อ” ให้ชัดเจนขึ้นว่าในต่างประเทศพบว่าการปล่อยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์เป็นแบบไม่มีหลักประกัน หลักคิดเขาง่ายมากคือ คนต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน คนไม่สนใจ ดอกเบี้ยเท่าไร แต่สนใจ ค่างวด ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ เพราะคนที่มีอาชีพอิสระ รายได้ไม่สม่ำเสมอ ต้องมั่นใจว่ามีความสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ ซึ่งเราพบว่า สัดส่วน 99.9% เป็น “คนดีอยากผ่อนสินเชื่อ”

ขณะเดียวกันตามสไตล์ของคนไทย “รักทรัพย์สิน” และประเทศไทย มีกฎระเบียบที่ค่อนข้างชัดเจนในการซื้อขายรถ จึงทำให้เราได้ตกผลึกกลายมาเป็น “สินเชื่อจำนำทะเบียน

 แต่สิ่งที่เรายังต้องการมากกว่านั้นคือ ต้องให้ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ต้องแตกต่างจากการผลิตภัณฑ์เงินทั่วไป” ดังนั้น นอกจากเราทำธุรกิจได้ดอกเบี้ย และกำไรแล้ว สิ่งที่เราคาดหวังอีกอย่างคือ “ไมโครไฟแนนซ์ จะสร้างโอกาสทำให้คุณภาพชีวิตของลูกค้าดีขึ้นด้วย”

ความสำเร็จวันนี้ “คุณภาพคน-องค์กรเทคโนโลยี”

“ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์” เดิมเป็นธุรกิจค่อนข้างโบราณ เน้นขยายสาขา และมีพนักงานจำนวนมาก แต่โจทย์สำคัญของการขับเคลื่อน  “ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์” คือ “ดิจิทัล” เพราะว่า "เทคโนโลยีคือ สิ่งเดียวที่ทำให้ต้นทุนถูก และองค์กรยั่งยืน” และการสร้างองค์กรให้ยั่งยืนในระยะยาวคือ “ต้องสร้างสาขาที่มีเทคโนโลยี”    

“ปิยะศักดิ์” กล่าวว่า เราอยู่ในอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันสูง เราเรียนรู้สิ่งที่เราเก่ง และไม่เก่ง ทุกเรื่องเราเรียนรู้จากคู่แข่งได้ เรามีกว่า 1,000 สาขา และยังคงให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าการเร่งเปิดสาขา และจุดนี้ทำให้เราเติบโตได้ไม่ทันคู่แข่งทำให้เราต้องคิดใหม่ทำใหม่  "เพื่อให้ใหญ่กว่าคู่แข่ง มีคุณภาพที่สูงกว่าต่อสาขา ในจำนวนสาขาที่น้อยกว่า" มองสิ่งที่เราเก่งคือ “เทคโนโลยี” การบริหารเสี่ยง การใช้ข้อมูล ด้วยประสบการณ์ที่เราเคยเป็นลูกของแบงก์กรุงศรีฯ เต็มตัวมาก่อน  

และด้วยเหตุผลที่ “เงินติดล้อ” ปล่อยวงเงินสินเชื่อมูลค่าน้อยที่สุดคือ 4,000 บาท ซึ่งยังไม่มีธนาคารไหนที่ปล่อยวงเงินสินเชื่อในระดับนี้ และการที่จะปล่อยวงเงิน 4,000 บาทได้ จะต้องมีต้นทุนต่ำมากๆ และการที่จะทำให้ต้นทุนต่ำมากที่สุด และธุรกิจยั่งยืนได้จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องอาศัย “เทคโนโลยี” เพื่อให้มาช่วยปล่อย “สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์” ให้กับคนรากหญ้า 

ฉะนั้น ถ้าเราลงทุนระบบดิจิทัลเป็นสิบๆ ล้านบาท แต่ทำให้ระบบนั้น ทำให้เราปล่อยวงเงินระดับ 4,000 บาท ได้เป็นหลายล้านทรานเซ็คชั่น แน่นอนว่าเราก็โอเค

"เรากำลังพัฒนาคนที่สาขาของเราให้เป็นไอรอนแมนคือ พัฒนาให้เป็นคนที่เก่งเหมือนกันโดยมีเครื่องมือช่วย เป็นแนวคิดสร้างองค์กรที่แตกต่าง" 

เมื่อไม่มีองค์กรไหนหลบพ้น ทุกองค์กรต้องนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ สุดท้ายสะท้อนเป็นตัวเลข ปัจจุบัน “เงินติดล้อ” มีเม็ดเงินลูกหนี้เฉลี่ยต่อสาขาเรามากกว่าคู่แข่ง 3-4 เท่า และยอดขายเบี้ยประกันในหนึ่งสาขามากกว่าคู่แข่งถึง 10 เท่า

ขณะเดียวยังต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรใหม่อย่างต่อเนื่อง “ปิยะศักดิ์” เล่าต่อว่า เรามุ่งสร้างองค์กรแบบวินวิน (win-win) ระหว่างเรากับทีมงานกับลูกค้า ด้วยเสน่ห์ของวัฒนธรรมคนไทย ถ้าองค์กรให้ทีมงานก่อน และได้ใจทีมงาน มีความผูกพัน มีความเชื่อในงานที่ทำ เงินเดือนอยู่ในเกณฑ์แข่งขันได้ จะพบว่า คนในองค์กรจะปล่อยพลังงานมหัศจรรย์ มากกว่าที่องค์กรคาดคิด “เมื่อทีมงานผูกพัน และเชื่อกับงาน รู้สึกปลอดภัย เขาจะกล้าคิด กล้าลอง กล้าตัดสินใจ ทำองค์กรและลูกค้าเอง” 

และสไตล์ส่วนตัวจะไม่ชอบใส่สูทและผูกเน็กไท จึงทำให้ได้เริ่มทดลองการสร้างบรรยากาศการทำงานที่สำนักงานใหญ่ เพื่อให้เป็นบรรยากาศเป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยเมื่อทีมงานได้ Relex มากขึ้น ก็สามารถช่วยผลักดัน ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ (Creativity) ได้ด้วยเช่นกัน  ซึ่งมีหลายคนบอกว่า “เราเหมือน เทคคอมพานี” 

แม้จะเป็นองค์กรเทคฯ แล้ว ต้องไม่ลืมทำสิ่งนี้ “ปิยะศักดิ์” บอกว่า สิ่งที่เขายังทำเป็นกิจวัตรอยู่เสมอคือ เขาและทีมผู้บริหารทุกคน ยังต้องลงพื้นที่เพราะ “ตัวเลขเป็นตัวบ่งบอกถึงปัญหา แต่การลงหน้าทำให้เจอต้นตอปัญหาและวิธีการแก้ปัญหา” เขายังวางเป้าหมายลงพื้นที่เยี่ยมทุกสาขา อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งต่อปีต่อสาขา 

ขณะเดียวกันจะเห็นว่า “ปิยะศักดิ์” มักมีหนังสือติดตัวตลอดเวลา เขาบอกว่าไม่ได้ชอบอ่านหนังสือ แต่ที่อ่านเพราะมีความกลัวโดยธรรมชาติว่าจะตามโลกไม่ทัน “มีสิ่งที่เราควรรู้ แต่เราไม่รู้ ดีที่สุดคือ การอ่านหนังสือ" อย่างน้อยต้องอ่านหนังสือเดือนละ 1 เล่ม ปีที่เคยอ่านมากที่สุด 20 กว่าเล่ม และปีที่เคยอ่านน้อยที่สุด 10 กว่าเล่ม

Next Step สู่การปักธงต่างประเทศ และการเข้าสู่โลกเสมือนจริง 

จากความสำเร็จวันนี้ของ “เงินติดล้อ” หลังจากนี้จะมีโรดแมปต่อไปอย่างไรนั้น “ปิยะศักดิ์”  มี 3 ธงในใจ ธงแรกตอนนี้เขาไปถึงเป้าหมายปลายทางแล้ว แต่เขากำลังย้อนกลับมาหาโอกาส บนเส้นทางที่เขาเคยไป แต่ยังไม่ได้ไป เพราะการเดินทางของความสำเร็จที่ผ่านมา เราแตกต่างจากคนอื่น เรียกว่า Fast Track เหมือนขึ้นเครื่องบิน โฟกัสที่เป้าหมายใหญ่ ไม่เคยบินนอกเส้นทาง ไม่เคยแวะพักระหว่างเส้นทาง แต่เรายังเห็นโอกาสในระหว่างทางที่เราไม่เคยไป 

และทุกวันนี้ เงินติดล้อ มีคนบินมาเยี่ยมเรา จากทั่วอาเซียน ยุโรป สหรัฐ มาเรียนรู้ ทำให้เขามองเห็นการขยายโอกาสเติบโตในต่างประเทศ นี่คือ อีกธงของปิยะศักดิ์ ที่บอกว่า ต้องการนำธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ ฉบับเงินติดล้อไปประยุกต์ใช้ ปักธงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ด้วยความหวังสิ่งที่ “เงินติดล้อ” อยากทำคือ การสร้างอิมแพ็ค และช่วยเหลือคนให้มากที่สุด"

ส่วนธงสุดท้ายคือ “การปักธงในโลกเมตาเวิร์ส หรือโลกเสมือนจริง” กำล้งศึกษาว่าจะมาดิสรัปธุรกิจนี้หรือได้หรือไม่ และพร้อมจะลงทุนหาเป็นโอกาสใหม่ โดยมองว่าเมตาเวิร์สเป็นอีกช่องทางที่จะสร้างโอกาสใหม่ สำหรับธุรกรรมหลายๆ อย่างรวมถึง “ธุรกรรมทางการเงิน” สามารถเกิดขึ้นในโลกเสมือนจริงเช่นกัน 

“ทุกวันนี้ในการทำธุรกรรมของคน มีบางคนที่อาจไม่ชอบทำธุรกรรมผ่านมือถือ แต่หากใครมีดีไวท์อยู่ ก็สามารถนำพาคนกลุ่มนั้นเข้ามาอยู่บนเมตาเวิร์ส ที่พูดคุยกัน และดูแลกันได้ มีการจับต้องมากกว่าที่จะนั่งจับจอแบนๆ”

เชื่อมั่นว่า หากใครได้ลองสัมผัสในโลกเมตาเวิร์สสักครั้งหนึ่งแล้วมุมมองจะเปลี่ยนแน่นอน  เพราะขนาดเขาเองเมื่อมองย้อนกลับมาพบว่า “ธุรกิจเงินติดล้อที่มีอยู่กว่า 1,000 สาขา ตอนนี้ เราอาจเป็นสาขาที่ 0 อยู่ในเมตาเวิร์สก็ได้"

เป็นที่น่าจับตาปลายทาง อีกก้าวต่อความสำเร็จ “เงินติดล้อ” บนเส้นทางสุดท้าย ทั้งออกไปสร้างอิมแพคกับคนทั่วโลก และขยายอาณาจักรในโลกเมตาเวิร์ส ที่กำลังเริ่มขึ้นต่อไป

สามารถรับชม รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของกรุงเทพธุรกิจ ได้ทางเฟซบุ๊ก และ ยูทูบ  

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์