บจ.ไทยแห่ขุดบิตคอยน์ “โอกาส” หรือ “ความเสี่ยง”?

บจ.ไทยแห่ขุดบิตคอยน์ “โอกาส” หรือ “ความเสี่ยง”?

บริษัทจดทะเบียนไทยแห่ลงทุน “ขุดบิตคอยน์” กันอย่างคึกคัก หวังเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ รับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่เวลานี้กำลังบูมสุดๆ แถมผลตอบแทนดูเย้ายวนเหลือเกิน จึงไม่แปลกที่จะเห็นผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ พาเหรดลงสนามกันเพียบ

โดยตลอดช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง แต่ก็มาพร้อมกับความผันผวน เรียกว่า “ขึ้นสุด-ลงสุด” จากระดับ 14,156 ดอลลาร์ เมื่อสิ้นปี 2560 ค่อยๆ ปรับฐานลงมาต่ำกว่า 4,000 ดอลลาร์ ในปลายปี 2561 จากนั้นตลาดเริ่มทรงๆ แกว่งตัวในกรอบแคบๆ

ก่อนเข้าสู่ขาขึ้นรอบใหม่ช่วงปลายปี 2563 โดยขึ้นไปทำออลไทม์ไฮ 66,971 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 ขณะที่ปัจจุบันราคาดิ่งลงมาเท่าตัวจากจุดสูงสุด ถูกกดดันหลังธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุล เป็นการดึงสภาพคล่องออกจากระบบการเงิน

แม้ตลาดคริปโทฯ จะผันผวนสูง แต่หลายบริษัทไม่หวั่น ขอวัดใจเข้าลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล มีตั้งแต่ทำแพลตฟอร์ม เป็นนายหน้าซื้อขาย ที่ปรึกษาการลงทุน ไปจนถึงเข้าลงทุนซื้อเหรียญ และอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังได้รับความสนใจ คือ การทำเหมืองขุดบิตคอยน์

บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS น่าจะเป็นบริษัทแรกๆ ที่เริ่มทำธุรกิจขุดบิตคอยน์ โดยลงทุนผ่านบริษัทย่อย บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด ซึ่งปีนี้ทุ่มเงินลงทุนอีก 3.3 พันล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์เพิ่ม 6,300 เครื่อง

ส่วนบริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA ประกาศรุกธุรกิจดิจิทัลเทคโนโลยีและฟินเทคเต็มรูปแบบ โดยไตรมาส 1 ที่ผ่านมา รับรู้รายได้จากการทำเหมืองขุดบิตคอยน์เต็มไตรมาส ด้วยจำนวนเครื่องที่มีอยู่ 400 เครื่อง

ด้านบอร์ดบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA เพิ่งอนุมัติเข้าลงทุนในเหมืองบิตคอยน์เพิ่มอีก 140 ล้านบาท โดยบริษัทวางแผนซื้อเครื่องขุดเพิ่ม 300 เครื่อง ภายในไตรมาส 2 นี้ ขณะที่บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA จับมือพันธมิตรเข้าลงทุนเหมืองบิตคอยน์ใน สปป.ลาว ล่าสุดคณะกรรมการบริษัทไฟเขียวเพิ่มเงินลงทุนอีก 820 ล้านบาท เพื่อติดตั้งเครื่องขุด 6,000 เครื่อง

บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT จับมือพันธมิตรนำพลังงานไฟฟ้าที่เหลือใช้จากโรงไฟฟ้าของบริษัทลูกมาสร้างเหมืองขุดบิตคอยน์ “Green Bitcoin Mining”

บจ.ไทยแห่ขุดบิตคอยน์ “โอกาส” หรือ “ความเสี่ยง”?

ส่วนบอร์ดบริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI ไฟเขียวทุ่มงบ 140 ล้านบาท ซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์ 195 เครื่อง และตู้คอนเทนเนอร์สำหรับเครื่องขุด 1 ตู้ พร้อมระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ โดยจะทยอยซื้อและติดตั้งให้เสร็จในไตรมาส 3 นี้

บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF ขอกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ หันมาลงทุนเหมืองขุดเงินดิจิทัล ภายใต้งบลงทุน 80 ล้านบาท ส่วนบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF จับมือ บริษัท บี จิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ B ทุ่มงบ 700 ล้านบาท ทำเครื่องขุดบิตคอยน์ 2,200 เครื่อง สามารถขุดบิตคอยน์ได้ 50-55 BTC ต่อเดือน

ขณะที่บริษัท โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ COMAN ทุ่ม 60 ล้านบาท ตั้งบริษัท “โคแมน คริปโต” ทำธุรกิจขุดคริปโทเคอร์เรนซี โดยจะว่าจ้างบริษัทอื่นเพื่อใช้สถานที่และดูแลเครื่องขุดคริปโทเคอร์เรนซี (RIG) จำนวน 140 RIG

และรายล่าสุด บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT ประกาศลงทุนเหมืองขุดบิตคอยน์ 150 ล้านบาท โดยเฟสแรกจะเริ่มซื้อเครื่องขุด 200 เครื่อง มูลค่า 40 ล้านบาท ก่อนที่จะทยอยลงทุนเป็นระยะๆ โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากการที่บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องขุดบิตคอยน์

แม้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคริปโทฯ จะมาแรง แต่การที่ตลาดผันผวนหนัก ทำให้การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง ยิ่งปีนี้บรรดากูรูส่วนใหญ่ฟันธงแล้วว่า ตลาดคงไม่ร้อนแรงเท่ากับปีที่ผ่านมา ด้วยแรงกดดันจากดอกเบี้ยขาขึ้น และมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดของประเทศต่างๆ ดังนั้น การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ควรต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ