10 มาตรการ 3 เดือน 7 หมื่นล้าน "แก้ของแพง"

10 มาตรการ 3 เดือน 7 หมื่นล้าน "แก้ของแพง"

นายกรัฐมนตรี แถลงว่าจะใช้ 10 มาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้มีรายได้น้อยกว่า 40 ล้านคน ขณะที่งบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้มีรายได้น้อยในครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท รัฐบาลจะสามารถนำงบประมาณที่มีอยู่มาใช้ได้หรือไม่ ต้องจัดสรรให้ดี

ราคาพลังงานที่สูงขึ้นเป็นผลกระทบหลังจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งวันนี้ (24 มี.ค) สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) จะหารือมาตรการคว่ำบาตรการรับซื้อพลังงานจากรัสเซียที่เป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ป้อนยุโรป จากที่ก่อนหน้าที่ตัดรัสเซียออกจากระบบการเชื่อมต่อเครือข่ายการชำระเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) ไม่ให้ทำธุรกรรมการเงินกับโลกได้ ซึ่งต้องจับตาต่อไปว่าการหารือจะออกมาแนวทางใด ซึ่งประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฝรั่งเศส ได้เตรียมมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน การลดภาษีพลังงานและการจัดหาพลังงานภายในประเทศแล้ว

ในส่วนของประเทศไทย "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี แถลงว่าจะใช้ 10 มาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้มีรายได้น้อยกว่า 40 ล้านคน กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้มและอุดหนุนการซื้อน้ำมันเบนซินสำหรับจักรยานยนต์รับจ้าง ขณะที่ประชาชนทั่วไปจะลดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 ตรึงราคาดีเซลลิตรละ 30 บาทถึงเดือน เม.ย.2565 และหลังจากนั้นจะอุดหนุนเฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นเพียงครึ่งเดียว จะใช้วงเงินไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 9 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาปุ๋ยขาด และราคาแพง อีก 20,000 ล้านบาท

ว่ากันว่างบประมาณที่จะนำมาใช้ในครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นที่เหลือ 60,000 ล้านบาท ซึ่งต้องกันไว้สำหรับภัยพิบัติฉุกเฉิน เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ที่ใช้ปีละ 20,000-30,000 ล้านบาท

ในขณะที่งบประมาณจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2565 ที่เหลือ 70,000 ล้านบาท จำกัดเฉพาะผลกระทบโควิด-19

ขณะที่งบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้มีรายได้น้อยในครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท รัฐบาลจะสามารถนำงบประมาณที่มีอยู่มาใช้ได้หรือไม่ และในกรณีที่งบประมาณที่มีอยู่ไม่มากพอจะมีช่องทางระดมเงินมาจากไหน จะมีการออกพ.ร.ก.เงินกู้อีกหรือไม่ และในอนาคตอันใกล้จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้ประมาณทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากใช้งบประมาณแล้วต้องมีช่องทางในการหารายได้ ดังนั้นทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานนอกจากจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนแล้ว ยังต้องเพิ่มมาตรการและแผนฟื้นฟูระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวควบคู่ไปด้วย เพื่อขับเคลื่อนประเทศในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ “โรคโควิด 19” จะเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคประจำถิ่น