1 ปี 9 เดือน ท่ามกลางโควิด-19 ‘แบงก์’ ปิดไปแล้วกี่สาขา?

1 ปี 9 เดือน ท่ามกลางโควิด-19 ‘แบงก์’ ปิดไปแล้วกี่สาขา?

เปิดสถิติสาขาและจุดให้บริการธนาคารพาณิชย์ในประเทศ พบว่า ช่วง 1ปี 9เดือน ท่ามกลางการเกิดโควิด-19 สาขาแบงก์ปรับลดลงต่อเนื่อง ทั้งระบบลดลง 660 สาขา หากดูเฉพาะ 13 ธนาคารใหญ่ พบไทยพาณิชย์ลดลงมากสุดเฉียด 200 สาขา ถัดมากรุงไทย 79สาขา และกรุงศรีฯ 36 สาขา

    “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น”ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาในเร็ววันนี้ แต่เกิดขึ้นมาได้ 2-3ปีก่อนหน้านี้แล้ว แต่การเกิด “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ไม่ได้รุนแรงมากนัก มีเพียงบางอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ปรับตัว เพื่อรองรับทิศทางนี้ โดยเฉพาะ “ธนาคาร”ที่เริ่มเห็นการปรับองคาพยพให้เห็นมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่นการปรับการดำเนินธุรกิจ ปรับลดสาขา เพื่อหันโฟกัสไปสู่ “ดิจิทัล”มากขึ้น เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไปใช้ดิจิทัลในอนาคต แต่ก็ไม่ได้รุนแรงมากนัก 
    แต่ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ถือว่าเป็นตัวเร่งชั้นดี ทำให้เกิดกระแส “ดิจิทัลดิสรัปชั่น”รุนแรงมากขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่ดิจิทัล ทำให้ “ธุรกรรมการเงิน” ผ่านดิจิทัล เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด หากเทียบกับการเดินเข้าสาขาเพื่อทำธุรกรรมการเงินแบบเดิมๆ
    ในช่วงที่ผ่านมาเราพบว่า ภาค “ธนาคาร”ยังคงเดินหน้า ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับทัพไปสู่ดิจิทัลอย่างชัดเจน ทั้งการหันไปปรับปรุงโมบายแบงกิ้ง ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น รวดเร็ว สะดวกมากขึ้น

    รวมถึงการจับมือกับแพลตฟอร์มๆต่างเพื่อให้บริการทางการเงินบนดิจิทัล หรือการ รื้อโครงสร้างธุรกิจแบบเดิมๆ ไปสู่ทิศทางใหม่ ที่คล่องตัวมากขึ้น  
หากดูตั้งแต่เกิดโควิด-19 ในช่วง 1ปี 9เดือน เราพบว่า สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือภาพรวมสาขาของระบบธนาคาร ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง 

1 ปี 9 เดือน ท่ามกลางโควิด-19 ‘แบงก์’ ปิดไปแล้วกี่สาขา?       โดยหากดูสาขาและจุดให้บริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ปรับลดลงมาก มาอยู่ที่ 6,187 สาขา ลดลงถึง 660 สาขาหรือจุดให้บริการ หากเทียบกับ ช่วงม.ค.ปี 2563 ที่สาขาและจุดให้บริการโดยรวมอยู่ที่ 6,847 สาขา
      แต่หากดูเฉพาะ 13 ธนาคารใหญ่ ที่เราคุ้นๆหูกันดี อาทิ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารกรุงไทย(KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)ธนาคารเกียรตินาคินภัทร(KKP) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT)ธนาคารทหารไทยธนชาต(ttb) ธนาคารทิสโก้(TISCO)ธนาคารยูโอบี(UOB) ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LHFG) ธนาคารไอซีบีซ๊(ICBC) และธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย

5อันดับแรกที่สาขาลดลงมากสุด
     โดยหากดูสาขาและจุดให้บริการของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 13 แห่ง พบว่า ธนาคารที่มีสาขาและจุดบริการลดลงมากที่สุดได้แก่ 

อันดับ1 ไทยพาณิชย์ โดยสาขาลดลงถึง 195 สาขา มาสู่ 833 สาขาในเดือนก.ย. 2564 หากเทียบกับม.ค.2563 ที่เกิดโควิด-19 ใหม่ที่มีสาขาขณะนั้น 1,028 สาขา

อันดับ2 ธนาคารกรุงไทย โดยจำนวนสาขาและจุดบริการล่าสุดอยู่ที่ 1,026 สาขา ลดลง 79 สาขา หากเทียบกับม.ค.ปีก่อนที่สาขาอยู่ที่ 1,105 สาขา และ

อันดับ3 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาลดลง 36 สาขามาสู่ 666 สาขา จาก 702 สาขา  

อันดับ4 ธนาคารกสิกรไทย สาขาลดลง 31 สาขา มาสู่ 863 สาขา จาก 894 สาขา และ

อันดับ5 ธนาคารกรุงเทพ สาขาลดลง 30 สาขา สู่ 1,118 สาขา จาก 1,148 สาขา
       ส่วนธนาคารอื่นๆ เช่น แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่สาขาลดลง 20 สาขา สู่ 88 สาขา จาก 108 สาขา ซีไอเอ็มบีไทย สาขาลดลง 16 สาขา สู่ 54 สาขา จาก 70 สาขา  

      ธนาคารยูโอบีลดลง 7สาขา มาสู่ 149 สาขา จาก 156 สาขา ธนาคารทิสโก้ลดลง 4 สาขา สู่ 56 สาขา จาก 60 สาขา และเกียรตินาคินภัทร สาขาลดลง 1สาขามาอยู่ที่ 65 สาขา จาก 66 สาขา
     สวนทางกับธนาคารทหารไทยธนชาต ที่มีสาขาเพิ่มขึ้น 251 สาขา สู่ 653 สาขา จาก 402 สาขา ส่วนหนึ่งอาจมาจากการรวมกิจการระหว่าง ธนาคารทหารไทยและธนชาต ที่อาจทำให้จำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสวนทางกับธนาคารอื่นๆ ขณะที่ธนาคารไทยเครดิต มีสาขาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันมาอยู่ที่ 4 สาขา เป็น 520 สาขา จาก  516 สาขา