‘EA’ ทุ่ม 6 พันล้านขยาย ‘โรงงานแบตเตอรี่’ เดินหน้าแผนโรงงานใหญ่สุดในอาเซียน

‘EA’ ทุ่ม 6 พันล้านขยาย ‘โรงงานแบตเตอรี่’ เดินหน้าแผนโรงงานใหญ่สุดในอาเซียน

"พลังงานบริสุทธิ์"ย้ำเดินหน้าแผนขยายโรงงานแบตเตอรี่รถไฟฟ้าเพิ่มจากขนาด 1 GWh เป็น 4 GWh ทุ่ม 6 พันล้าน เร่งเดินหน้าโครงการเสร็จตามแผนต้นปี 67 เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่ใหญ่สุดในอาเซียน

นายอมร ทรัพย์ทวีกุลรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA)กล่าวว่ามาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EA) ที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) อนุมัติล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมาถือเป็นการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ในรูปแบบเทคโนโลยีระดับเซลล์ และยกเลิกการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ในรูปแบบโมดูล โดยฝ่ายนโยบายต้องการส่งสัญญาณว่าเป็นการสนับสนุนแบตเตอรี่ที่เป็นเทคโนโลยีระดับเซลล์ในระยะต่อไป

สำหรับโครงการลงทุนของ EA เกี่ยวกับการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV มีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่มประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานแบตเตอรี่ของ EA จาก 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เป็น 4 Gwh โดยการเพิ่มไลน์การผลิตในโรงงานเดิมคาดว่าโครงการลงทุนจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน 

 

ก่อนหน้านี้ EA ประกาศความสำเร็จระดับภูมิภาค ของ EA เปิดตัว “อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย)” โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์เต็มตัว เพื่อสร้าง New S-Curve 

ทั้งนี้อมิตา เทคโนโลยี เป็นโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเตรียมแผนขยายกำลังการผลิตสู่ 50 GWh ต่อปีตามแผนในอนาคต สนับสนุนประเทศไทยขึ้นแท่นพร้อมเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในระดับภูมิภาค

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า "บอร์ดอีวี" ได้เห็นชอบในหลักการของมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 ลดเหลือร้อยละ 1

รวมทั้ง มาตรการที่สำคัญคือ การให้เงินสนับสนุนวงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย

โดยแบตเตอรี่ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตแตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า โดยเงินสนับสนุนจะขึ้นกับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่ สำหรับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh

ทั้งนี้เนื่องจากวงเงินงบประมาณมีจำนวนจำกัด การให้เงินสนับสนุนจะอยู่บนหลักการ “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” โดยเงินสนับสนุนที่ภาครัฐให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าขายในตลาดมีราคาถูกลงด้วย

นอกจากนี้ บอร์ดอีวีได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญ เช่น มาตรการขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้วเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion)

รวมทั้ง รับทราบความคืบหน้าของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ซึ่งในขณะนี้ ระเบียบสามารถเปิดให้หน่วยงานราชการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในหน่วยงานได้แล้ว ซึ่งมาตรการส่งเสริมในด้าน Demand-Supply ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station)จะเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกได้

 

“ขณะนี้ ประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกในการมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวีในประเทศ เพราะปัจจัยบวกหลายประการ ได้แก่ การที่ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 หรือ การผลิต 30% ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ที่ชัดเจนและออกมาตรการส่งเสริมในด้าน Demand-Supply อย่างต่อเนื่อง

ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น ประกอบกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากมาตรการให้เงินสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งบอร์ดอีวีได้อนุมัติไปเมื่อปีที่แล้ว และการที่ผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายจีน และค่ายยุโรป ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของผู้ผลิตแบตเตอรี่ได้มีการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว