ทำไม “เศรษฐีจีน” แห่ขนเงินไปต่างแดน หลังเปิดประเทศ?

ทำไม “เศรษฐีจีน” แห่ขนเงินไปต่างแดน หลังเปิดประเทศ?

เมื่อจีนเปิดประเทศเต็มรูปแบบในรอบ 3 ปี เหล่าเศรษฐีจีนต่างพากันขนเงินทุนมหาศาลออกไปนอกประเทศ มีแรงขับเคลื่อนอะไรบ้างที่ทำให้ทุนจีนอพยพขนานใหญ่เช่นนี้

เมื่อไม่นานนี้ สถาบันข้อมูล New World Wealth เปิดเผยว่า เศรษฐีจีนแห่ออกนอกประเทศจีนสูงถึง 10,800 คนในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 และ 2563 ที่น้อยกว่า 500 คน เป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2562

ยิ่งไปกว่านั้น อลิเซีย การ์เซีย เอร์เรโร นักเศรษฐศาสตร์ด้านเอเชียแปซิฟิกของสถาบันการเงิน Natixis ของฝรั่งเศสคาดว่า เงินทุนจะไหลออกจากจีนอย่างน้อย 1.5 แสนล้านดอลลาร์หลังรัฐบาลจีนเปิดพรมแดน

ทำไมเศรษฐีจีนถึงแห่ออกนอกประเทศ และขนเงินไปลงทุนอะไรบ้าง ติดตามได้ในบทความนี้

 

ทำไม “เศรษฐีจีน” แห่ขนเงินไปต่างแดน หลังเปิดประเทศ?

- สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ประกาศนโยบายความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (เครดิต: AFP) -

 

  • 3 เหตุผล ที่เศรษฐีจีนแห่ขนเงินไปต่างแดน

1. นโยบายจัดระเบียบธุรกิจของรัฐบาลจีน

เมื่อสี จิ้นผิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปัจจุบัน ได้ประกาศนโยบายที่เป็นแกนหลักของชาติคือ “นโยบายความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity)” หมายถึง กระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึง ไม่ให้จีนไปสู่จุดที่เรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในหมู่ชาวจีน นโยบายนี้จะสัมฤทธิผลได้ ต้องเริ่มจากจัดระเบียบภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่ก่อน

- เริ่มจาก Alibaba บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน เมื่อปี 2563 ทางการได้สั่งระงับการขายหุ้นบริษัทด้านการเงินในเครือ Alibaba อย่าง Ant Group ต่อสาธารณะครั้งแรก ซึ่ง Ant Group เป็นเจ้าของแอปฯ Alipay ที่ใช้ชำระเงิน ปล่อยสินเชื่อ ประกันชีวิต โดยทางการจีนให้เหตุผลที่ระงับการขายหุ้นนี้ว่า “ต้องมีการกำกับดูแลที่ดีเสียก่อน”

ต่อมาในปี 2564 รัฐบาลจีนได้ปรับ Alibaba สูงถึง 1.82 หมื่นล้านหยวนหรือราว 8.4 หมื่นล้านบาท เพราะผูกขาดตลาด จากการที่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ค้าที่ต้องการขายสินค้าใน Alibaba จะต้องเซ็นสัญญาไม่ขายสินค้าในแพลตฟอร์มอื่น ส่งผลให้แพลตฟอร์มอื่นเติบโตแข่งขันกับ Alibaba ได้ยาก

 

ทำไม “เศรษฐีจีน” แห่ขนเงินไปต่างแดน หลังเปิดประเทศ? - บริษัท Alibaba จีน (เครดิต: AFP) -

Tencent บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีน ปี 2564 รัฐบาลได้สั่งระงับการควบรวมกิจการระหว่าง Tencent กับ Huya และ Douyu ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้ครอบครองส่วนแบ่งตลาดเกมสตรีมมิงมากถึง 70% ของจีน

ต่อจากนั้นในปีเดียวกัน จากการที่ Tencent เคยเข้าซื้อกิจการบริษัท China Music Corporation ส่งผลให้ Tencent ครองส่วนแบ่งธุรกิจเพลงสูงถึง 80% ของจีน ทางการจึงออกคำสั่งให้ Tencent ยกเลิกการเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงแต่เพียงผู้เดียว

 

ทำไม “เศรษฐีจีน” แห่ขนเงินไปต่างแดน หลังเปิดประเทศ? - บริษัท Tencent (เครดิต: AFP) -

 

อสังหาริมทรัพย์จีน ทางการจีนกล่าวเกี่ยวกับธุรกิจประเภทนี้ว่า อสังหาริมทรัพย์ควรเป็นที่อยู่อาศัย ไม่ใช่เพื่อการเก็งกำไร ทางการจึงออกกฎ Three Red Lines ออกมาที่ทำให้การกู้สร้างอสังหาริมทรัพย์ในการเก็งกำไรต่อทำได้ยากขึ้น และเพื่อควบคุมฟองสบู่ที่อยู่อาศัยเหล่านี้

 

ทำไม “เศรษฐีจีน” แห่ขนเงินไปต่างแดน หลังเปิดประเทศ? - จีนประกาศว่า อสังหาริมทรัพย์ควรเป็นที่อยู่อาศัย ไม่ใช่เพื่อการเก็งกำไร  (เครดิต: AFP) -

 

สถาบันกวดวิชาจีน ทางการจีนมองว่าค่าเรียนพิเศษที่สูง ถือเป็นต้นทุนที่ทำให้ชาวจีนลดความต้องการมีลูก และมีภาระชีวิตที่มากขึ้นท่ามกลางประชากรที่ลดลง ปี 2564 ทางจีนจึงกำหนดให้สถาบันกวดวิชาเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ส่งผลให้มูลค่าหุ้นบริษัทเหล่านี้ลดลงมากถึง 50-80%

 

ทำไม “เศรษฐีจีน” แห่ขนเงินไปต่างแดน หลังเปิดประเทศ? - เด็กจีนผ่านการเรียนอย่างหนัก เเข่งขันกันสูง  (เครดิต: AFP) -

 

การจัดระเบียบธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงโควิด  เมื่อจีนเปิดประเทศขึ้น เศรษฐีจีนเหล่านี้จึงแห่ขนทรัพย์สินไปไว้ในต่างแดนเพื่อกระจายความเสี่ยงในอนาคต หากทางการจีนจัดระเบียบธุรกิจดังกล่าวอีกครั้ง

2. มาตรการโควิดที่เข้มงวดของจีน แม้ว่าในปัจจุบัน จีนจะเปิดประเทศแล้ว แต่มาตรการปิดเมืองที่ผ่านมากระทบธุรกิจจีนอย่างมาก แม้ไทยกับจีนจะใช้ล็อกดาวน์เหมือนกัน แต่ล็อกดาวน์ของไทยคือ ยังสามารถออกจากบ้านซื้อของได้ แต่ที่จีนนั้นอย่างเซี่ยงไฮ้ ประชาชนไม่สามารถออกจากบ้านได้ รอรับอาหารจากทางการเท่านั้น มีเวลาเข้าออกอาคารที่ชัดเจน จะเห็นได้ว่าความเข้มงวดแตกต่างกันอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้เพื่อรับมือความเสี่ยงโควิดสายพันธุ์ใหม่ในอนาคต หากมีการปิดเมืองอีก ทุนจีนจึงกระจายทุนออกมาเพื่อกระจายความเสี่ยงนี้

3. ความอัดอั้นในการปิดเมือง 3 ปี จีนผ่านการปิดเมืองมายาวนานถึง 3 ปี เมื่อเปิดประเทศขึ้น จึงออกนอกประเทศช้อปปิ้ง สังสรรค์ เพื่อผ่อนคลายความอึดอัดดังกล่าว

 

  • เศรษฐีจีนใช้เงินทำอะไรบ้างในต่างแดน

1. ซื้ออสังหาฯในต่างแดน เหตุผลเพราะอสังหาริมทรัพย์ในจีนราคาสูงมาก อ้างอิงจากเหวินอี้ จาง นักวิจัยของสถาบันสถิติ Statista ระบุว่า ในปี 2564 ราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยเฉลี่ยทั่วประเทศ คือ 16,533 หยวน/ตร.ม. หรือราว 82,000 บาท/ตร.ม. และถ้าเป็นย่านนครเสิ่นเจิ้น เซี่ยงไฮ้ ราคาจะสูงไปถึง 50,000-60,000 หยวน/ตร.ม. หรือราว 250,000-300,000 บาท/ตร.ม.

นอกจากนี้ ประชาชนจีนไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นการต่ออายุการเช่าระยะยาว รัฐสามารถนำที่ดินไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะได้ 

จากเหตุผลดังกล่าว เศรษฐีจีนจึงนำทุนไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ทั่วโลก ถ้าเป็นชาวจีนที่มั่งคั่งสูงจะซื้อในแคนาดา ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ แต่ถ้ามีฐานะรองลงมาก็จะซื้อในไทย ซึ่งราคาระดับอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปในจีน สามารถซื้อยูนิตแบบหรูในไทยได้ไม่ยาก

2. ช้อปใช้ในธุรกิจการท่องเที่ยว เศรษฐีจีนนำเงินที่สะสมช่วงปิดประเทศ 3 ปีมาผ่อนคลายผ่านการท่องเที่ยว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปี 2566 นักท่องเที่ยวจีนจะมาเที่ยวไทยประมาณ 4.65 ล้านคน  กระตุ้นการใช้จ่ายภาคท่องเที่ยวกว่า 1.86 แสนล้านบาท

3. ตั้งฐานการผลิตในไทย เพื่อลดผลกระทบการปิดเมืองถ้าหากเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทุนจีนจึงย้ายฐานที่แต่เดิมกระจุกในจีนมาตั้งที่ต่างแดนมากขึ้น อย่างเช่น การที่บริษัท BYD ค่ายรถชั้นนำของจีน มาตั้งฐานผลิตรถ EV ในไทย ช่วยสร้างการจ้างงานให้คนไทย และทำให้ชาวไทยเข้าถึงราคารถ EV ที่ต่ำลงด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การย้ายของทุนจีนออกนอกประเทศจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียรอบข้างได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มี “ทุนจีนจำนวนหนึ่ง” ร่วมมือกับนอมินีชาวไทย สร้างอสังหาริมทรัพย์สำหรับชาวจีนโดยเฉพาะ เงินไม่ได้ไหลเข้าประเทศไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย คล้ายกรณี “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” หรือแม้แต่มาเฟียจีนอย่างกลุ่ม “ตู้ห่าว” ที่ถูกปราบปรามอย่างหนักในจีน จึงย้ายฐานมาเฟียมายังไทยเพื่อทำธุรกิจผิดกฎหมายแทน ปัจจัยเหล่านี้ ภาครัฐของไทยต้องอาศัยความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย และยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ


อ้างอิง: statista bangkokbiznews bloomberg bloomberg(2) reuters reuters(2)