เช็กเงินในกระเป๋า! รับมือสินค้าขึ้นราคา ของแพง!อีกระลอก

เช็กเงินในกระเป๋า!  รับมือสินค้าขึ้นราคา ของแพง!อีกระลอก

เปิดต้นปี 2566 ปัญหา “สินค้าราคาแพง” ยังไม่คลี่คลาย ซ้ำร้ายส่อเค้าจะเห็นการปรับ “ขึ้นราคา” ระลอกใหม่ด้วย กรุงเทพธุรกิจ สอบถามผู้บริหารหลากหมวดสินค้า ยอมรับ “ต้นทุนพุ่ง” เป็นปัจจัยเปราะบาง กระทบธุรกิจในปีนี้ เพราะเป็น “ตัวแปร” ต่อการตัดสินใจปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างมาก

ข้าวของเตรียมราคาแพงต่อไม่รอแล้ว หลังผู้ผลิตบ่นต้นทุนพุ่งเป็นภาระหนักอึ้ง บางหมวดขึ้นแรงเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นผู้บริโภคต้องสำรวจเงินในกระเป๋า ว่าพร้อมรับแรงกระแทกสินค้าแพงระลอกใหม่มากน้อยแค่ไหน

สำหรับหมวดสินค้าที่ต้องจับตาเรื่องปรับราคา มีดังนี้ “เครื่องดื่มชูกำลัง” ในปี 2565 มีบิ๊กแบรนด์อย่าง “เอ็ม-150” ขึ้นราคาสินค้า แต่มีผลต่อส่วนแบ่งตลาดจนต้องส่งสินค้าใหม่ราคาเดิมมาตอบโจทย์ผู้บริโภค ปี 2566 แบรนด์ใหญ่อีกรายอย่าง “กระทิงแดง” มีกระแสข่าวจะขึ้นราคา แต่ที่กำลังพิจาณาอยู่คือ “คาราบาวแดง”

 

เครื่องดื่มชูกำลังต้นทุนพุ่งแรงรอบ 20 ปี

เสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตเครื่องดื่มชูกำลังปรับขึ้นยกแผง โดยเฉพาะ “น้ำตาล” ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของการผลิตสินค้า การจะลดปริมาณ ปรับสูตรมากไม่ได้ เพราะจะมีผลต่อ “รสชาติ” และการบริโภคได้

นอกจากนี้ การขนส่งยังสูงขึ้นเป็นลำดับสอง รวมถึงบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว กระป๋อง ขยับขึ้นไม่แพ้กัน อย่างขวดแก้วโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ ซึ่งต้องใช้พลังงานสูงมาก และที่ผ่านมา ราคาพลังงานพุ่งขึ้นต่อเนื่อง จึงเลี่ยงผลกระทบยาก เป็นต้น

“ต้นทุนเครื่องดื่มชูกำลังพุ่งขึ้น 15% สูงเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ทำคาราบาวแดงมากว่า 20 ปี โดยวัตถุดิบน้ำตาลขึ้นหนักสุด”

การขยับขึ้นราคาสินค้าเมื่อใด บริษัทยังไม่มีแผนชัดๆ แต่ยังต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนภาพรวมเครื่องดื่มชูกำลัง “หมื่นล้าน” ปี 2566 คาดการณ์จะไม่เติบโตด้วย เพราะวิกฤติโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา ทำให้ประชาชน “ฐานราก” ลำบากยากจนลง จากคนมีทอง ต้องนำไปขายหาเงินยังชีพ มีรถจักรยานยนต์ นำไปจำนอง ซ้ำร้ายยังมี “หนี้นอกระบบ” มหาศาล

เช็กเงินในกระเป๋า!  รับมือสินค้าขึ้นราคา ของแพง!อีกระลอก

 

มันฝรั่งขึ้นราคา "โก๋แก่" พร้อมปรับตาม 

ตลาดขนมขบเคี้ยวหรือสแน็คเป็นอีกหมวดที่ต้นทุนพุ่ง หนึ่งในนั้นคือสแน็คถั่ว โดย จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์ กรรมการผู้จัดการบริหาร โรงงานโก๋แก่ บริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด กล่าวว่า วัตถุดิในการผลิตสแน็คถั่วอบกรอบต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นทั้งถั่ว บรรจุภัณฑ์กระป๋อง กล่องฯ ส่งผลต่อความสามารถในการทำ “กำไร” จากอดีตเคยอยู่อัตรา 2 หลัก แต่หลังจากโควิด-19 ระบาด ต้นทุนแพงทำให้กำไรลดเหลือเพียง 1 หลักเท่านั้น ทำให้บริษัทต้องหาทางบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงานมากขึ้น เป็นต้น

ส่วนการ “ขึ้นราคา” ของโก๋แก่ เบื้องต้น บริษัทยังรอให้เจ้าตลาดสแน็ค โดยเฉพาะกลุ่มมันฝรั่ง ปรับขึ้นราคาก่อน ตามด้วยขนมขึ้นรูป จากนั้นจะเป็นคิวของ “ถั่ว” ขยับราคาตาม

“ราคาสินค้ากำลังดูเทรนด์ว่าสแน็คหมวดอื่นๆทำอย่างไร หากปรับราคารีเทล เราก็น่าจะปรับตาม เพราะตอนนี้ต้นทุนขยับ 23-24% เช่น จากกระป๋องขึ้นราคาจากเหล็กพุ่ง 20% ถั่วแพงขึ้น ซึ่งบริษัทใช้ถั่วลิสงดิบวันละ 20 ตัน เป็นต้น”

ที่ผ่านมา ต้นทุนพุ่ง แต่ โก๋แก่ ไม่ได้ปรับราคาสินค้าขึ้น กลับกันบริษัท “ลดปริมาณ” สินค้าลงก่อนช่วงโควิด-19 ระบาด

เช็กเงินในกระเป๋า!  รับมือสินค้าขึ้นราคา ของแพง!อีกระลอก

สินค้าจำเป็นจ่อแพงขึ้นอีก

หนึ่งในผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ มีแบรนด์หลากหลาย เช่น สบู่นกแก้ว มันฝรั่งเทสโต ขนมขึ้นรูปโดโซะ ฯ อย่าง “บีเจซี” ยอมรับต้นทุนหลายตัวขยับ โดย ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี กล่าวว่า สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหรือสินค้าจำเป็นทั่วไป เผชิญความยากลำบากด้าน “ต้นทุนผลิตพุ่ง” จากหลายตัวแปรทั้งค่าไฟ น้ำมัน ฯ

ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้แนวโน้ม “ราคาสินค้าขึ้น” แต่อีกด้านบริษัทพยายามร่วมมือกับผู้ผลิตในการดูแลราคาสินค้า เพื่อไม่ให้กระทบกับร้านค้า ผู้บริโภคด้วย

“เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าต้นทุนผลิตสินค้ามีความยากลำบาก ค่าไฟ เป็นภาระผู้ผลิตสินค้าทุกราย น้ำมัน การขนส่งก็เช่นกัน อาจเกิดการส่งถ่ายไปยังประชาชนฐานราก เราก็พันธมิตรจะพยายามช่วยแบกภาระไว้ให้เต็มที่ แต่ยอมรับว่าแนวโน้มราคาสินค้าจะมีขึ้นบ้างตามสถานการณ์”

เช็กเงินในกระเป๋า!  รับมือสินค้าขึ้นราคา ของแพง!อีกระลอก

 

ด้าน ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ความท้าทายในการทำตลาดปี 2566 ยกให้ภาวะต้นทุนการผลิตสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีผลต่อความสามารถในการทำ “กำไร” ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้เล่นใหม่ที่จะเข้ามา หากผลิตและจำหน่ายสินค้าราคาเท่าเจ้าเดิมในตลาด ค่อนข้างยาก เพราะทุกรายแบกรับภาระต้นทุนไว้ โดยไม่ผลักภาระต้นทุนที่ขึ้น 100%ให้ผู้บริโภค เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก

“ต้นทุนสูง ส่งผลให้มาร์จิ้นผู้ประกอบการบางลง แต่ผู้ที่อยู่ในธุรกิจมาก่อน มีศักยภาพในการบริหารจัดการต้นทุนได้”

บุญรอดฯ หนึ่งในองค์กรยักษ์ใหญ่ ได้รับนโยบายซีอีโอ “ภูริต ภิรมย์ภักดี” ในการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภค พยายามตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุด

“การบ้านของซีอีโอ สินค้าที่จำหน่ายในตลาดอยู่แล้ว หากไม่จำเป็นจริงๆไม่อยากให้ขึ้นราคาสินค้า อะไรที่เราช่วยได้ก็ช่วย ส่วนการออกสินค้าใหม่ต้องเป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องเติมเต็ม Unmet need ของผู้บริโภค”

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ขึ้นราคาล่วงหน้าแล้ว เช่น แลคตาซอย ที่ปิดตำนาน แลคตาซอย 5 บาท เพราะขยับขึ้นเป็น 6 บาทนั่นเอง