ธุรกิจเอสเอ็มอีกับนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี

ธุรกิจเอสเอ็มอีกับนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี

เมื่อพูดถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจแล้ว เราอาจแบ่งกลยุทธ์และแนวทางในการใช้นวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีกับกิจกรรมทางธุรกิจได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

ประเภทแรก เกี่ยวข้องกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เช่น การใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ทันสมัย การผลิตแบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม รวมถึง การประยุกต์หลอมรวมเทคโนโลยีเดิมเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ฯลฯ

ประเภทที่สอง เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการบริหารจัดการและการตลาด เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการข้อมูลภายในและข้อมูลบัญชี การตลาดออนไลน์ และ การใช้นวัตกรรมสื่อสังคมมาสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของธุรกิจให้เกิดขึ้นกับลูกค้า ลูกค้าเป้าหมาย หรือประชาชนโดยทั่วไป ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน การริเริ่มนำนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มของธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพในด้านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น การทำการวิจัยหรือพัฒนาด้วยตนเอง การซื้อหาเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้โดยตรง

การร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี การเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือแม้กระทั่งการเข้าซื้อกิจการของธุรกิจที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่ต้องการ

ซึ่งมาตรการได้มาซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ ธุรกิจขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี คงจะไม่สามารถเลียนแบบนำมาใช้ได้โดยง่าย

ดังนั้น เอสเอ็มอีที่สนใจที่จะนำนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจของตนเอง จึงต้องเริ่มจากการมีวิสัยทัศน์และความตั้งใจของเจ้าของหรือผู้บริหารระดับที่มีอำนาจกำหนดชี้นำทิศทางของธุรกิจได้

เริ่มต้นจากการหาความรู้เบื้องต้นเพื่อคัดกรองว่า นวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี ประเภทไหนที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันหรือทิศทางธุรกิจที่จะปรับเปลี่ยนไปในอนาคต เพื่อติดตามพัฒนาการและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนั้นๆ

โดยเฉพาะการพยายามสร้างความเข้าใจพื้นฐานหรือหลักการเฉพาะ (ที่อิงหลักการวิทยาศาสตร์) ที่ทำให้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีนั้นๆ ประสบความสำเร็จ

การเริ่มต้นในทั้ง 2 ด้านนี้ จะทำให้เอสเอ็มอีสามารถกำหนดของเขตที่เป็นจุดสนใจและเข้าใจหลักการที่เป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อนำมาปรับหรือพัฒนาให้เข้ากับความต้องการทางธุรกิจของตนเอง

โดยไม่มึนงงหลงทางไปกับข้อมูลต่างๆ รอบตัวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมากมาย จนอาจทำให้ไขว้เขวและตัดสินใจผิดพลาดไปกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ไม่เข้ากับธุรกิจหรือเกินกว่าศักยภาพของธุรกิจที่จะนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาอันสั้น

ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจเอสเอ็มอีคือ ความสามารถในการมองเห็นตำแหน่งและจุดยืนของธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดและผลักดันให้ธุรกิจแสวงหานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะต้องนำมาใช้กับธุรกิจต่อไป

โดยเน้นไปที่การอยู่รอดของธุรกิจเป็นอันดับแรก ก่อนเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ การเติบโต หรือ การขยายธุรกิจไปอย่างรวดเร็ว และความมุ่งหมายในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ ต้องเป็นการทำให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

เนื่องจากการอยู่รอดของธุรกิจ จะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม ที่อยู่โดยรอบของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ จะต้องเป็นไปตามกระบวนการที่จะต้องดำเนินไปตามลำดับขั้นตอน เริ่มจาก ความเข้าใจกลไกหรือพื้นฐานเชิงวิทยาศาสตร์ การนำความเข้าใจมาประยุกต์ใช้ให้เกิดความเป็นรูปธรรม และการนำรูปธรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจการค้า

หรือวงจรจาก “ธรรมชาติทางวิทยาศาสตร์” ไปสู่ “การสร้างเทคโนโลยี” และไปสิ้นสุดที่ “นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าและการได้รับการตอบรับจากตลาดและผู้บริโภค”

ที่มักรู้จักการในนามของ กระบวนการ Science –> Technology -> Innovation