เปิดเบื้องลึก!! ประชากรจีนลดลงครั้งแรกรอบ 60 ปี กระทบอนาคตจีนด้านใดบ้าง?

เปิดเบื้องลึก!! ประชากรจีนลดลงครั้งแรกรอบ 60 ปี กระทบอนาคตจีนด้านใดบ้าง?

ประชากรจีนลดลงครั้งเเรกในรอบ 60 ปี เเม้ทางการจีนจะผ่อนปรนนโยบายให้มีลูก 3 คนเเล้วก็ตามจากนโยบายลูกคนเดียว มีปัจจัยเบื้องลึกอะไรที่ทำให้ประชากรจีนกลับมาลดลงเช่นนี้ เเละส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างไรบ้าง

จากสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ได้ประกาศตัวเลขประชากรจีนล่าสุดออกมา ผลปรากฏว่า ประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี โดยนับถึงสิ้นปี 2565 จำนวนประชากรจีนอยู่ที่ 1.41 พันล้านคน น้อยลง 850,000 คน จากสิ้นปี 2564 หลายฝ่ายจึงตั้งข้อสังเกตว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศจีน และการลดลงของประชากรจีน พร้อมกับประชากรอินเดียแซงเป็นอันดับ 1 แทนจะส่งผลกระทบกับจีนในด้านใดบ้าง บทความนี้จะพาผู้อ่านมาหาคำตอบกัน

    เปิดเบื้องลึก!! ประชากรจีนลดลงครั้งแรกรอบ 60 ปี กระทบอนาคตจีนด้านใดบ้าง?

- ประชากรจีน (เครดิต: AFP) -

  

  • เกิดอะไรขึ้นกับประชากรจีน

เมื่อดูจากข้อมูลทางการเกี่ยวกับตัวเลขประชากรจีนปี 2565 ที่ลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี จะพบว่า
- ผู้เสียชีวิต 10.41 ล้านคน
- เด็กเกิดใหม่ 9.56 ล้านคน
สะท้อนว่าปี 2565 ตัวเลขประชากรจีน “เสียชีวิตมากกว่าเกิดใหม่”  
อย่างไรก็ตาม ในส่วนตัวเลขเด็กเกิดใหม่นี้ เมื่อปี 2559 อยู่ที่ 17.9 ล้านคน จากนั้นตัวเลขนี้ก็ค่อยๆ ปรับลดลงทุกปีอย่างรวดเร็ว กระทั่งเมื่อปี 2564 เด็กเกิดใหม่ในจีนลดลงมาอยู่ที่ 10.62 ล้านคน และล่าสุดปี 2565 ลงมาอยู่ที่ 9.56 ล้านคน ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2493 หรือต่ำสุดนับตั้งแต่ 73 ปีที่แล้ว ในขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นเล็กน้อย จากแนวโน้มสถิติดังกล่าวจะเห็นว่า “ปัจจัยหลัก” ที่ทำให้ประชากรจีนลดลงคือ “เด็กเกิดใหม่น้อยลง”

    เปิดเบื้องลึก!! ประชากรจีนลดลงครั้งแรกรอบ 60 ปี กระทบอนาคตจีนด้านใดบ้าง? -การลดลงของเด็กเกิดใหม่ในจีน (เครดิต: Statista) - เปิดเบื้องลึก!! ประชากรจีนลดลงครั้งแรกรอบ 60 ปี กระทบอนาคตจีนด้านใดบ้าง? - เด็กเกิดใหม่ในจีนปรับตัวลงมากเมื่อเทียบกับผู้เสียชีวิต (เครดิต: GRID) -

 

  • ปัจจัยอะไรทำให้ชาวจีนต้องการมีลูกน้อยลง

จากแนวโน้มประชากรจีน ทางรัฐบาลได้เห็นถึงการขึ้นที่ชะลอตัวลงแล้ว จึงผ่อนปรนให้ชาวจีนมีลูก 2 คนได้ในปี 2559 และล่าสุดปี 2564 มีลูกได้ถึง 3 คน แต่สิ้นปี 2565 จำนวนประชากรก็กลับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี โดยพบว่าเกิดจากปัจจัยสำคัญ 4 ข้อดังนี้

 

1. การแข่งขันในสังคมสูงมาก จากจำนวนประชากรจีนที่มากถึง 1,400 ล้านคน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการทำงาน ชาวจีนจะแข่งขันระหว่างกันอย่างดุเดือด การทำมาหากินไม่ใช่เรื่องง่าย เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และประสิทธิภาพในการทำงาน ชาวจีนโดยเฉพาะรุ่นใหม่จึงไม่ค่อยต้องการมีลูก

2. จีนพลิกเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองแล้ว เมื่อไปท่องเที่ยวจีน หลายเมืองเปลี่ยนเป็นตึกระฟ้า อุตสาหกรรมต่าง ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับค่าครองชีพที่สูงกว่าแต่ก่อนมาก ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนสูงกว่าไทยหลายเท่า ราคาอาหารขยับขึ้นตาม จึงทำให้ชาวจีนต้องการมีลูกน้อยลง อันที่จริงปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่เปลี่ยนเป็นสังคมเมืองมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ดังจะเห็นได้จากเมื่อก่อนคนรุ่นพ่อแม่ โดยเฉพาะสังคมชนบท มีลูกมากถึง 10 คน ในสมัยนั้นค่าครองชีพต่ำกว่าสมัยนี้มาก อาหารสามารถหาตามเรือก สวน ไร่ นา น้ำใสสะอาดจนมองเห็นปลาข้างล่างได้ แต่ในปัจจุบันภาพเหล่านี้กลับหาได้ยาก ค่าครองชีพก็สูง อีกทั้งค่านิยมพ่อแม่รุ่นใหม่ ที่ใส่ใจการศึกษาของลูกมาก พยายามส่งเสียลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติหรือต่างประเทศ ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ชาวจีนเลือกที่จะมีลูกน้อยลง

เปิดเบื้องลึก!! ประชากรจีนลดลงครั้งแรกรอบ 60 ปี กระทบอนาคตจีนด้านใดบ้าง?  - ชีวิตประจำวันในจีน (เครดิต: AFP) -

  

3. ค่านิยมการใช้ชีวิตคู่โดยไม่ต้องมีลูก นี่เป็นค่านิยมของคู่หนุ่มสาวรุ่นใหม่หลายคู่ ที่มีมุมมองต่างจากรุ่นก่อนหน้าที่มองว่าจำเป็นต้องมีลูกเพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์และสืบสกุล แต่สำหรับรุ่นใหม่มองว่า เราสามารถมีความรักต่อกันโดยไม่ต้องมีลูกก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นคนรุ่นใหม่ยังโปรดปรานสัตว์เลี้ยงด้วย ดังจะเห็นจากรายได้อาหารสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และแมว ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ซึ่งอาจกลายเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคตได้

4. การปิดเมืองอันยาวนานของจีน นานถึง 3 ปี ถือเป็นตัวเร่งความต้องการมีลูกให้ยิ่งลดน้อยลง จากบรรยากาศปิดเมืองที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการแต่งงาน และการสังสรรค์
แม้ว่าการกลับมาเปิดเมืองของจีนจะสามารถเพิ่มความต้องการมีลูกได้ระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงปิดเมือง แต่ในระยะยาว ประชากรจีนกำลังอยู่ในแนวโน้มขาลง ทางสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่า ประชากรจีนจะแตะระดับสูงสุดในปี 2565 ที่ 1.4 พันล้าน จากนั้นก็จะลดลงไปที่ 1.3 พันล้านภายในปี 2593 และจะต่ำกว่า 800 ล้านคนภายในปี 2643 เปิดเบื้องลึก!! ประชากรจีนลดลงครั้งแรกรอบ 60 ปี กระทบอนาคตจีนด้านใดบ้าง? - จำนวนผู้สูงอายุในจีนกำลังถ่างกว้างขึ้น (เครดิต: GRID) -

                        

  • ประชากรจีนลดลง ส่งผลกระทบด้านใดบ้าง

เมื่อประชากรจีนกำลังลดลง และผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จีนจะได้รับผลกระทบดังนี้

1. รัฐจะจัดเก็บรายได้ภาษีได้น้อยลง โดยข้อมูลทางการจีน ระบุว่า รัฐบาลมีรายได้จากภาษี อยู่ที่ 15.28 ล้านล้านหยวน ระหว่างเดือนม.ค.- พ.ย.2565 เเละทางสหประชาชาติคาดการณ์ว่าจำนวนผู้สูงอายุจีน (เกิน 65 ปี) จะเพิ่มขึ้นเป็น 366 ล้านคน ภายในปี 2593 ส่งผลให้จีนอาจมีรายได้จากภาษีลดน้อยลงตามไปด้วย

2. รัฐต้องแบกรับภาระเงินบำนาญ และสวัสดิการชาวจีนที่มากขึ้น จากสังคมผู้สูงอายุจำนวนมากที่เกษียณอายุ และวัยแรงงานลดน้อยลง คาดว่ากองทุนบำเหน็จบำนาญของจีน จะแตะเพดานสูงสุดภายในปี 2570 ที่ 6.99 ล้านล้านหยวน และเงินกองทุนดังกล่าวจะหมดลงภายในปี 2578

3. แรงงานจีนจะลดลง โดยในอีก 5 ปีต่อจากนี้ ทางการจีนรายงานว่า จีนจะสูญเสียแรงงานราว 35 ล้านคนจากจำนวนผู้เกษียณที่เพิ่มอีก 40 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หากเป็นอุตสาหกรรมในส่วนที่สามารถใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาตรงส่วนนี้ได้

4. ความต้องการซื้อในอสังหาฯ และการใช้จ่ายในประเทศจะลดลง อีกทั้งยังกระทบไปถึงธุรกิจต่างประเทศที่พึ่งพาการบริโภคของชาวจีนด้วย เช่น สถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ไม่ว่าในสหรัฐ ยุโรป หรือที่อื่นๆ ของโลก กลุ่มนักเรียนต่างชาติที่จำนวนมากที่สุดคือ ชาวจีน

จากปัญหาเหล่านี้ ทางการจีนก็พยายามชะลอแนวโน้มดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ชาวจีนมีลูกมากขึ้นผ่านการอนุมัติให้มีลูก 3 คนได้ ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มสำหรับการลาคลอด เงินกู้การมีบุตร จัดระเบียบกวดวิชาให้มีค่าเล่าเรียนต่ำลง ด้วยการทำให้สถาบันกวดวิชาเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ส่งผลให้หุ้นกวดวิชาร่วงลงมากถึง 80% อีกทั้งจีนยังจัดระเบียบภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ราคาที่อยู่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงมีแนวคิดที่จะขยายอายุเกษียณงานด้วย(ปัจจุบัน ผู้ชายจีนเกษียณอายุ 60 ปี ผู้หญิงจีนเกษียณอายุ 50-55 ปี) โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้กล่าวว่า จีนควรขยายเกณฑ์เกษียณอายุนี้ เพื่อที่จะดึงพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากแรงงานในประเทศกลับคืนมา

โดยสรุป การลดลงของประชากรจีนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่จะทำให้ในระยะยาวนั้น รัฐบาลกำลังแบกรับสวัสดิการผู้สูงอายุที่มากขึ้น และแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มลดลง เหล่านี้จึงน่าติดตามต่อว่า รัฐบาลจีนจะเปลี่ยนแนวโน้มดังกล่าวได้หรือไม่

อ้างอิง
grid.news scmp.com voanews.com voanews.com(2) bloomberg nytimes prb.org
gov.cn

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์