"หอการค้า"เตือนเอกชนไทย บริหารความเสี่ยงสู้ปัญหา "ภูมิรัฐศาสตร์"

"หอการค้า"เตือนเอกชนไทย บริหารความเสี่ยงสู้ปัญหา "ภูมิรัฐศาสตร์"

หอการค้าไทย แนะภาคธุรกิจ ออกจาก Comfort Zone เตรียมพร้อมรับมือความผันผวนจากความขัดแย้ง Geopolitics โลกแบ่งขั้ว ชี้เศรษฐกิจไทยเผชิญ 6 ประเด็น ทั้งโอกาส และความเสี่ยง หวังรัฐบาลใหม่ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดธุรกิจ การค้า เพิ่มทักษะแรงงานดิจิทัล

ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “ภาคธุรกิจขยับรับมือบริบทโลกเปลี่ยน” ภายในงานสัมมนา “Geopolitics : The big Challenge for Business โลกแบ่งขั้ว ธุรกิจพลิกเกม” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” วันนี้ (23 ม.ค.)ว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่มีความชัดเจนขึ้น หลังจากสงครามระหว่างรัสเซีย กับยูเครนในปีที่ผ่านมา รวมทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกทำให้ภาคธุรกิจในปัจจุบันไม่สามารถอยู่ใน comfort zone ได้อีกต่อไป ต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา

ทั้งนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจมีหลายด้าน เช่น เรื่องของราคาพลังงานเป็นต้นทุนที่ภาคธุรกิจควบคุมไม่ได้เลยเพราะราคาพลังงานปรับขึ้นจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ในโลก ทำให้ราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นส่งผลต่อต้นทุนในการผลิต นอกจากนั้นยังส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ จนต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน เกิดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของรัฐบาลหลายประเทศทำให้ต้นทุนในด้านดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งผลกระทบกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลให้เกิดความผันผวน บางช่วงค่าเงินบาทอ่อนค่า และบางช่วงเงินบาทแข็งค่ามาก มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจนำเข้าและส่งออก

"หอการค้า"เตือนเอกชนไทย บริหารความเสี่ยงสู้ปัญหา "ภูมิรัฐศาสตร์" สำหรับภาคธุรกิจที่ต้องใช้อาหารสัตว์ ก็ได้รับผลกระทบจากผลผลิตประเภทธัญพืชที่หายไปจากการสู้รบกันในยูเครน และรัสเซีย ซึ่งทำให้กระทบกับภาพรวมของธุรกิจประเภทนี้ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลน เช่น ข้าวสาลีหายจากโลกนี้ไปหนึ่งในสาม  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หายกัน 20% แต่ละประเทศจะต้องมีการไปแย่งซื้อทำให้ราคาสูงขึ้นเมื่อบวกกับการขนส่งระหว่างประเทศ ในช่วงเวลานั้นจะมีผลกระทบเพิ่มขึ้นในเรื่องของค่าระวางเรือแพงมากบางทีสูงกว่าค่าสินค้า

 

ทั้งนี้ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากขึ้นต่อเรื่องธุรกิจ ซึ่งธุรกิจจะต้องมีการวางแผนในเรื่องของทางออกสำหรับปัญหาต่างๆ ไว้ให้พร้อม เช่น การหาแหล่งทดแทนวัตถุดิบ หรือการหาตลาดอื่นๆ รองรับหากมีความขัดแย้งจนไม่สามารถส่งสินค้าไปขายยังตลาดเดิมได้

 

“ธุรกิจไม่สามารถอยู่ใน comfort zone ได้อีกต่อไป เพราะผลกระทบหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนทางพลังงานที่ควบคุมไม่ได้ ต้นทุนวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่สูงขึ้นมาก รวมทั้งค่าเงินอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในแบบที่ย้อนไปเมื่อ 20 – 30 ปีก่อนไม่เคยเกิดขึ้นเลย” ดร.วิศิษฐ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทย มีศักยภาพในการปรับตัว โดยบางส่วนสามารถขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ และซัพพลายเชนที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้ขยายไปในประเทศที่มีข้อขัดแย้งสูง โดยเฉพาะที่มีมาตรการต่างๆ ที่ออกมากีดกันทางการค้า มีการเข้าไปสร้างโรงงานหรือว่าไปซื้อกิจการ ไปเป็นเจ้าของกิจการ และทำแบรนด์ให้เข้มแข็ง

 

ขณะที่การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนั้นในช่วงที่ธุรกิจมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงดำเนินต่อไปแต่ส่งผลต่อราคาพลังงานลดลง โดยมี 6 ประเด็นที่ภาคเอกชนไทยจะต้องเจอในปี 2566 ได้แก่

 

1.ธุรกิจที่เกี่ยวกับสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งไม่ใช่แค่การปรับตัวของภาคธุรกิจแต่เป็นโอกาส เช่น ตลาดคาร์บอนเครดิต จะมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมากขึ้น  ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทย ซึ่งเกิดได้จากการที่เราสร้างป่าขึ้นมาในพื้นที่ที่เรามีอยู่มากมายเรามีการปลูกป่าเพิ่มขึ้นเพื่อดูดซับคาร์บอน

2.ธุรกิจยังคงเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ค่าไฟ  ราคาสินค้าที่มีต้นทุนสูงขึ้น

3.ดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางหลายประเทศเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ  

4.เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยจะเกิดในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกก่อน ซึ่งหากเกิดภาวะแบบนี้ผู้ผลิตสินค้าไม่ควรมีการสต๊อกสินค้ามากเกินไปเพราะเสี่ยงที่จะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้หมดหากเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ  

5.ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว  โดยการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ฟื้นตัวได้ดี และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะมีการเติบโต และการจ้างงานเพิ่ม

และ 6.การแพทย์ และสาธารณสุข โดยชาวต่างชาติบางส่วนจะเริ่มกลับมารักษาพยาบาลในประเทศไทย จากภาพลักษณ์ และคุณภาพการให้บริการการแพทย์ที่ดีที่มีชื่อเสียงของไทย  

 

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรแก้ไขคือ เรื่องของจุดอ่อนคือ เรื่องการอำนวยความสะดวกด้านธุรกิจ  “ease of doing business” และเรื่องการปรับเพิ่มทักษะแรงงานไปสู่ดิจิทัล   การแก้ปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงเรื่องการอำนวยความสะดวกในการส่งออก - นำเข้าสินค้า  (NSW) ในรูปแบบที่ง่าย และมีความเชื่อมโยงถึงกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ประสานงานกับภาคการส่งออกให้ง่ายขึ้นโดยควรมีแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจ และภาครัฐได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์