ททท. เร่งทวงคืนตลาด "จีน-เอเชีย" ดันแคมเปญ "ไทย-จีน ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน"

ททท. เร่งทวงคืนตลาด "จีน-เอเชีย" ดันแคมเปญ "ไทย-จีน ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน"

ภารกิจใหญ่ของ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” ในปี 2566 หนีไม่พ้นการทวงคืนตลาด “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” หลังจากวิกฤติโควิด-19 อาละวาดหนักร่วม 3 ปี กระทบความเชื่อมั่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว "เอเชีย" ที่ค่อนข้างอ่อนไหวและมีมาตรการคุมเข้มสกัดการระบาดมากกว่าฝั่งตะวันตก

ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปี 2566 จะเป็น “ปีแห่งการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่” (The Great Resumption) ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะการกลับมาของ “นักท่องเที่ยวจีน” ครั้งนี้ต้องไม่เหมือนเดิม! ต้องกลับมาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีการใช้จ่ายมากขึ้น จากสถิติเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยมากถึง 11 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 5.31 แสนล้านบาท มีวันพักเฉลี่ย 7.8 วัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 6,118 บาท/คน/วัน และคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริป 47,723 บาท/คน/ทริป

สำนักงานของ ททท.ทั้ง 5 แห่งในประเทศจีน ได้แก่ สำนักงานเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว เฉิงตู และคุนหมิง จะร่วมกันเดินหน้ากลยุทธ์ China is Back” ด้วยการปล่อยแคมเปญใหญ่ “Two Lands, One Heart” หรือ “ไทย-จีน ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” (จงไท่ อีเจียซิน) จับมือกับภาคเอกชน เช่น บริษัทนำเที่ยว เพื่อส่งเสริมการทำตลาดดึงนักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทย หลังจากรัฐบาลจีนเปิดประเทศ ยกเลิกมาตรการกักตัวขาเข้า มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป

ผลักดันเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยไม่น้อยกว่า 5 ล้านคนในปีนี้...ให้เป็นไปได้!

“ท่าทีของรัฐบาลไทยหลังจีนประกาศเปิดประเทศ ได้รับการยอมรับจากจีนอย่างมาก ในสายตาของชาวจีนยกให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในฝัน (Dream Destination) ที่ต้องการมาเยือนหลังเผชิญสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ยาวนานถึง 3 ปี”

ขณะเดียวกัน ททท.จะร่วมมือกับบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์และแพลตฟอร์มต่างๆ ในลักษณะ Worldwide Platform” ซึ่งมีเครื่องยนต์ทางดิจิทัลในการกวาดลูกค้า เช่น Ctrip, Fliggy, Qunar.com, lvmama.com, Alipay และ UnionPay กลยุทธ์นี้ไม่ได้ใช้กับแค่ตลาดจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกใต้ ภายใต้พื้นที่รับผิดชอบของ ธเนศวร์ อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังสานต่อการใช้กลยุทธ์ “เซเลบริตี้ มาร์เก็ตติ้ง” (Celebrity Marketing) เช่น นำศิลปินชาวจีน “หม่า เทียนอวี่” มาไลฟ์สดขายสินค้าบริการท่องเที่ยวของไทยผ่าน Weibo และล่าสุดได้ร่วมกับ “ทริปดอทคอมกรุ๊ป” (Trip.com Group) ซึ่งเป็นบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในจีน จัดกิจกรรม “Boss Live Streaming” เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ณ โรงแรม เพนนินซูล่า กรุงเทพฯ เป็นระยะเวลา 4 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 19.00-23.00 น. เพื่อขายที่พักและแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยในรูปแบบ “ไลฟ์สด” (Live Streaming) ที่กําลังเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดจีน

อีกกลยุทธ์สำคัญที่ต้องเร่งเครื่อง คือการ “ฟื้นเที่ยวบิน” เส้นทางระหว่างไทย-จีน เพื่อรองรับดีมานด์นักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากปัจจุบันยังมีจำนวนเที่ยวบินฟื้นตัวเพียง 30% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 

และร่วมกับพันธมิตรเสนอขายแพ็คเกจเที่ยวประเทศไทย ในเส้นทางข้ามชายแดนทางบก (R3A) ตั้งแต่คุนหมิง-สิบสองปันนา-เชียงราย รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยวแม่น้ำโขงด้วยเรือครุยส์ และเส้นทางรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) จีน-ลาว ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ สามารถพานักท่องเที่ยวจีนเดินทางเชื่อมต่อเข้าประเทศไทยได้ที่ จ.หนองคาย ทำให้นักท่องเที่ยวจีนได้สัมผัสกับสินค้าท่องเที่ยวในภาคอีสานมากขึ้น เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจึงถือเป็น “ของเล่นใหม่” ในภูมิภาคอาเซียน

“เป้าหมายของ ททท.ยังมุ่งฟื้นฟูนักท่องเที่ยวตลาดอื่นๆ ด้วย โดยปี 2566 จะมี 4 ตลาดที่ส่งออกนักท่องเที่ยวมาไทยทะลุ 1 ล้านคน”

นอกเหนือจากจีนแล้ว ยังมีตลาด “มาเลเซีย” ที่ปีนี้คาดฟื้นตัว 100% กลับมามีจำนวน 4 ล้านคนเท่ากับปี 2562 หลังจากปีที่แล้วเดินทางเข้าไทยเกือบ 2 ล้านคน อีกตลาดคือ “เกาหลีใต้” คาดการณ์ที่ 1.1-1.2 ล้านคน ส่วน “อินเดีย” คาดการณ์แตะ 1 ล้านคนเช่นกัน แต่ยังมีความท้าทายเรื่องการบังคับใช้มาตรการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ก่อนกลับเข้าประเทศ ททท.จึงได้ยืนยันไปยังสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้ก่อให้เกิดคลัสเตอร์การระบาดครั้งใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทางการอินเดียพิจารณาปลดล็อกมาตรการนี้โดยเร็ว

อีกกลยุทธ์ที่ ททท.จะใช้กับตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้คือ “Color Your Life by Amazing Thailand” จัดอีเวนต์แบบออนกราวนด์ เกาะเทรนด์ไลฟ์สไตล์ “Slice of Life” เช่น จัดงาน Amazing Thailand Fair ในตลาดต่างๆ รวมถึงเกาะเทรนด์ท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงอย่าง “Camping and Glamping” ด้วยการจัดงาน Amazing Thailand Camp ที่ 3 สำนักงาน ททท.ในประเทศญี่ปุ่นจะร่วมกันจัดในพื้นที่รอบภูเขาไฟฟูจิ เพื่อเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มแคมปิง ด้วยการนำเสนอกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “ซอฟต์พาวเวอร์ 5F” (Food, Film, Fashion, Fighting, Festival) ของไทย อาทิ ชวนทานหมูปิ้ง สอนทำอาหารไทย ชวนออกกำลังกายด้วยศิลปะมวยไทย ขณะที่กิจกรรมการตลาดออนไลน์ ทาง ททท.สำนักงานโซล เกาหลีใต้ กำลังพัฒนา “Virtual Influencer” เพื่อก้าวสู่โลกเสมือนจริง

ควบคู่กับการส่งเสริมตลาด “การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ” (Responsible Tourism) โดยเตรียมจัดงาน Reborn The Nature ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเกาะที่มีชื่อเสียง ผลิตนักดำน้ำมากที่สุดในโลก ด้วยการดึงนักดำน้ำศิษย์เก่าที่เกาะเต่ามาร่วมรียูเนียนในช่วงวันที่ 3-9 เม.ย.นี้

และอีกกลยุทธ์ที่ขาดไม่ได้คือ “Second Tier, Second To None” เพื่อเจาะฐานนักท่องเที่ยวที่อาศัยในเมืองรองประเทศเป้าหมาย 5 ตลาด ได้แก่ อินเดีย (ลัคเนา และอาห์เมดาบัด) มาเลเซีย (ซาบาห์ และยะโฮร์บาห์รู) เวียดนาม (ดานัง และญาจาง) เกาหลีใต้ (ปูซาน และแดกู) และจีน (เหอหนาน เหลียวหนิง และจี๋หลิน)

“ตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ถูกวางเป้าหมาย ทำจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ให้ได้ 72% ของเป้าหมายรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 25 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวน 18 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ทำได้ 7.98 ล้านคน คิดเป็น 67% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 11.8 ล้านคน ซึ่งเกินจากเป้าหมาย 10 ล้านคน”

ททท. เร่งทวงคืนตลาด \"จีน-เอเชีย\" ดันแคมเปญ \"ไทย-จีน ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน\"

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า หากพิจารณาเฉพาะ “นักท่องเที่ยวจีน” เดินทางเข้าไทยในช่วงเทศกาล “ตรุษจีน” ปีนี้ คาดว่าจะเดินทางเข้ามาราว 29,400 คน คิดเป็นการฟื้นตัว 7% ของจํานวนนักท่องเที่ยวจีนช่วงตรุษจีนปี 2562 และสร้างรายได้ประมาณ 1,013 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนในช่วงตรุษจีนปี 2562

“ในปี 2566 จํานวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนในช่วงตรุษจีนฟื้นตัวกลับมาในอัตราที่ไม่สูงมากนัก แม้มีปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางต่างประเทศได้ ด้วยการยกเลิกมาตรการกักตัวขาเข้า ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 เป็นต้นไป เนื่องจากยังมีอุปสรรคหลัก ทั้งจํานวนเที่ยวบินระหว่างไทยและจีนไม่สามารถฟื้นตัวได้ทัน นักท่องเที่ยวจีนต้องใช้เวลาในการทําหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ฉบับใหม่และการขอวีซ่าเข้าประเทศไทย รวมถึงรัฐบาลจีนยังไม่อนุญาตให้บริษัทนําเที่ยวขายแพ็คเกจทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศ” ผู้ว่าการ ททท.กล่าวปิดท้าย