ภูมิทัศน์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย

ภูมิทัศน์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ มีความสำคัญในด้านการลงทุนมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่าน หลังจากทั่วโลกเกิดปัญหาโรคโควิด 19 ระบาด เช่นเดียวกับไทยที่รัฐบาลให้การสนับสนุนในด้านนี้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ

  เครื่องมือแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพ การมีอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศที่แข็งแกร่ง นอกจากจะทำให้ประเทศมีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ยังสามารถต่อยอดอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve และ new S-curve  ได้แก่ อุตสาหกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (medical hub) ตามลำดับ

ภูมิทัศน์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย

คำถามสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ คือ ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมรับมือกับความท้าทายมากน้อยเพียงใดในแง่บทบาทต่อการรักษาความมั่นคงทางด้านสุขภาพและเป็นเครื่องจักรในการพัฒนาเศรษฐกิจ ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยเพื่อทำความรู้จักกับลักษณะทั่วไปและลักษณะเฉพาะของสินค้าในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

 

จากงานศึกษาของศูนย์ความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ไทยมีความได้เปรียบด้านทรัพยากร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ผู้ประกอบการไทยจึงมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกวัสดุทางการแพทย์ (single-use medical device) ที่ไม่มีความสลับซับซ้อนและไม่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง แต่สำหรับครุภัณฑ์ทางการแพทย์ (durable medical device)  และน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (reagent and test kit) ซึ่งต้องอาศัยความรู้เชิงเทคนิคและได้รับการรับรองคุณภาพจากศูนย์วิทยาศาสตร์ด้านเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังไม่มีความสามารถในการแข่งขันเพียงพอที่จะตีตลาดในต่างประเทศ

นอกจากนั้น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีลักษณะเฉพาะบางประการที่ไม่เหมือนกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ กล่าวคือ การซื้อเครื่องมือแพทย์ไม่ได้มาจากความต้องการซื้อของผู้ป่วยโดยตรง แต่มาจากบุคลากรทางการแพทย์ผู้ทำหน้าที่รักษาและพยาบาลผู้ป่วย เมื่อผู้ซื้อคือบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งยึดมั่นในคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องมือแพทย์เป็นสำคัญ

ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องลงทุนวิจัยและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยเทียบเท่าสากล เพื่อแข่งขันกับเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ และยังจำเป็นต้องทำการตลาดเพื่อทำให้บุคลากรทางการแพทย์เชื่อมั่นในเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตภายในประเทศอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งจึงต้องเผชิญกับรายจ่ายเพื่อการตลาดประมาณ 20-30% ของต้นทุนรวมทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการตลาดในอุตสาหกรรมอื่น ๆ

การลงทุนวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ไทยมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องมือแพทย์ งานศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรคซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จะมีสัดส่วนการลงทุนต่อยอดขายมากกว่า 10% เพื่อวิจัยและพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน ในขณะที่การลงทุนวิจัยและพัฒนาวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์จะขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานและระดับมาตรฐานของสินค้านั้น ๆ

ดังจะเห็นได้จากการลงทุนวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ภายในร่างกายมนุษย์และต้องการมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงมีการลงทุนมากกว่าร้อยละ 10 ต่อยอดขาย (บางรายสูงถึง 30%) แต่สำหรับวัสดุทางการแพทย์ที่ไม่ต้องใช้ความสลับซับซ้อน ไม่ได้ใช้ภายในร่างกายมนุษย์ และไม่ต้องการมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง ผู้ประกอบการจะมีลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาโดยมีสัดส่วนระหว่าง 5-10% เพียงเท่านั้น สัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญมาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

นอกจากปัจจัยด้านลักษณะเฉพาะของเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้งบลงทุนและการตลาดที่สูงแล้ว ผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ไทยยังจำเป็นต้องรับมือกับปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในระบบเศรษฐกิจ (สังคมผู้สูงอายุ) ลักษณะการทำงานของพนักงานบริษัทที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ฯลฯ) ได้ง่าย หรือความถี่ของการเกิดโรคระบาดที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

แนวโน้มดังกล่าวเป็นปัจจัยบวกที่กำหนดความต้องการเครื่องมือแพทย์ และเชื่อมโยงกับประเด็นความมั่นคงทางสุขภาพในอนาคต ในขณะที่วัสดุทางการแพทย์ อาทิ ข้อต่อ รากฟันเทียม อุปกรณ์สำหรับการตรวจวัดร่างกายภายในบ้าน จะเป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีความต้องการสูงขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามเหตุและปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจ

วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก การขาดแคลนวัสดุทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน (PPE) ในระยะแรกของการแพร่ระบาดทำให้เกิดความตระหนักถึง  ความจำเป็นถึงการเตรียม   ความพร้อมและการพัฒนามั่นคงทางด้านเครื่องมือแพทย์มากขึ้น การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภายในประเทศมีความสามารถในการแข่งขันและสามารถผลิตเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้มีใช้ได้เองภายในประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ในบทความอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ครั้งหน้า ผู้เขียนจะพาทุกท่านไปวิเคราะห์แนวนโยบายที่รัฐบาลเลือกใช้สำหรับการสร้างความมั่นคงทางด้านเครื่องมือแพทย์ต่อไป

ผศ.ดร.พนิต วัฒนกูล

ศูนย์ความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์