ท่องเที่ยวภูเก็ตขาด ‘แรงงาน’ กว่า 8 พันคน

การขาดแคลนแรงงานในจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะภาคธุรกิจด้านท่องเที่ยวและบริการต่างๆ ถ้าดูข้อมูลจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐที่สถานประกอบการแจ้งความต้องการไว้ ตำแหน่งงานว่าง 3,378 ตำแหน่ง มีผู้มาสมัครงานเพียง 387 คน ยังเหลือ 2,991 คน

นายดนัย สุนันทารอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลดลง คนส่วนใหญ่สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตได้กับโรคดังกล่าว ประกอบกับประเทศไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวสนใจมาเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นลำดับแรกๆ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 ภูเก็ต พบว่า มีผู้เยี่ยมเยือนจำนวนมากกว่า 4 ล้าน 2 แสน คน เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 726.52 เป็นชาวต่างชาติมากกว่า 2 ล้าน 9 แสนคน ในเดือนมกราคม และเดือนต่อไป จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่านี้จากการที่จีนอนุญาตให้คนในประเทศเดินทางออกได้ ส่วนใหญ่พักในโรงแรม/รีสอร์ท ร้อยละ 93.33 สร้างรายได้หมุนเวียนให้กับจังหวัดมากถึง 148,236 ล้านบาท(หนึ่งแสนสี่หมื่นแปดพันสองร้อยสามสิบหกล้านบาท) เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 1,276.35 (หนึ่งพันสองร้อยเจ็ดสิบหกจุดสามห้า)เป็นรายได้ที่มาจากชาวต่างชาติ 133,409.63 ล้านบาท

" เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งประเทศพบว่าภูเก็ต เป็นที่ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร ส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะภาคธุรกิจด้านท่องเที่ยวและบริการต่างๆ ถ้าดูข้อมูลจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐที่สถานประกอบการแจ้งความต้องการไว้ ตำแหน่งงานว่าง 3,378 ตำแหน่ง มีผู้มาสมัครงานเพียง 387 คน ยังเหลือ 2,991 คนหรือยังขาดอีกประมาณ 3,000ตำแหน่ง ซึ่งต้องหาแรงงานสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวหลังจากมกราคมไปแล้ว เมื่อประเทศจีนอนุญาตให้คนของเขาออกนอกประเทศได้จะทำให้มีคนเข้ามาอีกเท่าทวีคูณ

จังหวัดภูเก็ตมีการวางแผนแก้ปัญหาในระยะสั้นให้บูรณาการในจังหวัดภูเก็ตกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและประสานวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ตนำนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายป้อนเข้าตลาดแรงงาน การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ในส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวจัดหาแรงงานเข้ามาจากต่างพื้นที่ให้เพียงพอกับความต้องการ ให้สมัครงานหรือติดต่อนายจ้างผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อประหยัดค่าเดินทางและที่พักในการมาสมัครงาน" นายดนัย กล่าว และว่า

เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่แจ้งมาจากผู้ประกอบการ อาจจะมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ได้มีการดำเนินงานของจังหวัดภูเก็ตต่อการแก้ไขปัญหาความต้องการแรงงาน คือ พยายามดูตำแหน่งงานว่างที่ชัดเจน เพื่อจัดหาแรงงานมาให้ในจำนวนที่เพียงพอบูรณาการการการจัดการด้านแรงงานระหว่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานใน จ.ภูเก็ต ผ่านการประชุมร่วมกับผู้ว่าฯ เช่น การประชุมเสมากาแฟ ทุกวันพฤหัสบดีหรือ การประชุมร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.ภูเก็ต ในวันพุธ เวลา08.00น. โดยประมาณ มีสถานประกอบการ หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน,กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกระทรวง พม.เป็นต้น ได้ผลที่ดีคือ การพัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมการเรียนการสอนให้กับกลุ่มคนครอบคลุมทุกกลุ่ม สำหรับให้มาทำงาน เป็นการดูแลสนับสนุนให้จังหวัดภูเก็ตไม่ขาดแรงงานอีกต่อไปในอนาคต ทุกฝ่ายกำลังขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง