5 ปี”ประยุทธ์”อัด 2.8 แสนล้านอุ้มคนจนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

5 ปี”ประยุทธ์”อัด 2.8 แสนล้านอุ้มคนจนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

5 ปี”ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นายกรัฐมนตรี ได้ใช้งบประมาณอุ้มคนจนผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 2.8 แสนล้านบาท

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนกำลังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงของหลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะในฝั่งของรัฐบาล จะเห็นได้จากกระแสข่าวสั่งการให้กระทรวงการคลังเตรียมเพิ่มสิทธิต่างๆในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ในปี 2565 เหตุเพราะจำนวนผู้ที่มีสิทธิในบัตรหลายสิบล้านคนนั้น นับเป็นฐานเสียงสำคัญที่พรรคการเมืองต่างคาดหวัง 

ขณะที่ กระทรวงการคลัง เตรียมประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติจากการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ในช่วงปลายเดือนม.ค.นี้ และ จะเริ่มใช้สิทธิในบัตรรอบใหม่ครั้งแรกในวันที่ 1 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มใช้มาตั้งแต่ปีใด จำนวนผู้ใช้สิทธิในแต่ละปีมีเท่าไหร่ สิทธิประโยชน์มีอะไรบ้างรวมถึง รัฐบาลต้องใช้งบประมาณสำหรับโครงการนี้จำนวนเท่าใดในแต่ละปี วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์มีคำตอบ

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มใช้ตั้งแต่ปีไหน

1.โครงการลงทะเบียนเพื่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560 โดยผู้มีสิทธิสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2560

2.โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มเติมภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือ ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 โดยผู้มีสิทธิสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562

จำนวนผู้ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในแต่ละปี

ปี 2561 มีผู้ใช้สิทธิจำนวนประมาณ 11.46 ล้านคน

ปี 2562 มีผู้ใช้สิทธิจำนวนประมาณ 14.50 ล้านคน

ปี 2563 มีผู้ใช้สิทธิจำนวนประมาณ 13.94 ล้านคน

ปี 2564 มีผู้ใช้สิทธิจำนวนประมาณ 13.80 ล้านคน

ปี 2565 มีผู้ใช้สิทธิจำนวนประมาณ 13.51 ล้านคน

ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในบัตรแต่ละปี

ปี 2561 ใช้งบจำนวนประมาณ 4.32 หมื่นล้านบาท

ปี 2562 ใช้งบจำนวนประมาณ 9.31 หมื่นล้านบาท

ปี 2563 ใช้งบจำนวนประมาณ 4.67 หมื่นล้านบาท

ปี 2564 ใช้งบจำนวนประมาณ 4.81 หมื่นล้านบาท

ปี 2565 ใช้งบจำนวนประมาณ 4.91 หมื่นล้านบาท

รวม 5 ปี ใช้งบกว่า 2.8 แสนล้านบาท

สิทธิประโยชน์ในช่วงเริ่มและปัจจุบัน

1.วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภค

2.วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม

3.วงเงินค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้า

4.วงเงินค่าโดยสารรถบริษัทขนส่ง จำกัด

5.วงเงินค่าโดยสารรถไฟ

อย่างไรก็ดี ในแต่ละปี รัฐบาลก็จะจัดสรรสวัสดิการผ่านมาตรการต่างๆเพิ่มเติม อาทิ มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า มาตรการบรรเทาค่าน้ำประปา มาตรการเงินเพิ่มเบี้ยความพิการ มาตรการช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตร มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพแก่เกษตรกร เป็นต้น