‘มาม่า’ มุ่งสู่เป้ายอดขาย 30,000 ล. ฟันธงตลาดบะหมี่ฯ ปี 66 มีแรงส่งโต

‘มาม่า’ มุ่งสู่เป้ายอดขาย 30,000 ล. ฟันธงตลาดบะหมี่ฯ ปี 66 มีแรงส่งโต

แม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะตบเท้าขึ้นราคาในปี 2565 แต่สถานการณ์ต้นทุนผลิตสูงยังวางใจไม่ได้ เพราะมีสารพัดปัจจัยเตรียมก่อหวอดผลกระทบใหม่ๆ "มาม่า" มองปี 66 ตลาดบะหมี่ฯ ยังโตได้ 5% แต่การเคลื่อนธุรกิจต้องเตรียมพร้อม รับความเปลี่ยนแปลงที่เร็วและแรงมากแน่นอน

ตามแผนฉลองครบรอบ 50 ปี “มาม่า” มีเป้าหมายจะสร้างยอดขายแตะ 30,000 ล้านบาท ทว่า เหตุการณ์ไม่คาดคิดมาเยือน วิกฤติโควิดลามโลก กลายเป็นแตะเบรกการเติบโต ไม่เพียงเบอร์ 1 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่หลายธุรกิจเผชิญโจทย์ท้าทายการอยู่รอดอย่างยิ่ง

ปี 2566 “มาม่า” กลับมาองตัวเลขการเติบโตเดิมอีกครั้ง แต่มองบริบทธุรกิจต้องรับมือสารพัดตัวแปรมากขึ้น

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ฉายภาพปี 2566 ธุรกิจยังต้องรับมือความเปราะบางหลายด้าน เริ่มจาก “ต้นทุน” การผลิตบะหมี่ฯ ที่ยังมีสัญญาณราคาน้ำมันปาล์มขยับ แป้งสาลีต้องเกาะติด เพราะปี 2566 บริษัทรับมือราคาแป้งสาลีผันผวน พุ่งรุนแรง จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงน้ำมันปาล์ม และวัตถุดิบอื่นๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ ฯ ขยับขึ้นถ้วนหน้า

การรับแรงกระแทกต้นทุนหนักหนาในรอบ 50 ปี ทำให้บริษัทรวมถึงบิ๊กแบรนด์บะหมี่ 5 รายในตลาด ขอรัฐปรับขึ้นราคาจากซองละ 6 บาท เป็น 7 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบ

ทว่า หากต้นทุนพุ่งต่อเนื่อง แล้วราคาที่ปรับไม่สามารถต้านทานไหว และการเป็น "สินค้าควบคุมราคา” คำถามที่ตามมา จะทำอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนต่อโดยไม่ได้รับผลกระทบ สถานการณ์ดังกล่าว จึงกลายเป็นหนึ่งในโจทย์การวางแผนกลยุทธ์การค้าและลงทุนของปี 2566

“วัตถุดิบในการผลิตบะหมี่ฯ ยังมีความเสี่ยง นอกจากตัวแปรด้านสงคราม ยังมีความมั่นคงด้านอาหารด้วย ขณะที่ตลาดบะหมี่ฯในไทยถือเป็นสินค้าควบคุม การขึ้นราคาตามจริงสอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มทำได้ยาก เพราะมีปัจจัยอื่นต้องพิจารณา”

‘มาม่า’ มุ่งสู่เป้ายอดขาย 30,000 ล. ฟันธงตลาดบะหมี่ฯ ปี 66 มีแรงส่งโต ผลการดำเนินงาน 9 เดือน ปี 2565

ดังนั้น บริษัทจึงมองการขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง ซึ่งปี 2566 จะเห็นการเปิดโรงงานใหม่ที่เมียนมาช่วงเดือนมกราคมนี้ หลังจากเลื่อนการเปิดหลายระลอก รวมถึงการพิจารณา การลงทุนสร้างโรงงานใหม่ในประเทศกัมพูชา อาจชะลอแผน แต่หากเดินหน้ารุกอาจเป็นขยายในพื้นที่ใหม่ซึ่งบริษัทซื้อที่ดินรองรับไว้แล้ว หรือเป็นการปรับปรุงโรงงานเดิม ขยายกำลังการผลิตบะหมี่ฯแทน

ปี 2566 บริษัทวางงบลงทุนปกติ(CAPEX) ประมาณ 500-600 ล้านบาท เพื่อบำรุงรักษาเครื่องจักร ปรับปรุงโรงงาน ดูแลการผลิตต่างๆ ทว่า อีกกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในปีนี้ คือการผนึกกับพันธมิตร เพื่อลุยโปรเจคใหม่ๆ 2-3 รายการ ส่วนรายละเอียดยังไม่สามารถบอกได้

“ปีหน้าจะเพิ่มไลน์การผลิตบะหมี่ฯ ส่วนระยะยาว 3 ปี บริษัทยังมีแผนลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนใหญ่ แต่ต้องพิจารณาเชิงกลยุทธ์ การมีฐานที่รองรับโลจิสติกส์ หรือเลือกสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นสำคัญ”

ขณะที่การออกสินค้าใหม่ยังเป็นหัวใจสำคัญในการทำตลาด บริษัทมองเทรนด์การตอบโจทย์ผู้บริโภครักสุขภาพมากขึ้น ส่วนสินค้าหลักที่เน้นความอร่อยจัดเต็ม ต้องทำโปรโมชั่นสร้างการเติบโตเช่นกัน

พันธ์ วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2566 นอกจากกลุ่มคนรักสุขภาพขยายตัว ด้านกำลังซื้อเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่มีความหรูหรามากขึ้น หรือกลุ่มที่ถูกนิยามว่า High Earner Not Rich Yet เช่น ยอมใช้เงินที่มีเพื่อซื้อบัตรคอนเสิร์ตราคาแพง บ้างมีช่องทางหาเงินด้วยการขอสินเชื่อหรือกู้เงิน เพื่อนำมาใช้จ่ายดังกล่าว

‘มาม่า’ มุ่งสู่เป้ายอดขาย 30,000 ล. ฟันธงตลาดบะหมี่ฯ ปี 66 มีแรงส่งโต

“สิ่งที่เห็นคือสินค้าจำเป็นเหนื่อย แต่การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยให้กับสินค้าราคาแพง บัตรคอนเสิร์ตแพงๆ หรือรับประทานอาหารร้าน 4-5 ดาว มีให้เห็นมากขึ้น สะท้อนภาพผู้บริโภคต้องการใช้เงินเพื่อสร้างความสุข แต่ประหยัดใช้จ่ายสินค้าจำเป็น ซึ่งวิถีดังกล่าวต้องจับตาดูว่าจะเกิดขึ้นนานแค่ไหน”

นอกจากนี้ ยังมองตัวแปรอื่นๆที่จะกระทบเศรษฐกิจ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่คู่ขัดแย้งถัดไป คือสหรัฐ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และจีน โดย “ญี่ปุ่น” พลิกนโยบายทางการทหารจากมีกองกำลังป้องกันตนเอง ได้หันมาทุ่มงบซื้ออาวุธสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นในการตัดสินใจด้านการลงทุนขนาดใหญ่

“ภูมิรัฐศาสตร์โลกเป็นสถานการณ์เปราะบาง และที่น่าเป็นห่วงคือญี่ปุ่นพลิกนโยบายสร้างกองกำลังทหารเชิงรุก ทุ่มเงินซื้ออาวุธสร้างแสนยานุภาพ เป็นตัวแปรใหม่ในภูมิภาค ซึ่งสงครามรัสเซีย-ยูเครนจบหรือไม่ ไม่รู้ แต่สหรัฐ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีนรออยู่แล้ว ภาพนี้เป็นแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ การตัดสินใจลงทุนใหญ่”

ส่วนเทรนด์อื่นๆที่ต้องเกาะติดบริบททางธุรกิจ เดิมสตาร์ทอัพ คริปโตเคอร์เรนซีร้อนแรงและเป็น “ความหวัง” ปัจจุบันแผ่วลงมาก ถูกมองเชิงลบ เช่น ลวงโลก ทำให้การพิจารณาเทคโนโลยี ตัวแปรที่จะมา “ดิสรัป” ธุรกิจ ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อที่บริษัทจะเตรียมปรับตัวให้พร้อมการเปลี่ยนแปลง

‘มาม่า’ มุ่งสู่เป้ายอดขาย 30,000 ล. ฟันธงตลาดบะหมี่ฯ ปี 66 มีแรงส่งโต

ปี 2566 เราต้องกลับมาเตรียมการ Hope for the best and prepare for the worst ภายใต้สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เร็วและแรงมากอย่างแน่นอน อย่างปีก่อนเรามองเศรษฐกิจปีนี้โต มาตอนนี้เปลี่ยนแล้ว เพราะแทบไม่เห็นปัจจัยบวกเลย คริปโตฯที่เป็นความหวังของหลายคน ก็ตกลง เราจึงเดินตามสิ่งที่คุณพิพัฒ พะเนียงเวทย์ (ประธานกรรมการบริษัท) ย้ำเรื่องการระมัดระวัง ให้มีความทันสมัยแต่ไม่ต้องถึงขั้นนำสมัยแต่ต้องไม่ตกขบวน และใช้แนวทางเศรษฐกิจพิเพียง มีสติ ภูมิต้านทาน มองซ้ายขวา พุ่งไปข้างหน้าแล้วต้องกลับมามองซ้ายขวาอยู่เสมอ”

สำหรับภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคหมวดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปี 2566 มองว่ายังมีโอกาสเติบโตระดับ 5% เนื่องจากผู้บริโภคยังรับประทานอาหาร 3 มื้อดังเดิม แต่เน้นความอร่อยมากขึ้น หากเมื่อไหร่ที่เงินในกระเป๋าลดลง จึงจะหันมาประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนปี 2565 ตลาดบะหมี่หมื่นล้านบาท เติบโตราว 5-6% จากการปรับราคาสินค้าทั้งตลาด แต่เชิงปริมาณช่วงปลายปีหดตัวลงเล็กน้อย จากปัจจัยอื่น เช่น สินค้าจำเป็น และเครื่องดื่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนมพร้อมดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะปรับราคาร้านค้าจึงสต๊อกสินค้า

จากแผนดังกล่าว บริษัทมองเปาหมายขอดขายปี 2566 เติบโต 5% เหมือนทุกปี และคาดหวังจะเห็นยอดขายแตะ 30,000 ล้านบาท

“แม้ภาพรวมจะมองไม่ค่อยเห็นปัจจัยบวกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2566 แต่เชื่อว่าที่ผ่านมาภาคธุรกิจเผชิญจุดต่ำสุดแล้ว”