ค่ายรถเลือกไทย 'ฮับผลิต EV’ ภูมิภาค ‘บีโอไอ’ ชี้ตลาดโต – มาตรการหนุน

ค่ายรถเลือกไทย 'ฮับผลิต EV’ ภูมิภาค  ‘บีโอไอ’ ชี้ตลาดโต – มาตรการหนุน

“บีโอไอ” ชี้ไทยติดโผ ประเทศไทยน่าลงทุนอีวีที่สุดในภูมิภาค หลังตลาดโตก้าวกระโดด ค่ายรถเล็งขยายฐานเข้าไทย ชี้สถานีชาร์จขยายตัวตามดีมานต์รถ ปรับสมดุลเข้าหากันระหว่างผู้ลงทุนจุดชาร์จกับผู้ใช้ ระบุเฉพาะยอดส่งเสริมของบีโอไอ 5 โครงการมีแล้ว 9,000 หัวจ่าย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยถือว่าเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีความโดดเด่นที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค โดยในปีที่ผ่านมามีค่ายรถผู้ผลิตรถ EV ระดับโลกที่เป็นผู้นำในอุตสาหกกรมนี้เข้ามาเปิดตัวทำตลาดในประเทศไทยจำนวนมาก

 ได้แก่ เทสล่า MG GWM และ BYD และล่าสุดโตโยต้าได้มีการเปิดตัวทั้งรถทั้งที่เป็นรูปแบบ Battery Electric Vehicle (BEV) และรถไฟฟ้าที่เป็นโมเดลใหม่เช่น รถกระบะไฟฟ้าที่อนาคตน่าเข้ามาทำตลาดในไทยทำให้ตลาดรถ BEV ในไทยมีความคึกคัก มีความโดดเด่นมากในภูมิภาค โดยในการเลือกแหล่งการผลิต EV ของค่ายรถนั้นประเทศไทยถือว่าอยู่ในจอเรดาของค่ายรถที่จะใช้เป็นฐานการผลิต โดยในระยะต่อไปบริษัทที่นำรถ EV เข้ามาขายก่อน จากนั้นจึงเป็นสเต็ปของการรับจ้างผลิต การร่วมทุน และการตั้งโรงงานเพื่อผลิตรถ EV ในประเทศไทย เชื่อว่าในอีก 1 – 2 ปี จะเห็นพัฒนาการของ EV ในบ้านเราอีกมาก ​

เมื่อถามว่านอกจากการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถ EV ของจีนแล้ว เราจะเห็นค่ายรถยนต์ประเทศอื่นๆ ที่มีการประกาศการลงทุนหรือไม่ เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่าต้องใช้เวลา เนื่องจากค่ายรถแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน โดยในส่วนของจีนนั้นมีความพร้อมทั้งแง่ของบริษัทการผลิต และเทคโนโลยี EV ที่มีความเชี่ยวชาญจึงสามารถ ขณะที่ค่ายรถของประเทศอื่นๆอาจต้องใช้เวลาสักระยะ โดยหลายค่ายที่เห็นกระแสตอบรับของตลาดรถ EV ในไทย แล้วยังไม่มีฐานการผลิตในไทย ค่ายรถต่างๆก็จับตามอง และกำลังตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

“เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคแล้วตลาดรถ EV ของประเทศไทยนั้นมีความโดดเด่นอย่างมาก และไม่ใช่ตลาดที่ผู้ผลิตรถ EV จากทั่วโลกจะสามารถมองข้ามได้” นายนฤตม์ กล่าว

ค่ายรถเลือกไทย \'ฮับผลิต EV’ ภูมิภาค  ‘บีโอไอ’ ชี้ตลาดโต – มาตรการหนุน

นายนฤตม์ ยังกล่าวถึงความพร้อมของสถานีบริการเติมไฟฟ้า หรือ “charging station” เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของรถ EV ในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาเป็นเรื่องของไก่กับไข่ระหว่างผู้ลงทุนติดตั้งปั๊ม EV กับผู้ซื้อรถที่รอดูว่าสถานีชาร์จจะเพียงพอหรือไม่ โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการปรับตัวเข้าหากันของกลไกตลาด คือช่วงปีที่ผ่านมาพอเห็นดีมานต์รถยนต์ EV ที่มีคนซื้อมากขึ้นมีการติดตั้งสถานีชาร์จมากขึ้นและติดตั้งรวดเร็วมากขึ้น

ขณะเดียวกันจุดที่ติดตั้งมากขึ้นก็คือในพื้นที่ที่มีคนเดินทางไปมากคือห้างสรรพสินค้า ค่ายรถเริ่มทำสถานีชาร์จ และมีโมเดลใหม่ในการลงทุน Super fast charge ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุนในส่วนนี้ของภาคเอกชนอีกมาก ซึ่งมาตรการที่มีอยู่ในการส่งเสริมการลงทุนของสถานีชาร์จ EV ในขณะนี้ยังเพียงพอที่จะดึงดูดการลงทุน

โดยปัจจุบันบีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนในส่วนของสถานีชาร์จไปทั้งสิ้น 5 โครงการจาก 5 บริษัท มียอดสะสมทั้งหมดกว่า 9,000 หัวจ่ายซึ่งคาดว่าจากดีมานต์ที่เพิ่มขึ้นของรถ EV จะทำให้เป้าหมาย 2030 ทั้งเรื่องการผลิตรถ EV ในปรเทศ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด หรือคิดเป็น 725,000 คัน และเป้าหมายของการจำหน่ายรถ EV ในประเทศ 50% ของการขายนรถยนต์ในประเทศ หรือประมาณ 440,000 คันในปี2030 สามารถทำได้ตามเป้าหมาย 

สำหรับความคืบหน้าของการสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ในประเทศไทย ในภาพรวมคาดว่าจะเริ่มเห็นการลงทุนที่ชัดเจนขึ้นตามดีมานต์รถ EV ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจากดีมานต์นั้นทำให้หลายบริษัทเห็นโอกาสที่จะเข้ามาลงทุนในไทยทั้งการผลิตรถ EV และการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีสูง

โดยจะมีทั้งโรงงานที่ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV โดยเฉพาะซึ่งได้เห็นการลงทุนของภาคเอกชน เช่น การร่วมลงทุนของ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) และContemporary Amperex Technology Co., Limited(CATL)ซึ่งจะร่วมกันศึกษา การผลิตเทคโนโลยีCell-To-Pack(CTP) ของCATLซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่ช่วยจัดเก็บเซลล์แบตเตอรี่ได้โดยตรง โดยโครงการนี้มีการประกาศร่วมลงทุนในช่วงกลางปีแต่โครงการยังไม่มาถึงขั้นตอนการขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

ส่วนรายอื่นๆที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถ EV ในประเทศไทยนั้นมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศหลายรายที่เข้ามาสอบถาม และแสดงความสนใจในการลงทุน โดยเมื่อเร็วๆนี้บอร์ดบีโอไอได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของบริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศ 1 ราย ซึ่งเป็นซัพพายเชนของบริษัทรถ EV ที่เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทย โดยในเฟสแรกจะเป็นการทำแบบการผลิตแบตเตอรี่ EV ที่เป็นโมดูล และในระยะกลางจะเป็นรูปแบบเซลล์

“การลงทุนของบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่นั้นจะมีการลงทุนเป็นเฟสๆ และเวลาลงทุนทำแบตเตอรี่รถ EV นั้นมีแบตเตอรี่หลายประเภท ตั้งแต่ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และรถ EV และมีหลายรูปแบบเช่น แพค โมดูล และเซลล์ ซึ่งเป็นค่อยๆไต่ระดับเพิ่มไป”

นอกจากนั้นการลงทุนในเรื่องแบตเตอรี่นั้นบีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในลักษณะที่ค่ายรถยนต์มีการลงทุนเอง เช่น โตโยต้า ฮอนด้า ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ ซึ่งผลิตแบตเตอรี่ให้กับเบนซ์ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ ของค่ายรถ MG บริษัท นิสสันพาวเวอร์เทรนด์ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นแบตเตอรี่ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด เป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ใช่ในกลุ่มของ BEV ซึ่งจะมีการส่งเสริมให้ลงทุนมากขึ้นโดยมาตรการสนับสนุนต่างๆ

เมื่อถามว่าโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ของรถ BEV นั้นเข้าข่ายที่จะขอรับการสนับสนุนในส่วนของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันหรือไม่ เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีการยื่นขอการสนับสนุนเข้ามาหากมีการยื่นขอสนับสนุนการลงทุนมาในช่องทางนี้ก็ต้องมีการพิจารณา อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังไม่มีบริษัทใดมาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่องทางนี้โดยต้องเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยดูในเรื่องเงื่อนไขว่าเข้าข่ายที่จะได้รับการสนับสนุนหรือไม่ เป็นเทคโนโลยีใหม่หรือไม่ และเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากแค่ไหนต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมก็จะสามารถขอรับการสนับสนุนได้เช่นกัน