ส่องบทสรุป 'ฟุตบอลโลก 2022' และปรากฏการณ์ในแวดวงธุรกิจกีฬาสุดยิ่งใหญ่

ส่องบทสรุป 'ฟุตบอลโลก 2022' และปรากฏการณ์ในแวดวงธุรกิจกีฬาสุดยิ่งใหญ่

ฟุตบอลโลก 2022 จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ที่ประเทศกาตาร์ เศรษฐีน้ำมันเป็นเจ้าภาพ ไม่เพียงทุ่มทุนมหาศาลเพื่อกีฬาใหญ่ แต่ธุรกิจที่ผูกกับฟุตบอล ยังมีปรากฏการณ์มากมายเกิดขึ้น จากระดับโลกถึงเมืองไทย มีอะไรบ้าง ติดตาม

จบมาร่วมสัปดาห์แล้วสำหรับมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติอย่าง “ฟุตบอลโลก 2022” ซึ่งมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนฟาดแข้งจนถึงนัดชิง ปิดสนาม หลังเกมยังมี “ดราม่า” ตามมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวนักเตะ

หากจะสรุปปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในฉบับย่อ ตั้งแต่ออกสตาร์ทจนจบ มีดังนี้

1.ประเทศกาตาร์ กลายเป็นเจ้าภาพที่ใช้เงินลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สนามการแข่งขันต่างๆ รวมแล้วเป็นเงินถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.5 ล้านล้านบาท ทุบทุกสถิติการลงทุนของเจ้าภาพฟุตบอลโลกก่อนหน้านี้หลายเท่าตัว!

การลงทุนขนาดนี้ได้ เพราะประเทศมีความมั่งคั่ง จากทรัพยากรปิโตรเลียม เป็นรากฐานเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง

2.เกาหลีใต้ ยังคงแผ่อิทธิพล K-Pop อย่างต่อเนื่อง นอกจากไอดอลบอยแบนด์อย่าง BTS จะมีชื่อเสียงไปทั่วโลก สร้างเงินมหาศาลให้กับค่ายเพลงและประเทศเกาหลีใต้ แต่การที่หนึ่งในศิลปินของบีทีเอสอย่าง “จองกุก” ได้ร้องเพลงและทำการแสดงใน พิธีเปิดฟุตบอลโลก 2022 ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของเกาหลีใต้ในการส่งออก Soft Power เขย่าโลกต่อไป ที่สำคัญเป็นการ “เปิดตลาด” ตะวันออกกลาง ที่สามารถโกยผู้ชมนับ “พันล้านคน” พร้อมกันทีเดียว

3.นอกจากศิลปินเกาหลีใต้ จะเรียกเสียงกรี๊ดจากแฟน สาวก K-Pop ได้แล้ว นักเตะของแดนโสม “โช กยู ซอง” ที่มีโอกาสลงสนาม ก็คว้าใจสาวๆ แฟนบอลได้ในพริบตา และการันตีด้วยยอดผู้ติดตาม(Follower)บนอินสตาแกรม(IG) พุ่งพรวดๆ จาก 30,000 Followers ปัจจุบันคือ 2.9 ล้านราย สิ่งที่ตามมาคือ มูลค่าในเชิงธุรกิจ ทำให้แบรนด์สนใจ รวมถึงสื่อ จนได้ถ่ายแบบกับ VOUGE KOREA เป็นต้น

ส่องบทสรุป \'ฟุตบอลโลก 2022\' และปรากฏการณ์ในแวดวงธุรกิจกีฬาสุดยิ่งใหญ่

4.เรื่องวุ่นๆที่ไทยต้องหาเงินซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 กลายเป็นประเด็นร้อนแรงจนวินาทีสุดถ่าย ก่อนแมตช์ฟาดแข้งจะเริ่ม เพราะประเทศไทย ไร้ “เจ้าภาพ” ออกเงิน มีแต่รับหน้าเสื่อตามหา “นายทุน” ควักเงินซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ดูหน่อย ท้ายที่สุด กสทช.ต้องดึงเงินจากกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท มาตั้งต้น

5.เอกชน 5 ราย ลงขันเกือบ 500 ล้านบาท ได้แก่ กลุ่มทรู ปตท.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก(โออาร์) ไทยออยล์ และไทยเบฟเวอเรจ โดย 4 รายหลัง เลือกสิทธิ์โฆษณาตามสัดส่วนการสนับสนุนหรือสปอนเซอร์ ขณะที่กลุ่มทรู ทุ่มทุนเพื่อสนับสนุนทั้งการได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดทางทีวีดิจิทัล ถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์(โอทีที) และโฆษณา

6.ผู้บริโภคเลือกข้าง #ทีมทรู และทัวร์ลงคนเห็นต่าง จะเห็นว่าช่วงที่คนไทยรู้แล้วว่าได้ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ครบทุกแมตช์ แบบจุกๆ แต่ระหว่างนั้นสังคมถกเถียงกันถึงบางแพลตฟอร์มจะไม่ได้รับชม แบบ “เท่าเทียม ทั่วถึง” ยิ่งกว่านั้น เงินตั้งต้นจาก กองทุน กทปส. 600 ล้านบาท ที่มาจากภาคเอกชนทีวีดิจิทัล ซึ่งถูกนำมาใช้ “ผิดวัตถุประสงค์” ไม่พอ การจับฉลาก จัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ยังไม่เท่าเทียม เพราะได้ไปเพียงช่องละ 1 แมตช์ เรื่องวุ่นๆ จึงตามมา ทั้งการยื่นหนังให้ กสทช.แก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว

เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้บริโภคจึงก่นด่าทั่วบ้านทั่วเมือง ว่าทีวีดิจิทัลไม่ออกเงิน แต่อยากได้สิทธิ์ไปถ่ายทอดสด ทำให้แฟนบอลจำนวนมาก ถกเถียงประเด็นนี้และ “เลือกข้าง” ขออยู่ #ทีมทรู ในฐานะควักเงินลงทุนเพื่อคนไทย

ทว่า เรื่องไม่จบ เพราะถ่ายทอดจริง ยังมีบางช่อง ทีวีบางระบบ บางกล่องดูไม่ได้ จนกระทั่งวันสุดท้าย การกลับขั้ว “ด่า” จึงมีให้เห็นบ้าง โดยเฉพาะการต้องลงทุนซื้อกล่องทรูไอดี “ผูกยาว” ทั้งปี ทั้งที่บอลโลกถ่ายทอดเพียง 1 เดือน ทำให้ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่าย

7.บทเรียน กสทช. ใช้เงิน 600 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก “ล้มเหลว” และควรสังคายนากฎ กติตาต่างๆ ที่กสทช.คลอดออกมาช่วงเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ทั้ง ยกเลิก! กฎมัสต์ แฮฟ และปรับ มัสต์ แครี่ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้แล้ว ไม่เช่นนั้น จะไม่เห็นเอกชนอยากลงทุนซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬาใหญ่ๆมาถ่ายทอด เพราะล่าสุด “ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน”หรือ AFF ผู้บริโภคคนไทยอด ทั้งที่ทีมชาติไทยเป็นเจ้าสนาม รายการนี้อยากดูต้องผ่านช่องทางธรรมชาติ

ส่องบทสรุป \'ฟุตบอลโลก 2022\' และปรากฏการณ์ในแวดวงธุรกิจกีฬาสุดยิ่งใหญ่ 8.ผู้บริโภคเข้าใจเรื่อง “ลิขสิทธิ์” มากขึ้น ไม่เพียงปมปัญหาใครจะควักเงินซื้อไลเซ่นส์รายการฟุตบอลโลกมาถ่ายทอดให้ดู แต่ปัจจุบันการมีแพลตฟอร์มโอทีที ที่ต้องจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยรู้ว่า “คนจ่ายเงินได้ดู คนไม่จ่ายย่อมไม่ได้ดู หรือดูได้เท่าที่อนุญาต”นั่นเอง

9.ทุ่มเงิน “พันล้านบาท” เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 แต่ “เงินโฆษณา” สะพัดแค่ 136 ล้านบาทเท่านั้น เรียกว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดินเป็นประวัติการณ์ เพราะปกติรายการกีฬาระดับโลก และใหญ่ขนาดนี้ ต้องเห็นแบรนด์แห่เทงบทำแคมเปญสื่อสารการตลาดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

การรู้ผลว่าคนไทยจะได้ดูบอลหรือไม่ ยังเป็นเหตุผลที่ทำให้แบรนด์ วางแผนไม่ทันด้วย มีบางส่วนเท่านั้นที่ยืดหยุ่นการใช้งบโฆษณา

10.เยอรมัน VS ญี่ปุ่น แมตช์ใหญ่ “เรทติ้ง” สูงสุด อาจเป็นเรื่องที่แปลกใจเล็กน้อย ที่เรทติ้งสูงสุด ไม่ใช่ “คู่ชิง” ที่มันส์! หยุดโลก อย่าง “ฝรั่งเศส VS อาร์เจนตินา” เพราะต่างก็มีสตาร์ในทีมมากมาย ยิ่งกว่านั้น ทั้ง 2 ยังขับเคี่ยวแย่ง “ดาว” ดวงที่ 3 มาอยู่บนเสื้อทีมชาติด้วย

ทว่า คู่ที่สามารถโกยเรทติ้ง “อันดับ 1” ที่ 6.53 กลายเป็นนัด “เยอรมัน” ปะทะ "ซามูไร บลู" หรือ ญี่ปุ่น นั่นเอง สาเหตุเพราะ “ช่อง 7” ถ่ายทอดเพียงช่องเดียว ไม่มีช่องอื่นแย่ง Eye ball ของคนดู และเวลาถ่ายทอดสดดีด้วย ขณะที่นัดชิง ฝรั่งเศส กับอาร์เจนตินา โกยเรทติ้งไป 4.32 ซึ่ง “ช่อง7” ถ่ายทอดคู่กับช่อง “ทรูโฟร์ยู” มีการแบ่งฐานคนดูไป ทำให้กระจายเรทติ้งกันไป

11.ส่อง 10 อันดับเรทติ้งสูงสุดช่วงถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัดหรือเอ็มไอ นำมาสังเคราะห์ให้ ดังนี้(ฐานคนดูอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ)

-เยอรมนี - ญี่ปุ่น (รอบ 32 ทีม)ช่อง 7 เวลา 20.00 น. เรทติ้ง 6.35

-อาร์เจนติน่า - ฝรั่งเศส (รอบชิงชนะเลิศ) ช่อง 7 และทรูโฟร์ยู เวลา 22.00 น. เรทติ้ง 4.32

-อุรุกวัย - เกาหลีใต้ (รอบ 32 ทีม) ช่องT Sports 7 และทรูโฟร์ยู เวลา 20.00 น. เรทติ้ง 3.89

-โปแลนด์ - ซาอุดีอาระเบีย (รอบ 32 ทีม)ช่อง MCOT และทรูโฟร์ยู เวลา 20.00 น. เรทติ้ง 3.58

-อังกฤษ - อิหร่าน (รอบ 32 ทีม) ช่องทรูโฟร์ยู เวลา 20.00 น. เรทติ้ง 3.56

-เกาหลีใต้ - กาน่า (รอบ 32 ทีม) ช่อง NBT และทรูโฟร์ยู เวลา 20.00 น. เรทติ้ง 3.47

-กาตาร์ - เซเนกัล (รอบ 32 ทีม) ช่องทรูโฟร์ยู และพีพีทีวี เวลา 20.00 น. เรทติ้ง 3.34

-เดนมาร์ก - ตูนิเซีย (รอบ 32 ทีม) ช่องทรูโฟร์ยู เวลา 20.00 น. เรทติ้ง 3.34

-อาร์เจนติน่า - ซาอุดีอาระเบีย (รอบ 32 ทีม) ช่องทรูโฟร์ยู เวลา 17.00 น. เรทติ้ง 3.22

-โมร็อกโก - โครเอเชีย (รอบ 32 ทีม) ช่องทรูโฟร์ยู เวลา 17.00 น. เรทติ้ง 2.80

ส่องบทสรุป \'ฟุตบอลโลก 2022\' และปรากฏการณ์ในแวดวงธุรกิจกีฬาสุดยิ่งใหญ่

 

12.ช่อง 7 โกยค่าโฆษณา “นาทีทอง” ได้ถึงนาทีละ 350,000 บาท เทียบเท่าราคาที่ขายช่วงละครหรือไพรม์ไทม์ ซึ่งเป็น “ราคาสูงสุด” ที่ทำได้ ขณะที่ช่องอื่นๆ กลับขายค่าโฆษณาได้เพียงหลัก “หมื่นบาท” เท่านั้น และสินค้าที่โฆษณาบางช่องยังเป็นของเครือ สะท้อนการ Utilize เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

13.5 สถานีทีวี ที่โกยเม็ดเงินโฆษณาสูงสุด เพราะช่วงถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทุกนาทีมีค่า แต่การทำเงินของแต่ช่องคงไม่เท่ากัน หากจะหยิบ 5 ช่องที่อู้ฟู่ ลูกค้ามาซื้อโฆษณา(รวมสิทธิ์สปอนเซอร์) เป็นดังนี้

-ช่อง ทรูโฟร์ยู โกย 93 ล้านบาท

-ช่อง 7 โกย 12 ล้านบาท

-ช่องวัน ได้ 8.7 ล้านบาท

-ช่อง 3 โกย 5.3 ล้านบาท

-อมรินทร์ทีวี 4.8 ล้านบาท ซึ่งผลิตภัณฑ์ตราช้าง ของ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” และในฐานเจ้าของสื่อ เทงบโฆษณาให้แบบเต็มแม็กซ์

14. เงินรางวัลรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2022 รวมมูลค่า 72 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.500 ล้านบาท โดย "แชมป์" จะได้รับเงินรางวัล 42 ล้านดอลลาร์ และรองแชมป์จะได้รับ 30 ล้านดอลลาร์ แน่นอนทีมฟ้าขาว “อาร์เจนตินา”คว้าชัยสุดยิ่งใหญ่ไปครอง พร้อมเงินก้อนโต ส่วนอันดับ 3 ได้เงินไป 27 ล้านดอลลาร์ และอันดับ 4 ได้เงิน25 ล้านดอลลาร์ 

เหล่านี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น 4 ปีครั้ง จากนี้อีก 4 ปีข้างหน้า ต้องมาติดตามต่อ โลกธุรกิจที่ผูกกับวงการลูกหนังอย่างฟุตบอลโลก จะมีอะไรวุ่นๆ ธุรกิจจะทำเงิน หรือ “ขาดทุน” อย่างไร รอกันยาวๆไป