บอร์ด กสทช. แนะล้มดีลทรูถ่ายฟุตบอลโลก

'ตอนนั้นกกท.มาด้วยความสิ้นหวังอย่างมากว่าไม่มีเงินที่จะถ่ายทอดบอลโลก แต่มาถึงวันนี้กกท.กลับไม่ทำตามข้อตกลงใดๆเลย'

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 มีมติ 6 ต่อ 0 แจ้งคำสั่งทางปกครองไปยังการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เรียกคืนเงินจำนวน 600 ล้านบาท

โดยเป็นเงินจากกองทุนวิจัยพัฒนากิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) เต็มจำนวน ภายใน 15 วัน หลังจากที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี (หากมี) เนื่องจากผิดกฎมัสต์แครี่ ในการรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันได้อย่างทั่วถึง แต่ขณะนี้ โทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกไอพีทีวีไม่สามารถรับชมได้ ว่า

เป็นฉันทามติ เพื่อให้ กกท. ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่าง กสทช. และ กกท. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนร่วมถึงผู้ด้อยโอกาส รับชมและเข้าถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขัน ซึ่งต้องครอบคลุมการออกอากาศผ่านกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ทุกประเภทที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. หรือสำนักงาน กสทช.

"ตอนนั้นกกท.มาด้วยความสิ้นหวังอย่างมากว่าไม่มีเงินที่จะถ่ายทอดบอลโลก แต่มาถึงวันนี้กกท.กลับไม่ทำตามข้อตกลงใดๆเลย"

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวว่า กกท. ยืนยันมาโดยตลอดว่า เข้าใจและจะปฏิบัติตามเอ็มโอยู ระหว่าง กสทช. และ กกท. ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า การถ่ายทอดสดการแข่งขันจะต้องดำเนินการตามกฎมัสต์แครี่ ดังนั้น ที่ประชุม กสทช. จึงมติอนุมัติเงินสนับสนุนเงิน 600 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินตั้งต้น และเพื่อให้เพียงพอในการซื้อสิขสิทธิ์ แต่ถึงขณะนี้ เมื่อ กกท. ทำผิดข้อตกลง เพราะประชาชนไม่สามารถรับชมและเข้าถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขันได้อย่างทั่วถึง กสทช. จึงจำเป็นต้องเรียกคืนเงิน ซึ่งได้ส่งหนังสือไปถึง กกท. เรียบร้อยแล้ว โดยระหว่างนี้ต้องให้โอกาส กกท. ได้ทบทวน และจะเชิญเข้าหารือร่วมกันอีกครั้ง

“ไม่รู้ว่า  กกท. จะนำเงินจากส่วนไหนมาคืน เพราะถ้ามีเงินคงไม่มาขอรับการสนับสนุนจาก กสทช. แต่ขอให้การต่อสู้กันในศาลปกครอง เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ซึ่งจะพิจารณาหาก กกท. ไม่นำเงินมาคืนภายใน 15 วัน หรือหาก กกท. ยกเลิกเอ็มโอยูที่ทำร่วมกับทรู เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน และเปิดให้ประชาชนได้รับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกได้อย่างทั่วถึง กกท. ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่คืนเงินได้และเป็นทางหนึ่งในการแก้ปัญหานี้” ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าว และว่า

ประธานบอร์ดกสทช. ระบุว่า กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแล แต่ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายเอ็มโอยูระหว่าง กกท. และทรู ได้ ซึ่งมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นเพราะเอ็มโอยูทั้ง 2 ฉบับ มีตัวบทกฎหมายที่แตกต่างกัน ระหว่างกฎมัสต์แครี่และกฎหมายลิขสิทธิ์

ดังนั้น จึงต้องชั่งน้ำหนักว่าอะไรสำคัญกว่า แต่อย่างไรก็ไม่สามารถละเมิดคำสั่งศาลได้ ซึ่งยอมรับว่าหนักใจ และจะมีการปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป โดย กสทช. มองว่า กฎมัสต์แครี่มีน้ำหนักและควรปฏิบัติตาม และหวังอย่างยิ่งว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศ คนไทยจะสามารถรับชมได้ทุกแพลตฟอร์ม และหลังจบการแข่งขันต้องมีการทบทวนกฎมัสต์แครี่ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะพูดว่ายกเลิก