เปิด 20 ข้อหา 'ตัดแต้มใบขับขี่' เครื่องมือใหม่คุมพฤติกรรมการขับรถ

เปิด 20 ข้อหา 'ตัดแต้มใบขับขี่' เครื่องมือใหม่คุมพฤติกรรมการขับรถ

เช็คด่วน 20 ข้อหา “ตัดแต้มใบขับขี่” หลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศดีเดย์ 9 ม.ค.นี้ ใช้เป็นเครื่องมือใหม่คุมความประพฤติในการขับรถ ชี้หากถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 ถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน ฝ่าฝืนขับรถต่อ มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยถึงการนำระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ หรือ ตัดแต้มใบขับขี่ เพื่อเสริมสร้างวินัยจราจร เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 9 ม.ค. 2566

โดยสาระสำคัญของระบบนี้ คือ กำหนดให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่แต่ละราย จะมีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน (ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับใบอนุญาตขับขี่กี่ชนิดก็ตาม) หากทำผิดตามกฎจราจรในข้อหาที่ระบุไว้ จะถูกตัดคะแนนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

ขณะที่เงื่อนไขการตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ แบบ “ตัดคะแนนทันทีที่ทำผิด” พบว่ามีฐานความผิดรวม 20 ข้อหา ประกอบด้วย

ตัด 1 คะแนน 

  • ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ
  • ไม่สวมหมวกนิรภัย
  • ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
  • ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด
  • ขับรถบนทางเท้า
  • ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย
  • ไม่หลบรถฉุกเฉิน
  • ขับรถโดยประมาทน่าหวาดเสียว
  • ขับรถไม่ติดป้ายทะเบียน
  • ไม่ติดป้ายภาษี

ตัด 2 คะแนน

  • ขับรถฝ่าไฟแดง
  • ขับรถย้อนศร
  • ขับรถในระหว่างโดนพักใช้หรือเพิกถอนใบขับขี่

ตัด 3 คะแนน 

  • ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ
  • ขับผิดวิสัยคนขับรถธรรมดา
  • ขับรถชนแล้วหนี

ตัด 4 คะแนน 

  • เมาแล้วขับ
  • ขับรถในขณะเสพยาเสพติด
  • แข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น

อย่างไรก็ดี ผู้ขับขี่ที่ถูกตัดคะแนน สามารถเข้ารับการอบรมกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อขอคะแนนคืน หรือรอให้ครบ 1 ปี จะได้คะแนนคืนอัตโนมัติ แต่หากผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามขับรถ (ทุกประเภท) เป็นเวลา 90 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว และหากฝ่าฝืนไปขับรถในขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 156 

เปิด 20 ข้อหา \'ตัดแต้มใบขับขี่\' เครื่องมือใหม่คุมพฤติกรรมการขับรถ