‘ซีพี‘ ชี้ 6 ปัจจัยท้าท้ายโลกยุคใหม่!!

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดเวทีสัมมนา Sustainability Forum 2023 เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2565 ที่โรงแรมแกรนไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยมีการนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนของทุกภาคส่วน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ Sustainability Mega Trend 2023 ว่า เครือซีพีได้ประกาศยุทธศาสตร์และเป้าหมายความยั่งยืนสู่ปี 2030 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 Hs คือ Heart-Living Right, Health-Living Well และ Home-Living Together รวม 15 เป้าหมายในดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน 

โดยมีเป้าหมายสำคัญต้องทำให้สำเร็จในปี 2030 ประกอบด้วย 3 เป้าหมายหลัก คือ

1.เป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 (Carbon neutrality) เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (Net zero emissions)

2.เป้าหมายการลดปริมาณขยะจากอาหารเป็นศูนย์ (Zero food waste) 3.เป้าหมายลดของเสียที่นำไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์ (Zero waste to landfill)
นายศุภชัย กล่าวว่า วันนี้โลกมีความท้าทายสำคัญ

3 ด้าน ที่ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลง คือ 1.ความเหลื่อมล้ำ 2.การปรับตัวสู่ดิจิทัล 3.ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องเป็นลูกโซ่ ดังนั้นทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมขับเคลื่อนความท้าทายเหล่านี้ร่วมกัน โดยเฉพาะความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนโลกที่ยั่งยืนขึ้น

การดำเนินการของเครือซีพีด้านความยั่งยืนที่ผ่านมา ได้ปรับตัวของการดำเนินธุรกิจในกลุ่มต่างๆ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมตลอดจนสร้างความยั่งยืน จนปัจจุบันเครือซีพีได้รับการยอมรับในระดับโลกทั้งในเวที UN Global Compact และติดในท็อปของ 38 บริษัทระดับโลกที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืนที่เปลี่ยนแปลงได้จริง ต้องเลิกระบบบริโภคนิยมให้ได้ นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายที่เกิดขึ้น ได้แก่

1.ความเหลื่อมล้ำ ทั้งการขาดโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ โอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขาดศักยภาพที่จะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้

2.เปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลด้านพลังงาน มุ่งการสร้างพลังงานทดแทนจากสิ่งแวดล้อมและขยะ โดยสิ่งที่จะตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาส่วนนี้ คือ ต้องเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับบริบทของการบริโภคนิยมแบบสุดกู่ในสังคมไทยทำให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงความสูญเปล่าของทรัพยากรที่กำลังบริโภค เพราะว่าบริบทการบริโภคนิยมแบบสุดกู่จะยิ่งทำให้หลุมของต้นทุนภาคการผลิตใหญ่ขึ้น อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และนั่นจะทำให้ไทยตกในหลุมที่จะไม่สามารถปีนขึ้นมาได้ทัน 
3.การเปลี่ยนแปลงอากาศที่ทุกประเทศกำลังเจอผลกระทบอย่างหนัก

4.เงินเฟ้อรุนแรง

5.โลก 2 ขั้วอำนาจจากที่เห็นทั้งสงครามที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการกักตุนอาหารจากประเทศผู้ผลิต ตรงนี้ไทยสามารถดึงเอาปัญหาด้านความขัดแย้งดังกล่าวมาทำให้ประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากภาคการเกษตรกรรมของไทย

6.สุขภาพและโรคระบาด

เปิดแผนปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

นายศุภชัย กล่าวว่า เครือซีพี มีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานให้ลดลงทุกปี ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำไปจนถึงห่วงโซ่อุปทาน และซัพพลายเชนทั้งหมด ซึ่งในเครือซีพีเอง เป็นผู้ออกแบบอาหารสัตว์ และดำเนินการภาคการเกษตร ซึ่งได้มีการวางแผนนำเอาพลังงานทดแทนมาช่วยการสร้างผลผลิตทั้งจาก พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงาน ควบคูู่ไปกับการทำ Biomass และ Biogas เน้นการควบคุมสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ในหลักการธรรมชาติช่วยการปล่อยก๊าซลดคาร์บอน 
ส่วนนี้เป็นแผนการที่ท้าทายอย่างมาก แต่เครือซีพีมีเป้าหมาย ที่มั่นคงและพนักงานทุกคนในองค์กรพร้อมจะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกับประยุกต์นวัตกรรมและกลยุทธ์ขององค์กร เครือซีพีมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) 25% ในปี 2030


นายศุภชัย เสริมอีกว่า ความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดไม่เฉพาะแค่ตอบโจทย์ต่อปัญหาความท้าทายที่โลกต้องเผชิญทั้งจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาความขัดแย้งจากภูมิรัฐศาสตร์และโรคระบาด ดังนั้น ควรร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ เน้นการร่วมมือแบบ PPP รัฐ เอกชน ประชาชน ผลักดันให้ไปสู่ภาคประชาสังคมให้ได้ เพื่อจะบรรลุเป้าหมาย