ฟุตบอลโลกกับบทเรียนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

ฟุตบอลโลกกับบทเรียนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

สัปดาห์นี้เราจะทราบกันแล้วว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้มีประเทศไหนสามารถผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย หากย้อนดูรายชื่อจากทีมที่เข้ารอบ 32 ทีมจะมีทีมจากประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน

มีทั้งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศที่รายได้ต่อหัวไม่สูงอย่างเซเนกัล แต่พอยิ่งเข้ารอบลึกขึ้น รายชื่อของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนก็หายไปเรื่อย ๆ พอถึงรอบสี่ทีมสุดท้าย เชื่อขนมกินได้เลยว่าทีมจากประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะหายไปหมด

หากดูการจัดอันดับของฟีฟ่าจากตารางที่แสดงไว้ จะเห็นว่าในกลุ่มที่ติด 10 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง แต่รายชื่อของประเทศที่เข้ารอบ 32 ทีมสุดท้ายและทีมที่น่าจะเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลกคราวนี้

เราจะเห็นว่า ประเทศที่รายได้ต่อหัวไม่สูงนักก็ยังพอจะมีที่ยืนอยู่บ้าง แสดงว่าระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่กำหนดความสำเร็จของทีมชาติ

ฟุตบอลโลกกับบทเรียนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

งานวิจัยเกี่ยวกับความสำเร็จของทีมฟุตบอลมีผลการศึกษาสอดคล้องกันว่าความสำเร็จเกิดจากปัจจัย 3 ระดับ คือ ระดับประเทศ ระดับทีม และระดับตัวผู้เล่นเอง

ปัจจัยระดับประเทศ ระดับความสำเร็จขึ้นอยู่กับการมีธรรมมาภิบาลในการบริหารลีก

ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของสมาคมหรือองค์กรธุรกิจ การมีลีกฟุตบอลชั้นนำซึ่งมีการแข่งขันกันสูง เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมและเข้มข้น ย่อมหมายความว่าถ้าทีมไหนไม่แน่จริงก็มีสิทธิโดนเขี่ยออกจากลีก  

ส่วนทีมไหนที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ สิ่งที่ได้รับก็คือ ผลตอบแทนมากมายมหาศาล การคัดเลือกนักฟุตบอลเข้าร่วมทีมจึงทำกันอย่างระมัดระวัง การบริหารจัดการทีมก็ทำกันแบบมืออาชีพ ผลตอบแทนที่เสนอให้กับนักฟุตบอลฝีเท้าดีก็สมน้ำสมเนื้อ สามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เล่นคนนั้นให้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว  

ฟุตบอลโลกกับบทเรียนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

ปัจจัยระดับทีม การศึกษาในเชิงสถิติ การศึกษาในเชิงการวางกลยุทธ์ รวมถึงการศึกษาเชิงจิตวิทยากลุ่ม (Group Psychology)

ให้ผลไปในทิศทางเดียวกันว่า ทีมที่ทุ่มพลังไปกับเกมรุก มีความสามารถในการส่งบอลที่แม่นยำในพื้นที่ของคู่แข่ง

และมีจังหวะในการตัดเกมของคู่แข่งได้เด็ดขาดรวดเร็ว มีโค้ชที่สามารถส่งเสริมให้ทีมเล่มร่วมกันได้อย่างลื่นไหล ในระยะยาวแล้ว จะเป็นทีมที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่าทีมที่เน้นเกมรับ

ปัจจัยระดับบุคคล ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า ความสามารถเฉพาะตัว จิตใจที่ไม่ย่อท้อ อายุ สภาพร่างกาย ล้วนมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จ แต่ทราบไหมว่า นักบอลที่มีรอยสัก จะมีโอกาสทำผลงานในการเล่นที่ดีกว่าด้วย

เมื่อเปรียบเทียบกับลีกฟุตบอลในเมืองไทยและประเทศเหล่านี้ คงไม่ต้องบอกว่า มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมไทยถึงอยู่ในอันดับที่ 111 ในขณะที่เวียดนามขึ้นไปอยู่อันดับที่ 96 แล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการลูกหนังโลก เป็นภาพสะท้อนสำคัญเกี่ยวกับนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้ พวกเขาเชื่อว่า หากรัฐมัวแต่ปกป้อง ใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือเล่นพรรคเล่นพวก แสดงหาผลประโยชน์ ก็ไม่ต่างอะไรกับการอุ้มบริษัท

หากไม่ยอมให้บริษัทในประเทศเจอกับแรงกดดันจากการแข่งขันจริง บริษัทก็ไม่มีทางจะเข้มแข็งขึ้นได้ เมื่อบริษัทไม่เข้มแข็ง อุตสาหกรรมก็ไม่เข็มแข็ง ท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจก็จะพลอยไม่เข้มแข็งไปด้วย  
      
จริงอยู่ รัฐอาจต้องตัดใจ “เลือดเย็น” ปล่อยให้บริษัทที่อ่อนแอล้มหายตายจากไป แต่ต้องมาคู่กับนโยบายช่วยเหลือธุรกิจตัวเล็กตัวน้อยให้มีที่ยืนเพื่อให้อุตสาหกรรมนั้นเข็มแข็งขึ้น   และต้องทำควบคู่ไปกันการสร้างความเป็น “มืออาชีพ” ให้เกิดขึ้นกับภาครัฐและภาคธุรกิจ  

ลดการใช้เส้นสาย เลิกระบบพวกพ้อง ลดการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อให้ทุกคนสามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม วิธีนี้อาจมีคนต้องเจ็บปวดบ้าง แต่นี่คือต้นทุนที่จะต้องจ่าย หากเราต้องการให้ประเทศสามารถสร้างและรักษาความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

คงอีกนานกว่าเราจะเห็นทีมชาติไทยได้ไปฟุตบอลโลก ตราบใดที่วงการฟุตบอลบ้านเรายังไม่เปลี่ยนวิธีคิด และก็คงอีกนานเช่นกันกว่าที่เราจะเห็นประเทศไทยกลายเป็นประเทศชั้นแนวหน้าของเศรษฐกิจโลก 

หากเรายังปล่อยให้ความไม่ถูกต้องทั้งหลายมาบ่อนทำลายบ้านเมือง แค่รู้ว่าอีก 4 ปีบอลไทยไม่มีทางได้ไปบอลโลกก็เจ็บใจพอแล้ว เมื่อครบ 4 ปีแล้วมองย้อนกลับมาพบว่าเศรษฐกิจไทยยังไปไม่ถึงไหนมันยิ่งน่าเจ็บใจกว่ากันเยอะ

 

 

คอลัมน์ : หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์