รัฐเร่งพัฒนา 29 สนามบินภูธร รองรับปริมาณผู้โดยสาร

หลังจากรัฐบาลประกาศคลายล็อกมาตรการโควิด-19 การเดินทางกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่วันที่ 1-28 พ.ย. 2565 มีผู้โดยสารทางอากาศ ทั้งระหว่างประเทศ และภายในประเทศ ประมาณ 3 ล้านคน

อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ปริญญา แสงสุวรรณ ระบุ กรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. มีแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาคทั้ง 29 แห่ง ในปี 2566 หลังจากสถานการณ์การบินเริ่มกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ สายการบินเริ่มเพิ่มเที่ยวบินที่จะให้บริการ โดยเร่งพัฒนาขยายขีดความสามารถสนามบินภูมิภาคที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมทางอากาศของประเทศ รองรับปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบินที่เพิ่มขึ้น 

เช่น สนามบินกระบี่ ที่เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1-3 (ในประเทศและระหว่างประเทศ) รองรับผู้โดยสารจากเดิม 1,500 คนต่อชั่วโมง หรือ 4 ล้านคนต่อปี เป็น 3,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 8 ล้านคนต่อปี สนามบินขอนแก่น เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารจากเดิม 1,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 2.8 ล้านคนต่อปี เป็น 2,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 5 ล้านคนต่อปี สนามบินนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ทำให้รองรับผู้โดยสารจากเดิม 450 คนต่อชั่วโมง หรือ 1.3 ล้านคนต่อปี เป็น 1,600 คนต่อชั่วโมง หรือ 4 ล้านคนต่อปี

สำหรับภาพรวมขณะนี้จำนวนผู้โดยสาร สนามบินของทย. ทั้ง 29 แห่ง เติบโตเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค. ปี 2565 จะมีผู้โดยสารรวม 11.3 ล้านคน ขณะที่ปี 2562 ก่อนเกิดโควิด สนามบินของ ทย. มีผู้โดยสารรวม 16 ล้านคน โดยตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2566 จำนวนผู้โดยสารจะกลับไปเท่ากับปี 2562

นอกจากนี้ ยังมีแผนสำหรับการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาท่าอากาศยานที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพเพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยในปี 66 ได้จัดทำโครงการออกแบบก่อสร้างขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และอาคารที่พักผู้โดยสาร พร้อมศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในหลายๆ สนามบิน ส่วนแผนการพัฒนาในปี 2567-2570 นั้น ทย.จะเน้นมุ่งเน้นพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของสนามบินระนอง, ชุมพร และนครศรีธรรมราช ตามแผนพัฒนาท่าอากาศยาน 10 ปี 

สำหรับท่าอากาศยานเบตงที่ปัจจุบันเที่ยวบินพาณิชย์ของสายการบินนกแอร์หยุดบินเนื่องจากไม่คุ้มทุน เป็นเรื่องของการบริหารธุรกิจของสายการบินเองซึ่งขณะนี้ยังมีสายการบินขนาดเล็กของต่างชาติที่ต้องการเข้ามาเพราะมองถึงอนาคตว่าจะเป็นการเชื่อต่อสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานการบินพลเรือน นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาสนามบินแห่งใหม่เพื่อรองรับความต้องการเดินทาง ได้แก่ บึงกาฬ สตูล และมุกดาหาร อีกด้วย

ส่วนความคืบหน้าการให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทยหรือ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และบริหารจัดการท่าอากาศยาน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานในไทย เพราะจะสามารถบริหารจัดการเที่ยวบินอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ ทย.จะมีรายได้จาก 3 ท่าอากาศยานนี้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะการที่ ทอท.เข้ามาบริหารให้มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถแบ่งรายได้ให้ ทย.มากขึ้น

ปัจจุบันขั้นตอนการโอนย้ายสิทธิบริหาร 3 ท่าอากาศยานดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ในการกำหนดอัตราทรัพย์สิน ประเมินทรัพย์สินต่างๆ คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2566 หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการเริ่มมอบหมายงาน และ ทอท.จะทยอยเข้าไปเริ่มบริหารท่าอากาศยานคู่ขนานไปกับ ทย.ในช่วงแรก