อาเซียนแข่งเดือดดึง “เอฟดีไอ” ไทยเร่งหนุนตั้ง “เฮดควอเตอร์”

อาเซียนแข่งเดือดดึง “เอฟดีไอ” ไทยเร่งหนุนตั้ง “เฮดควอเตอร์”

ไทยเร่งเครื่องดึงเอฟดีไอ “บีโอไอ” หนุนต่างชาติตั้งเฮดควอเตอร์ หวังไทยเป็นศูนย์ธุรกิจ-ศูนย์การเงิน “ชโยทิต” ไม่หวั่นหลายชาติใช้นโยบายวีซ่าดึงลงทุน “หอการค้า” แนะรัฐเร่งพีอาร์เชิงรุก เพิ่มภาพลักษณ์ประเทศน่าลงทุน 

ขณะที่ประเทศในอาเซียน อย่าง “อินโดนีเซีย” เร่งสร้างซัพพลายเชน “อีวี” ดึงลงทุนโรงงานแบต โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า “เวียดนาม” คลอดกฎหมายใหม่หนุนตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 

การแข่งขันเพื่อดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มีความเข้มข้นมาขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยในอาเซียนมีหลายประเทศเร่งออกมาตรการดึงการลงทุน รวมถึงการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญเห็นได้จากอินโดนีเซียที่มีการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะซัพพลายเชนของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อต่อยอดอุตสาสหกรรมยานยนต์ของอินโดนีเซีย ทำให้อินโดนีเซียโดดเด่นในการดึงการลงทุนซัพพลายเชน EV

โดยปี 2562-2566 มีการลงทุนแบตเตอรีสำหรับ EV ที่สำคัญถึง 24,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด คือ LG Energy Solution จากเกาหลีใต้ 9,800 ล้านดอลลาร์

รวมทั้งอินโดนีเซียดึงผู้ผลิตรถยนต์ให้เข้ามาลงทุนโรงงาน EV, PHEV, HEV หรือ BEV โดยโตโยต้าเข้ามาลงทุน 2,000 ล้านดอลลาร์ ก่อสร้างโรงงานปี 2565 และฮุนได เข้ามาลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์ ตั้งโรงงานไปเมื่อปี 2564 และยังมีผู้เข้ามาลงทุนสถานีชาร์จ เช่น ABB, Bosch, Grab

ขณะที่เวียดนามได้ปรับปรุงกฎหมายรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณนครโฮจิมินห์ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่ารัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎหมาย Decree 35/2022 เกี่ยวกับการบริหารจัดการเขตอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยเกี่ยวกับขั้นตอนและต้นทุนสำหรับผู้มาลงทุนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจในเวียดนาม

ปัจจุบันเวียดนามกำหนดพื้นที่เขตอุตสาหกรรม (Industrial Zones หรือ IZs) และเขตเศรษฐกิจ (Economic Zones หรือEZs) ในพื้นที่ 61 จังหวัดจาก 63 จังหวัดของเวียดนาม โดยปัจจุบันมีเขตอุตสาหกรรม 400 แห่ง มีเขตเศรษฐกิจชายแดน 26 แห่ง และเขตเศรษฐกิจชายฝั่ง 18 แห่ง

ล่าสุด นครโฮจิมินห์กําลังวางแผนตั้งเขตเศรษฐกิจ 26,000 เฮกตาร์ ทางตอนใต้เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม เขตเมืองและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยบรรจุในร่างโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกในช่วงปี 2568-2573

ไทยเร่งเครื่องดึง“เอฟดีไอ”

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุในรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 เกี่ยวกับ FDI ในอาเซียนว่า การลงทุนระหว่างประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การย้ายหรือขยายฐานการผลิตและการลงทุนมาในอาเซียน 

รวมทั้งการที่ประเทศไทยกำหนดนโยบาย 30@30 ที่มุ่งเน้นผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนของภูมิภาคด้วยการตั้งเป้าผลิตรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 ทำให้ไทยต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการเร่งดึง FDI ผ่านการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและการอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุน ควบคู่การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน

ในขณะที่ผ่านมาไทยได้โปรโมทเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งล่าสุดได้ออกมาตรการวีซ่าระยะยาว (Long-Term Resident Visa : LTR Visa) เพื่อจูงใจกลุ่มที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในไทย เช่น กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizens) 

รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย เมื่อเดือน ต.ค.2565 มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน คือ 1.หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทยและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

2.นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธาน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายด้านควบรวมกิจการ (M&A) 3.นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 4.นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

หลายชาติแห่ใช้นโยบายวีซ่า

หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทยและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแต่งตั้งดังกล่าวจะสนับสนุนนโยบายให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้อาศัยในไทยได้ถึง 10 ปี ต่อการขอวีซ่า1 ครั้ง โดยเริ่มรับสมัครเมื่อเดือน ก.ย.2565 มีผู้สมัครมากกว่า 1,200 คน

ทั้งนี้ หลายประเทศใช้นโยบายคล้ายไทยเพื่อดึงผู้มีศักยภาพเข้ามาทำงานและพำนักระยะยาว แต่ไม่น่ากังวลเพราทุกประเทศต้องแข่งขันดึงผู้มีศักยภาพและกำลังซื้อเข้าประเทศอยู่แล้ว แต่ไทยมีข้อได้เปรียบหลายข้อ เช่น ค่าครองชีพและค่าเช่าพื้นที่สำนักงานถูกกว่า รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ

สำหรับข้อได้เปรียบนี้ทำให้ในการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากประเทศอื่น เพื่อมาลงทุนในไทยในรูปแบบการตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาค (Head Quarter) ซึ่งจะมีพนักงานบริษัทเข้ามาทำงานในไทยด้วยจำนวนมาก และทำให้จูงใจผู้มีความรู้ความสามารถและทักษะสูงตรงความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

“บีโอไอ” ดึงเฮดควอเตอร์

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่จะส่งเสริมให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ” และ “ประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค” โดยต้องการให้ตั้งInternational Headquarters ในไทยเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการทำงานในองค์กรระหว่างประเทศในไทย โดยนอกจากมาตรการทางภาษียังปรับปรุงมาตรการอำนวยความสะดวกด้านอื่น เพื่อลดอุปสรรคการเข้ามาตั้งสำนักงานและเข้ามาทำงานในไทย

ทั้งนี้ เดือน ธ.ค.2565 จะประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการลงทุน ที่มีนายสุพัฒนพงษ์พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน โดยเป็นการประชุมครั้งแรกเพื่อหารือการแก้ปัญหาให้นักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศ

นอกจากนี้ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วยงานมาประชุมร่วมกัน ได้แก่ บีโอไอ กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้มี One Stop Service ที่ต่างชาติติดต่อขอส่งเสริมการลงทุน การขอใบอนุญาตทำงาน การจดทะเบียนธุรกิจ และการเปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน

รวมทั้งเบื้องต้นจะเสนอให้เปิดศูนย์บริการร่วมระหว่าง 4 หน่วยงานในบริเวณเดียวกันกับศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (BOI ตม. แรงงาน) ณ จามจุรีสแควร์ เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องนี้

สำหรับมาตรการเชิงรุกเพื่อดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยมากขึ้น ในเชิงนโยบายต้องใช้ประโยชน์จากการเปิดเขตเสรีการค้า (FTA) และการเปิดเสรีภาคบริการมากขึ้น ซึ่งต้องทำงานร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขณะเดียวกันต้องปรับปรุงขั้นตอนการขอใบอนุญาตให้สะดวกขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการในส่วนที่ไม่ใช่ภาษีแต่มีส่วนในการสนับสนุนการลงทุน

หนุนตั้งศูนย์ธุรกิจ-ศูนย์การเงิน

ทั้งนี้ กิจการเป้าหมายที่ต้องการให้เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในไทยมีหลายลักษณะ เช่น การตั้งศูนย์ธุรกิจนานาชาติInternational Business Center (IBC) ศูนย์บริหารการเงิน (Treasury Center) ที่ได้รับการรับรองจาก ธปท. 

รวมถึงการตั้งศูนย์การซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ (International Trading Business) กิจการประเภทศูนย์จัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ (International Procurement Center) กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน (TISO) รวมถึงศูนย์ Business & Digital Support Services กิจการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

“การมีกิจการประเภทนี้เข้ามาเปิดในไทยมากๆ เป็นสิ่งที่บีโอไอสนับสนุนเพราะนอกจากจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ ยังเป็นโอกาสที่แรงงานในไทยเข้าไปทำงานในบริษัทต่างที่เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งช่วยสร้างทักษะการทำงานที่ช่วยพัฒนาตนเองในอนาคต”

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลให้กับการลงทุนตั้งสำนักงานข้ามชาติในไทย นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ให้กับนิติบุคคลที่ให้ลดหลั่นตามประเภทกิจการและเงินลงทุนที่นำเข้ามาลงทุน ยังมีส่วนลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยกรมสรรพากรคิดภาษีที่อัตราเดียว 15% สำหรับต่างชาติที่ทำงานใน IBC และในเขต EEC

รวมทั้งเก็บภาษีอัตราเดียวที่ 17% สำหรับกลุ่มแรงงานทักษะสูงภายใต้วีซ่า LTR รวมทั้งการอำนวยความสะดวกวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ผ่านมาตรการ LTR และ Smart Visa ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมการลงทุน

เอกชน-รัฐเร่งทำแผนดึงลงทุน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการ LTR เป็นหนึ่งในมาตรการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติผู้มีรายได้สูง ผู้ที่เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญ โดยสหาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้รวบรวมความเห็นหอการค้าต่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนแนวนโยบายให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งพบว่ามาตรการนี้เป็นประโยชน์เพราะสร้างความน่าสนใจในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ได้ 

“การให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดให้เข้ามาตั้งฐานธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว”

ทั้งนี้เชื่อว่าเป้าหมายการดึงดูดชาวต่างชาติตั้งเป้าหมายดึง 4 กลุ่มต่างชาติ 1 ล้านคน ใน 5 ปี ที่รัฐบาลตั้งไว้น่าจะเป็นไปได้โดยคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจะลงรายละเอียดในเป้าหมายตามกลุ่มธุรกิจและประเทศเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้มีแผนการดึงดูดเชิงรุก โดยหากทุกฝ่ายช่วยกันประชาสัมพันธ์ก็จะทำให้ชาวต่างชาติเห็นประโยชน์เข้ามาร่วมในมาตรการนี้ที่ไทยเพิ่มขึ้น

“หลังจากโควิดเริ่มคลี่คลายลง หลายประเทศประกาศใช้มาตรการลักษณะนี้ออกมา ดังนั้น ไทยจะช้าไม่ได้เพราะจะเสียโอกาสที่ดีไป”