กลยุทธ์เตรียมปูทางสู่ธุรกิจยั่งยืนสำหรับเอสเอ็มอี

กลยุทธ์เตรียมปูทางสู่ธุรกิจยั่งยืนสำหรับเอสเอ็มอี

กระแสการผลักดันธุรกิจเข้าสู่เส้นทางการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนได้เริ่มขึ้นแล้วสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้นโยบายและแนวทางการกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

และกระแสใหม่นี้คงจะต้องคืบคลานเข้าครอบคลุมธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้า ซัพพลายเออร์ หรือเป็นลูกค้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานเดียวกันหรือที่เกี่ยวข้องกันในทางใดทางหนึ่ง

ดังนั้น การเตรียมธุรกิจไว้รองรับสภาพธุรกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต จึงเป็นกลยุทธ์การอยู่รอดและการแข่งขันที่เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องถือว่าเป็นภารกิจสำคัญในการบริหารและดำเนินธุรกิจของตนเอง

ในภาพกว้าง การบริหารธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีให้เตรียมการเข้าสู่แนวทางการบริหารเพื่อความยั่งยืน จะประกอบด้วยการเตรียมตัวในด้านต่างๆ อย่างเป็นลำดับขึ้นตอนและเป็นระบบ

เริ่มจากการสำรวจ เรียนรู้ เพื่อให้ทราบถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้มีอิทธิพลต่อการอยู่รอดของธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ เพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการและความคาดหวังที่อยากให้ธุรกิจของเราตอบสนอง และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและแนบแน่นในเชิงธุรกิจซึ่งกันและกัน

ต่อไปก็ต้องหันกลับมามองสถานการณ์ภายในของตัวธุรกิจ เริ่มจากด้านบุคลากรและพนักงานของเรา ว่ามีความภักดีต่อองค์กรมากน้อยเพียงใด การบริหารผลตอบแทนในการทำงานเป็นที่เพียงพอและพึงใจของพนักงานหรือไม่ ธุรกิจสามารถดึงดูดพนักงานใหม่ที่มีคุณภาพเข้ามาร่วมงานกับธุรกิจได้อย่างที่ต้องการหรือไม่ พนักงานมีความสามารถรอบด้านพร้อมที่จะทำหน้าที่ใหม่ หรือมีความคล่องตัวต่อการปรับตัวให้เข้าสถานการณ์ใหม่ๆ ทางธุรกิจได้หรือไม่

การบริหารจัดการของเสีย ของเหลือใช้ การใช้วัสดุสิ้นเปลืองที่สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กระดาษ เฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์ การใช้พลังงาน การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ มีประสิทธิภาพเพียงพอ หรือมีโอกาสที่จะลดการใช้หรือการสูญเสียที่ไม่จำเป็นหรือไม่

ธุรกิจหรือบริษัทมีกิจกรรมที่จะช่วยเหลือดูแลช่วยเหลือสังคมอย่างไรหรือไม่ เริ่มจากสังคมในระดับชุมชนรอบข้าง ตั้งแต่ความเป็นอยู่ของครอบครัวของพนักงาน ชุมชนรอบข้างและบริเวณใกล้เคียงสถานประกอบการ ก่อนที่จะขยายขอบข่ายออกไปสู่สังคมในวงกว้างต่อไป

หลังจากสำรวจสถานะปัจจุบันในประเด็นหัวข้อที่กล่าวมานี้แล้ว เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอี ก็จะพอมองเห็นได้ว่า ประเด็นใดที่มีความสำคัญ ความเร่งด่วน หรือความจำเป็นที่จะต้องเตรียมปูทางรอบรับไว้เป็นลำดับต้นๆ

เมื่อจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนได้แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นภาพในความคิดก่อน เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอี ก็ควรที่จะเรียบเรียงภาพความคิดเหล่านั้นออกมาให้เป็นบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรสั้นๆ ไว้

โดยอาจมอบหมายให้ฝ่ายที่ถือได้ว่าเป็นฝ่ายที่เป็นขุมความรู้ของธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นฝ่ายธุรการ ฝ่ายบัญชี หรือฝ่ายบุคคล ฯลฯ เป็นผู้ดำเนินการจัดทำ เพื่อที่จะนำไปขยายผลเป็นแผนกลยุทธ์สู่การเป็นธุรกิจยั่งยืนของบริษัทที่จะมีรายละเอียด เป้าหมาย และกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จต่อไป โดยใช้หลัก 5W คือ Who, What, When, Where, และ Why โดยให้ความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนของสหประชาชาติิ หรือที่เรียกว่า SDGs ที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนสุดท้ายในการปูทางสู่การเป็นธุรกิจยั่งยืนคือ เริ่มเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เป็นข้อมูลตามกิจกรรมที่ได้กำหนดให้เป็นกลยุทธ์ เพื่อเริ่มสร้างฐานข้อมูลสถานะเริ่มต้น เพื่อให้สามารถทราบได้ว่า การดำเนินการตามกลยุทธ์สู่ความยั่งยืนของเรา ดำเนินไปได้ดีหรือไม่อย่างไร ควรจะเร่งให้บรรลุเป้าหมายให้เร็วขึ้นได้ ควรจะปรับปรุงเป้าหมายอย่างไร หรือแม้กระทั่งควรจะเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ไปเลย

แม้จะมีกรอบใหญ่กำหนดไว้ แต่เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอี ก็จะต้องเข้าใจว่า ไม่มีกลยุทธ์สำเร็จรูปที่จะนำมาใช้ให้ได้ผล ไม่ว่าจะลอกมาจากตำราการบริหารธุรกิจ หรือลอกมาจากธุรกิจอื่นที่ประสบความสำเร็จ

ความสำเร็จที่แท้จริงของธุรกิจสู่ความยั่งยืน ก็คือ กลยุทธ์และการดำเนินการ การดำเนินกิจกรรม ที่เป็นแบบฉบับของตนเอง และให้ผลที่ดีที่สุด ภายใต้ขีดจำกัดด้านทรัพยากรการเงิน บุคลากร และความพร้อมของธุรกิจของเราเท่านั้น !!??!!