ตามดูช่อง 3 ทุ่ม 2,000 ล. ผลิตละครป้อนตลาดโลก ส่องลุยธุรกิจใหม่ทำเงินในอนาคต

ตามดูช่อง 3 ทุ่ม 2,000 ล. ผลิตละครป้อนตลาดโลก ส่องลุยธุรกิจใหม่ทำเงินในอนาคต

ผ่าน 50 ปี แห่งความรุ่งโรจน์ สู่วิกฤติช่วงลุยทีวีดิจิทัล และเจอสื่อใหม่ "ดิสรัป" จนรายได้หด กำไรหาย แต่ภารกิจทำเงิน สร้างการเติบโตต้องลุยต่อ "ช่อง 3" วางหมากรบใหม่ปี 66 เทเงิน 2,000 ล้านบาท ผลิตละคร หนัง เพลง IMC Marketing บีอีซี สตูดิโอ จิ๊กซอว์สำคัญฟื้นมั่งคั่งในอนาคต

ผ่านเกินครึ่งศตวรรษ หรือกว่า 50 ปี คือเส้นทางของสื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่อย่าง “ช่อง 3” ตลอดระยะเวลามีทั้งการเติบโต ทำเงินเป็นกอบเป็นกอบ โกยกำไรสูงหลาย “พันล้านบาท” ต่อปี รายได้สูงระดับ “หมื่นล้านบาท”

ภาพความสำเร็จหอมหวานเป็นเพียงอดีตให้จดจำ เพราะท่ามกลางบริบทโลกเปลี่ยน ภูมิทัศน์สื่อไม่เหมือนเดิม เทคโนโลยี ดิจิทัล “ดิสรัป” ธุรกิจรุนแรงมาหลายปี รวมถึงการ “ทรานส์ฟอร์ม” จากทีวีอนาล็อก เข้าสู่ “ทีวีดิจิทัล” ด้วยการช่วงชิงประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ(ไลเซ่นส์) กลายเป็นบทเรียนราคาแพง

ทั้งนี้ สิ่งที่ภาครัฐคาดการณ์ ผิดแผกไปหลายอย่าง ทั้งเม็ดเงินโฆษณาที่คาดว่าจะพุ่งมหาศาล กลับดำดิ่ง ทีวีที่จะมีคนดูกลับ ย้ายไปเสพคอนเทนท์ผ่านแพลตฟอร์มใหม่ๆ(New Media) เป็นต้น

ทว่า อุปสรรคมากมาย แต่ธุรกิจต้องดิ้นรนเอาตัวรอด “ช่อง 3” จากเคยพึ่งพารายได้โฆษณา ปัจจุบันมุ่งหา “น่านน้ำใหม่” หรือ New S-Curve สร้างการเติบโต ซึ่งปี 2566 จะเห็นหมากรบต่างๆ ที่พร้อม “รุก” หนักมากขึ้น เพราะภายใต้วิสัยทัศน์และเป้าหมายองค์กร จะมุ่งเป็น “ยักษ์ใหญ่ด้านผลิตคอนเทนท์” การมุ่งพิชิตรายได้ “หมื่นล้านบาท” อีกครั้ง ยิ่งกว่านั้นต้องการกลับไปทำกำไรในจุดพีคที่ระดับ “5,000 ล้านบาท”

พิริยดิส ชูพึ่งอาตม์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักการเงินและบัญชี และภาณุกรณ์ พึ่งประดิษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ นักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด)มหาชน) ฉายภาพถึงการขับเคลื่อนธุรกิจช่อง 3 ผ่านในช่วง 50 ปี การทำรายได้ของบริษัทมาจากคอนเทนท์ข่าว ละคร นักแสดง ทว่า 6-7 ปีก่อน ได้รุกคืบสู่ทีวีดิจิทัล และ 4 ปีที่ผ่านมา เคลื่อนทัพขายคอนเทนท์บุกตลาดต่างประเทศ มีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล “3Plus” ซึ่งทรานส์ฟอร์มจาก Mello เพื่อหารายได้จากสมาชิก เป็นต้น

ในปี 2566 ช่อง 3 จะเปิดแนวรบธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโต “รายได้” และ “กำไร” อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่จะเห็นในปีหน้ามีมากมาย หนึ่งในนั้นคือธุรกิจหลักการผลิตคอนเทนท์ โดยเฉพาะ “ละคร” ที่บริษัททุ่มเงิน “2,000 ล้านบาท” ต่อปี เพื่อสร้างสรรค์เรื่องราวที่โดนใจกลุ่มเป้าหมายราว 30 เรื่องต่อปี

ละครปีหน้า มีไฮไลท์ เช่น พรหมลิขิต ใต้เงาตะวัน เกมรักทรยศ เพราะรัก จนกว่าจะได้รักกัน ดวงใจเทวพรหม หมอหลวง เป็นต้น

เนื่องจากคอนเทนท์ละครไม่จำกัดป้อนคนดูในประเทศ แต่มุ่งเปิดตลาดต่างประเทศมากขึ้น จึงมีชื่อภาษาอังกฤษควบเพื่อขายให้ประชากรโลกรู้จักมากขึ้น พร้อมจัดทัพลุยงานใหญ่ของอุตสาหกรรมโทรทัศน์และตลาดซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่ใหญ่สุดในเอเชีย หรือ Asia TV Forum & Market (AFT) เพื่อนำคอนเทนท์ไปโชว์ศักยภาพให้คู่ค้าซื้อขายต่อไป

การผลิตคอนเทนท์ละครของ ช่อง 3 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น หลังปลุกปั้น “บีอีซี สตูดิโอ” เพื่อทำสร้างสรรค์ผลงานเอง ไม่แค่มี “ผู้จัด” เครือข่ายเหมือนเดิม รวมถึงการสร้าง “สตูดิโอเสมือน” หรือ Virtual Studio ที่จะลดข้อจำกัดการถ่ายทำในต่างประเทศ ฝนตก แดดอออก เพราะทุกอย่างทำได้ครบครันภายในสตูฯ

ตามดูช่อง 3 ทุ่ม 2,000 ล. ผลิตละครป้อนตลาดโลก ส่องลุยธุรกิจใหม่ทำเงินในอนาคต ปีหน้าบริษัทจะประเดิม 3 เรื่อง ป้อนคนดู ได้แก่ มือปราบกระทะรั่ว ถ่ายทำแล้ว 57% เกมส์โกงเกมส์ ถ่ายทำ 41% และร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศถ่ายทำ 11% ทั้งหมดจะรับรู้รายได้ปี 2566-67 ส่วนปี 2566 จะผลิตอีก 5 เรื่องเสริมทัพ

“บีอีซี สตูดิโอมีการเพิ่มพนักงาน เพื่อรองรับการผลิตคอนเทนท์ 10 เรื่องต่อปี ซึ่งยังน้อยอยู่ เพราะเป็นเพียง 1 ใน 3 ของการผลิตทั้งปีอยู่ที่ 30 เรื่อง การมีบีอีซี สตูดิโอ ยังช่วยลดต้นทุนระยะยาว เพราะเราไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อถ่ายทำ รวมถึงช่วยลดเวลาถ่ายทำมากขึ้น”

ตามดูช่อง 3 ทุ่ม 2,000 ล. ผลิตละครป้อนตลาดโลก ส่องลุยธุรกิจใหม่ทำเงินในอนาคต อีกธุรกิจใหม่ ของบริษัทคือ “เพลง” ซึ่งมี “แต้ว ณฐพร” เป็นศิลปินเบอร์แรก สมทบด้วย “โบว์ เมลดา” ล่าสุดคือ “ภาพยนตร์” ที่จับมือกับเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป สร้าง “บัวผันฟันยับ” ช่วยให้รับรู้รายได้ในปี 2565 ส่วนปี 2566 จะผลิตอีก 3-5 เรื่องป้อนคนดู

อีกธุรกิจใหม่ที่เพิ่งคิกออฟคือการทำตลาดผ่านช่องทางต่างๆหรือ IMC Marketing ด้วยการนำแบรนด์เข้าไปผนวกกับคอนเทนท์ต่างๆ รวมถึงการบริหารจัดการศิลปิน ที่จะเห็นในปี 2566 และทำรายได้ช่วงออกสตาร์ทหลัก “สิบล้านบาท”

“ธุรกิจที่จะเป็นรายได้หลักในอนาคต ปีนี้เราเริ่มคิกออฟแล้ว มีทั้งหนัง เพลง บีอีซี สตูดิโอ IMC Marketing เหล่านี้คือแผนระยะยาวที่เราจะเปลี่ยนจากการพึ่งพารายได้ทีวีอย่างเดียว ไปสู่คอนเทนท์โปรวายเดอร์”

อย่างไรก็ตาม ผลงาน 9 เดือน ของช่อง 3 มีรายได้รวมกว่า 3,890 ล้านบาท ลดลง 5% กำไรสุทธิ 458.2 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไร 466.4 ล้านบาท ผลกระทบหลักๆมาจากเศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัว เงินโฆษณาลดลง เช่น ขายโฆษณารายการข่าวมากขึ้น แต่ราคาต่อหน่วยลดลง

รายได้จากการขายลิขสิทธิ์คอนเทนท์ลดลง 21% โดยตลาดต่างแดนโต 29% แต่การขายให้แพลตฟอร์มออนไลน์ในประเทศ “หดตัว” ถึง 40% เพราะผู้เล่นใหญ่ๆต่างได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก อีกทั้งต้นทุนการโปรโมทละคร ปีนี้เพิ่มขึ้น เทียบปีก่อน ที่ไม่ได้ทำกิจกรรมเพราะข้อจำกัดของโรคโควิด-19 ระบาด