BTS ดีเดย์ 25 พ.ย. เปิดขาย 'หุ้นกู้' อันดับความน่าเชื่อถือ "A"

บีทีเอสออก ‘หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน’ เสนอขายประชาชนทั่วไปครั้งแรกในไทย 4 รุ่น อันดับความน่าเชื่อถือ "A" มั่นใจเป็นทางเลือกที่สำคัญในการลงทุนสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่าน 5 สถาบันการเงิน จองซื้อขั้นต่ำ 1 แสนบาท เสนอขายวันแรก 25 พ.ย. นี้

บีทีเอสออก ‘หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน’ เสนอขายประชาชนทั่วไปครั้งแรกในไทย 4 รุ่น อันดับความน่าเชื่อถือ "A" มั่นใจเป็นทางเลือกที่สำคัญในการลงทุนสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่าน 5 สถาบันการเงิน จองซื้อขั้นต่ำ 1 แสนบาท เสนอขายวันแรก 25 พ.ย. นี้

ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ระบุ หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bonds : SLB) ที่จะบริษัทฯ จะเสนอขายในครั้งนี้ เป็นมิติใหม่สำหรับการลงทุน ทุกคนที่เข้าลงทุนจะมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับบริษัทฯ ด้วยผลตอบแทนจากการลงทุนที่น่าพอใจและความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ และมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุน 
    
โดยหุ้นกู้ SLB ที่ทำการเสนอขายในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 รุ่น ประกอบด้วย รุ่นอายุประมาณ 2 ปี รุ่นอายุประมาณ 4.5 ปี รุ่นอายุประมาณ 7.5  ปี และรุ่นอายุประมาณ 10 ปี กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน และจะเสนอขายระหว่างวันที่ 25 และ 28-29 พฤศจิกายนนี้ ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 5 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ “A” จากทริสเรทติ้ง และกำหนดมูลค่าจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท
    
การออกหุ้นกู้ SLB ของบริษัทฯ ครั้งนี้สอดรับกับกลยุทธ์ระยะยาวด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Strategy) ของบีทีเอส กรุ๊ปฯ โดยการคงสถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และกำหนดให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อย่างน้อย 10% ของการดำเนินงาน

รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย อริยา ติรณะประกิจ ระบุ ภาพรวมตลาด ESG Bond ได้แก่ Green bond, Social bond, Sustainability bond และ Sustainability-Linked Bond ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่าการออกรวมทั้งสิ้น 158,140 ล้านบาท แบ่งเป็นการออกโดยภาครัฐบาล 105,000 ล้านบาท หรือ 66% และภาคเอกชน 53,140 ล้านบาท หรือ 34% ส่งผลให้ ESG Bond มีมูลค่าคงค้างอยู่ที่ 449,636 ล้านบาท  เติบโตเพิ่มขึ้น 50% จากสิ้นปี 2564 ที่มีมูลค่า 299,296 ล้านบาท   
    
โดยแนวโน้มการเสนอขาย ESG Bond เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินนโยบายของรัฐบาล              และกลยุทธ์ของการระดมทุนของทุกบริษัท โดยครึ่งปีแรกปี 2565 กลุ่มที่มีสัดส่วนการถือครอง ESG Bond มากที่สุด อันดับ 1 คือ กลุ่มบริษัทประกัน 25.56% อันดับ 2 คือ กลุ่มธนาคาร 20.16% อันดับ 3 คือ กองทุน กบข. 18.84% และอันดับ 4 กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ 17.89%