ยอดขาย-กำไร ‘เถ้าแก่น้อยฯ’ กลับมาโตสูงสุดในรอบ 3 ปี

ยอดขาย-กำไร ‘เถ้าแก่น้อยฯ’  กลับมาโตสูงสุดในรอบ 3 ปี

สแน็คสาหร่ายโตแรง 24% 'เถ้าแก่น้อย' ยอดขาย-กำไรฟื้นตัวทำ New High รอบ 3 ปี ตลาด "แดนมังกร" ยังไม่ฟื้นเต็มที่จากเคยโกยยอดขายไตรมาสละ 300-400 ล้านบาท แต่ยังฮึดเข็น 3 เครื่องยนต์ ปลุกโต หวังนักท่องเที่ยวจีน ออกสินค้าใหม่ เจาะต่างประเทศมากขึ้น

หลังโควิด-19 คลี่คลาย สถานการณ์ธุรกิจกลับมาค้าขายได้ดังเดิม ผู้บริโภคมีมู้ดในการจับจ่ายใช้สอย กลายเป็น “แรงส่ง” ให้ยอดขายของบริษัทต่างๆ ฟื้นตัวกลับมา และค่อยๆเห็นการ “เติบโต” อีกครั้ง

จิระพงษ์ สันติภิรมย์กุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เถ้าแก่น้อยฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) และวชิระ ญาณทัศนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานการค้าต่างประเทศ บมจ.เถ้าแก่น้อย ฯ พร้อมด้วย ทิพย์นภา จิตรแจ้ง แม่ทัพการเงิน ได้ร่วมฉายภาพธุรกิจ รวมถึงปัจจัย “บวก-ลบ” ที่ยังมีต่อการขับเคลื่อนขนมขบเคี้ยวหรือสแน็คสาหร่ายให้เติบโต

มองภาพรวมตลาดสแน็ค(Salty Snack)โดยรวมที่มีมูลค่า “หลายหมื่นล้านบาท” ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ฟื้นตัวเติบโตได้ถึง 11%(FYI อาจโตจากการปรับราคาสินค้า) ส่วนเชิงปริมาณหรือสะท้อนการบริโภคจริงเติบโตที่ 7% ขณะที่สแน็คสาหร่ายเติบโตดีถึง 24% และ “เถ้าแก่น้อย” ยังครองความเป็นผู้นำตลาด มีส่วนแบ่ง 63%

ผลงาน 9 เดือนของ เถ้าแก่น้อย สร้างยอดขายรวม 3,135 ล้าน เติบโต 23.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะไตรมาส 3 บริษัททำยอดขายได้ 1,209 ล้านบาท เติบโตสูงสุดในรอบ 3 ปีด้วย

“เป็นการเติบโตของยอดขายที่กลับมาเหมือนก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาดในปี 2562”

ไม่เพียงยอดขายที่กำลังฟื้นตัวไปได้สวย อัตราการทำ “กำไร” ยังอยู่ในทิศทางที่ดีเช่นกัน โดย 9 เดือน บริษัทสร้างกำไรสุทธิ 314 ล้านบาท เติบโตถึง 221% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ยอดขาย-กำไร ‘เถ้าแก่น้อยฯ’  กลับมาโตสูงสุดในรอบ 3 ปี บริษัทยังหวังโมเมนตัมการเติบโตยังดีต่อเนื่องจนถึงปลายปีและปี 2566 ด้วย ซึ่งจากการสำรวจตลาดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สามารถสร้าง New high ในรอบ 30 เดือนด้วย

“คาดหวังอีก 2 เดือนสุดท้าย ยอดขายจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20%”

ภาพรวมยอดขายที่โตยังเกิดจขึ้นทั้ง “ตลาดในประเทศ” และ “ส่งออก” เจาะลึกรายตลาด ธุรกิจเถ้าแก่น้อยในประเทศไทย ทำเงินสัดส่วน 38% แต่การเติบโตอยู่ระดับ 11% ปัจจัยหนุนเกิดการการออกสินค้าใหม่ เช่น สาหร่ายอบ ที่สร้างการเติบโตเกือบ 100% แต่สัดส่วนสินค้าเซ็กเมนต์ดังกล่าวยังมีน้อย เนื่องจากบริษัทเพิ่งเปิดเกมรุกหนัก และยังมีการทำตลาด โดยใช้คาแร็กเตอร์การ์ตูนสุดคิวท์ “บีที21” ของไอดอลเค-ป๊อป อย่างวง “บีทีเอส” มาอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การดึง "หยิ่น-วอร์" มาร่วมออก NFT เอาใจสาวก เป็นต้น

ส่วนตลาดต่างประเทศหรือส่งออกมีสัดส่วนถึง 62% การเติบโต 9 เดือนอยู่ที่ 33% ขุมทรัพย์สำคัญของเถ้าแก่น้อย ยังยกให้ “จีน” เพราะทำเงินได้ 314 ล้านบาท เติบโต 22% ส่วนตลาดต่างประเทศอื่นๆ ทำยอดขาย 448 ล้านบาท เติบโต 61%

ตลาดจีนโตได้ เพราะมีสินค้านวัตกรรมเข้าทำตลาด รวมถึงการดึงคาแร็กเตอร์การ์ตูนระดับโลกอย่าง “สนูปี้” มาเป็นจุดขายเพิ่มเติม เป็นต้น ส่วนตลาดสหรัฐฯ บริษัทส่งสาหร่ายแบรนด์ “โนระ” เข้าสู่ช่องทางห้างค้าปลีกหลักมากขึ้น

ยอดขาย-กำไร ‘เถ้าแก่น้อยฯ’  กลับมาโตสูงสุดในรอบ 3 ปี

“ภาพตลาดจีนเติบโตดีขึ้น แต่ยังไม่โตสุดเหมือนก่อนเกิดโควิด ซึ่งบริษัททำยอดขายไตรมาสละ 300-400 ล้านบาท และเป็นโจทย์ที่เราต้องทำให้ฟื้นตัวกลับมา”

ทว่า สถานการณ์โควิด-19 ระบาดในจีน ยังไว้วางใจไม่ได้ เนื่องจากตุลาคมที่ผ่านมา สัญญาณการแพร่ระบาดไวรัสกลับมาอีกครั้ง อีกมิติรัฐบาลจีนยังคงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้พฤติกรรมการชอปปิงของผู้บริโภคเปลี่ยน หันไปซื้อแพลตฟอร์มอื่นแทน “ออฟไลน์” ที่เคยคลาคล่ำด้วยผู้คนก็ลดลง แต่ด้านหนึ่งมีปัจจัยบวกซัพพลายเชนไร้ปัญหาทั้งค่าขนส่งทางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนคลี่คลายแล้ว

“กำไรดี” ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการ P1 ที่ยุบโรงงานนพวงศ์ ไปผลิตสาหร่ายที่เดียวคือโรงงานโรจนะ ส่งผลให้ต้นทุนด้านแรงงานลดลง เช่น จากยอดขาย 10,000 ล้านบาท อาจต้องใช้กำลังพลแค่ 3,000 คนเท่านั้น และการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในการผลิต ทำให้ใช้กำลังคนน้อยลง เทียบเท่ายอดขาย 3,000 ล้านบาทเท่านั้น รวมถึงโครงการ Go Firm ของบริษัทในการรัดเข็มขัดด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองคือแนวโน้ม “ต้นทุน” การผลิตสาหร่ายจากบรรจุภัณฑ์ กระดาษ น้ำมัน ฯ ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาวัตถุดิบ “สาหร่าย” คร็อปใหม่ จะทราบทิศทางในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

“ปีหน้าจะรักษากำไรไม่ให้น้อยลงกว่าปีนี้ โดยคุณต๊อบ(อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ซีอีโอ)มีนโยบายค่อยๆสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอัตรา 2 หลัก โดยเครื่องยนต์หนุนได้แก่ นักท่องเที่ยวจีนกลับมา การออกสินค้าใหม่ และเจาะตลาดต่างประเทศเชิงรุกมากขึ้น”