"ธนินท์" เปิดโต๊ะเจรจา รมว. METI หารือความร่วมมือธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น

"ธนินท์" เปิดโต๊ะเจรจา รมว. METI  หารือความร่วมมือธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น

"ธนินท์" เปิดโต๊ะเจรจา รมว.กระทรวง METI หารือดันธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น เผยหารือญี่ปุ่นต่อเนื่องล่าสุด หารือการสนับสนุนโครงการ EEC รถไฟความเร็วสูง รวมถึงการลงทุนพลังงาน

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้หารือกับ นายนิชิมูระ ยาสึโตชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry of Japan: METI) และคณะ ในโอกาสเยือนไทยระหว่างการประชุมผู้นำ APEC ครั้งที่ 29 

การหารือครั้งนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจไทยกับประเทศญี่ปุ่น ณ โรงแรมคอนราด วันที่ 16 พ.ย.2565

นายธนินท์ กล่าวว่า ขอบคุณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจฯ ของญี่ปุ่น ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจ การลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างภาคเอกชนไทยกับญี่ปุ่น 

พร้อมกล่าวถึงสถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ว่า ไทยและประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ กำลังจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเป็นกลุ่มประเทศที่ประชากรมีกำลังซื้อมากขึ้น เป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตรวดเร็ว เมื่อเทียบประเทศอื่นทั่วโลก นับเป็นเขตเศรษฐกิจน่าลงทุนมากสำหรับญี่ปุ่น
 

นายนิชิมูระ ยาสึโทจิ กล่าวว่า ชื่นชมวิสัยทัศน์ผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ ซึ่งสอดคล้องในทิศทางเดียวกันกับนโยบายการสร้างเศรษฐกิจของญี่ปุ่น รวมทั้งประทับใจที่เครือซีพีมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมใหม่อยู่ตลอด โดยเฉพาะนวัตกรรมการเกษตร ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนในอนาคต รวมทั้งการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น

ทั้งนี้ เครือซีพีได้มีการหารือกับกระทรวงเศรษฐกิจฯ ของประเทศญี่ปุ่นต่อเนื่อง โดยกรุงเทพธุรกิจรายงานว่าเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 ได้หารือกับ นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจฯ ในระหว่างเดินทางมาเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคที่ไทย โดยพบกันที่อาคารทรูทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

การพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจครั้งนั้น ได้หารือเกี่ยวกับมุมมองด้านเศรษฐกิจ การลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างภาคเอกชนไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนในอนาคต 

รวมทั้งการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันให้เกิดประโยชน์แก่ 2 ประเทศมากขึ้น เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนอุตสาหกรรมและพลังงาน เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในไทย 70% เป็นของบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนภาพความสำคัญการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย