สาวกร้านอาหารญี่ปุ่นเตรียมท้องรอ ‘ซีอาร์จี’ ดึง 4 แบรนด์ใหม่เสิร์ฟในรอบ 8 ปี

สาวกร้านอาหารญี่ปุ่นเตรียมท้องรอ  ‘ซีอาร์จี’ ดึง 4 แบรนด์ใหม่เสิร์ฟในรอบ 8 ปี

เมื่อโควิดคลี่คลาย สถานการณ์หลายธุรกิจเปลี่ยน โดยเฉพาะ “ร้านอาหาร” ที่เคยมีผู้เล่นล้มหายตายจาก ปิดกิจการ พอวันฟ้าเปิดไม่เพียงร้านเดิมกลับมาให้บริการ แต่ยังมี “ผู้เล่นหน้าใหม่” ข้ามวงการเข้ามาชิงเค้ก เพราะเห็นโอกาสตลาด

ภาพข้างต้น เป็นสิ่งที่ ธีรวัฒน์ เลิศถิรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่ม Japanese Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ “ซีอาร์จี” สะท้อนให้เห็นความท้าทายในอนาคตอันใกล้ของธุรกิจร้านอาหารจะแข่งขันเดือดมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจค้าปลีก หมวดแฟชั่น มีการเปลี่ยนขายสินค้าเดิม มาสู่สมรภูมิร้านอาหารมากขึ้น เพื่อเลี่ยงการแข่งกับแพลตฟอร์มออนไลน์

นอกจากนี้ ร้านอาหารชื่อดังเซ็กเมนต์พรีเมียมจากย่านสุขุมวิท อโศก ทองหล่อ ฯ ยังตบเท้าเข้ามาสร้างพื้นที่ขายในห้างค้าปลีก เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายกำลังซื้อสูงมากขึ้นด้วย

“หากสำรวจห้างค้าปลีกจะเห็นว่าสินค้าแฟชั่น และสินค้าไอทีจะถูกแทนที่ด้วยชอปปิงออนไลน์ หลายห้างจึงปรับพื้นที่ขาย เพิ่มโซนร้านอาหารมากขึ้น เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้บริการเท่าเดิม”

แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารแข่งเดือด ทำให้บริษัทต้องปรับตัว ทำการตลาดเชิงรุก ปลุกตลาดและผู้บริโภคให้ตื่นเต้น โดยหมวด “อาหารญี่ปุ่น” ของซีอาร์จี ซึ่งมี 6 แบรนด์ดัง ได้แก่ เปปเปอร์ ลันช์ ชาบูตง ราเมน โยชิโนยะ โอโตยะ เทนยะ และคัตสึยะ คอยเสิร์ฟความอร่อยให้ผู้บริโภคมายาวนาน

สาวกร้านอาหารญี่ปุ่นเตรียมท้องรอ  ‘ซีอาร์จี’ ดึง 4 แบรนด์ใหม่เสิร์ฟในรอบ 8 ปี ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ แบรนด์ใหม่จากซีอาร์จี

ปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2566 จึงถึงเวลา “ขยายแบรนด์ใหม่” รวม 4 แบรนด์ เพื่อเติมพอร์ตโฟลิโอให้แกร่ง หลากหลายขึ้น ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ประเดิมปีนี้ดึงร้าน “ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ” แบรนด์ดังเบอร์ 3 หมวดราเมนจากญี่ปุ่นที่มีร้านมากถึง 200 สาขา มาเปิดให้บริการในไทยแห่งแรกที่ชั้น 4 สยามสแควร์ วัน

บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจาซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น 2 แบรนด์ในหมวด “อิซากายะ” และหมวด “ชาบูและปิ้งย่าง” มาเสริมทัพ อีกแบรนด์เป็นร้าน “อาหารเกาหลี” ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกาหลี นำมาเปิดให้บริการในประเทศไทยอยู่แล้ว

“ในรอบ 8 ปี ที่กลุ่ม Japanese Cuisine มีการเพิ่มแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาด ซึ่งที่ผ่านมาเราเน้นทำตลาดร้านที่มี ส่วนใหญ่เป็นหมวดดงบุริ หรือเมนูข้าวหน้าต่างๆ แต่เมื่อเกิดเทรนด์ผู้บริโภคนิยมรับประทานอาหารแบบแชร์กัน ชอบปาร์ตี้มากขึ้น จึงปรับตัวหาเพิ่มหมวดและแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ ซึ่งการเจรจานำร้านอิซากายะ ปิ้งย่าง และอาหารเกาหลี เป็นครั้งแรกที่บริษัทจะรุกหมวดนี้ด้วย”

ปัจจุบันร้านอาหารญี่ปุ่นมีมูลค่าราว 25,000 ล้านบาท โควิดทำให้หดตัวลงจาก 30,000 ล้านบาท แต่ยังเป็นหมวดที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคต่อเนื่อง ยืนหนึ่งเป็นอาหารที่ผู้บริโภครับประทาน จากอดีตจะทานเพื่อเป็นรางวัลให้ตัวเอง ขณะที่ร้านอาหารเกาหลี มีกระแส K-Pop ช่วยผลักดันการเติบโต

ทั้งนี้ แผนปี 2566 บริษัทจะใช้งบลงทุนเพิ่ม 10% ขยายร้านอาหารญี่ปุ่นให้แตะ 235 สาขา จากสิ้นปีคาดมี 215 สาขา และจะผลักดันรายได้ปีหน้าแตะ 2,300 ล้านบาท(ไม่รวมแบรนด์ใหม่) จากปีนี้คาดทะลุ 2,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

สาวกร้านอาหารญี่ปุ่นเตรียมท้องรอ  ‘ซีอาร์จี’ ดึง 4 แบรนด์ใหม่เสิร์ฟในรอบ 8 ปี โอโตยะ โมเดลใหม่มีคาเฟ่ ประเดิมให้บริการสาขาสยามพารากอน

ปัจจัยความสำเร็จเกิดจากการตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นฟื้นตัว 90-95% เร็วกว่าหมวดอื่นทั้งอาหารไทย ตะวันตก ฯ ฟื้นตัว 80-85% รวมถึงการรุกโมเดลร้านใหม่ดึงดูดลูกค้า เช่น โอโตยะ เปิดโซนคาเฟ่ เอาใจสาวกขนมหวาน สร้างยอดขายขนมหวานเป็น 8% จาก 1% การขยายสินค้าพร้อมทาน(RTE) การเปิดร้านเสมือนในออนไลน์ “คาโคมิ” เจาะคนรุ่นใหม่ การอัพเกรดเมนูอาหารสู่พรีเมี่ยมในราคาจับต้องได้ การรุกเดลิเวอรี เป็นต้น

ส่วนการทำตลาดโค้งสุดท้ายปี 2565 บริษัทจัดแคมเปญใหญ่เพื่อฉลอง 16 ปี “เปปเปอร์ ลันช์” ผ่านคอนเซปต์ “อัพความสุข อัพความอร่อย” ส่งตรงกิจกรรมจากสิงคโปร์ให้ผู้บริโภคร่วมสนุก เสิร์ฟความอร่อยเมนูเด็ด ทานอาหารในร้านแล้วมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลมูลค่ารวม 200,000 บาท เป็นต้น