กพช. เคาะแผนวิกฤติพลังงาน "ห้าง-ปั๊ม-โรงงาน-ป้าย" ลดใช้ไฟฟ้า

กพช. เคาะแผนวิกฤติพลังงาน "ห้าง-ปั๊ม-โรงงาน-ป้าย" ลดใช้ไฟฟ้า

กพช.เคาะแผนวิกฤติพลังงาน ต.ค.-ธ.ค.หวังลดผลกระทบค่าไฟ วางมาตรการประหยัดไฟ บังคับ “ห้าง-ปั๊ม-โรงงาน-ป้ายโฆษณา” ลดเวลาเปิดไฟ หากราคา LNG ขยับสู่ 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ติดต่อ 2 สัปดาห์ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 เพื่อรับมือกับทิศทางราคาพลังงานในฤดูหนาวที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กพช.ได้พิจารณาราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และดีเซลที่ยังผันผวนและปรับตัวขึ้น รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทจึงเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2565 เพื่อดูแลลดผลกระทบค่าไฟฟ้าในปี 2566 

พร้อมทั้งเห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมเพื่อขอความร่วมมือประชาชนและภาคธุรกิจประหยัดพลังงาน และจะเป็นมาตรการบังคับทันทีหากราคา LNG เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูเป็นต้นไป ต่อเนื่อง 2 สัปดาห์จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 28-29 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

สำหรับมาตรการประหยัดพลังงานขณะนี้ จะเป็นลักษณะการขอความร่วมมือ เช่น การเปิดเครื่องปรับอากาศ (แอร์) อุณหภูมิที่ 27 องศาเซลเซียส ปิดไฟส่องสว่างในพื้นที่ไม่จำเป็น ปิดป้ายโฆษณาเป็นเวลา แต่หากราคา LNG สูงถึง 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูขึ้นไปต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ จะใช้มาตรการบังคับประหยัดพลังงานเพราะทั่วโลกได้ดำเนินการแล้ว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลมาตรการที่เหมาะสมและดูแลราคา LPG อาทิ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

“มาตรการประหยัดพลังงานที่จะนำมาบังคับใช้จะดูรายละเอียดธุรกิจที่ใช้พลังงานสูง อาทิ กำหนดเวลาเปิด-ปิดของห้างสรรพสินค้า เช่น ใกล้เวลาห้างปิดอาจปิดแอร์ล่วงหน้า 30-60 นาที หรือปิดบันไดเลื่อนก่อนเวลา รวมถึงปิดร้านค้าสะดวกซื้อเร็วขึ้น และปิดสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลังเวลา 23.00 น. (เปิดเวลา 05.00-23.00 น.) และกำหนดเวลาป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ซึ่งอาจกำหนดเวลาปิดเร็วขึ้น"

ทั้งนี้ การลดการใช้ LNG  เมื่อราคาสูงกว่า 25 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มาเป็นเชื้อเพลิงอื่น ๆ ที่มีต้นทุนต่ำกว่า ทำให้ 3 เดือนนี้ ลดการนำเข้าแอลเอ็นจีจาก 18 ลำเรือ เหลือ 8 ลำเรือ และหากราคา LNG ต่ำกว่านี้ จะให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เร่งรัดนำเข้า LNG มาสำรอง โดยมั่นใจว่าแนวทางนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปรงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.ไม่สูงกว่างวดปัจจุบันที่รวมค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

เร่งเพิ่มแหล่งก๊าซสำรอง

สำหรับมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงานในเดือน ต.ค.-ธ.ค.2565 อาทิ การให้โรงไฟฟ้าใช้น้ำมันเตาและดีเซลทดแทนก๊าซ รวมทั้งหากราคา LNG ลดต่ำลง ซึ่งขณะนี้อยู่ระดับ 26-29 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จะนำเข้ามาสำรองให้มากขึ้น จัดหาแหล่งก๊าซในประเทศเพิ่มขึ้นที่มีราคาถูก รวมถึงพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) รวมกันเพิ่มขึ้นอีกวันละ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต การผลิตไฟจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะหน่วยที่ 8 ซื้อไฟระยะสั้นจากพลังงานทดแทนจากผู้ผลิต SPP-VSPP

“มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบค่าไฟปี 2566 แต่ที่สุดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 จะลดลงหรือคงเดิมอย่างไร อยู่ที่ต้นทุนรวมถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณา ซึ่งจะมีความชัดเจนว่าปีหน้าราคาค่าไฟจะอยู่ที่ไหร่นั้น จะสามารถบอกได้ในการประชุมกพช. นัดถัดไปก่อนสิ้นปี 2565 นี้”

โรงไฟฟ้าลดเงินส่งเข้ากองทุน

นอกจากนี้ กพช.มีมติทบทวนการกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ประเทศไทย ปี 2554-2558 โดยให้มีการปรับปรุงข้อความการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย จากเดิมเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตรา 0.5 สตางค์ต่อหน่วย เป็น เรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 0.5 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้ เพื่อให้ กกพ.กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าเป็น 0 บาทต่อหน่วยเป็นการชั่วคราว ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบภาระค่าไฟฟ้าต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน