"ดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท" ลุยเพิ่มทุน ตอกย้ำความเป็น "ผู้นำ" กองทรัสต์ด้านโลจิสติกส์

"ดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท" ลุยเพิ่มทุน ตอกย้ำความเป็น "ผู้นำ" กองทรัสต์ด้านโลจิสติกส์

หนึ่งในกลยุทธ์การเติบโตของ "ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และสิทธิการเช่า ดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท" (WHART) คือ การเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่ดีมีศักยภาพเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอด "มูลค่า" และ "ความมั่งคั่ง" ให้กับ กองทรัสต์ WHART

แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติการการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในส่วนของ กองทรัสต์ WHART ยังคงรักษาผลการดำเนินงาน มีอัตราการเช่าเฉลี่ยในระดับไม่ต่ำกว่า 90% รวมทั้งการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ดังนั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความเปราะบางและผันผวนค่อนข้างหนัก...กองทรัสต์ WHART เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักลงทุนได้

อนุวัฒน์ จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ เรียล เอสเตท แมเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า ดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART) ให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ปี 2565 กองทรัสต์ WHART เดินหน้าเพิ่มทุน เพื่อเข้าลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มจำนวน 5 โครงการ มูลค่ารวมไม่เกิน 4.05 พันล้านบาท มีพื้นที่เช่าอาคารรวมประมาณ 159,963 ตารางเมตร

โดยผลักดันให้ "มูลค่าทรัพย์สิน" แตะระดับ 51,956.40 ล้านบาท ซึ่งตอกย้ำความเป็นเป็น "ผู้นำ" กองทรัสต์ประเภท Industrial ที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมมากสุดในเมืองไทย มีพื้นที่เช่าภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นเป็น 1,743,696.80 ตารางเมตร พื้นที่ส่วนที่จอดรถ 32,650.19 ตารางเมตร และพื้นที่เช่าหลังคา 450,777.29 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนทำเลยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ เชื่อมต่อทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และผู้เช่าจัดเป็นบริษัทฯ ของกลุ่มธุรกิจที่มั่นคง อย่างโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป (FMCG) ที่สามารถสร้างความมั่นคงจากสัญญาเช่าระยะยาว พร้อมสร้าง "ผลตอบแทน" อย่างมั่นคง

อนุวัฒน์ บอกต่อว่า ภาพรวมการเพิ่มทุนในปีนี้ กองทรัสต์ WHART จะทำการเข้าลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมจำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย ดังนี้

  1. โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ บางนา-ตราด กม.23 โปรเจค 3 ตั้งอยู่ที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ
  2. โครงการดับบลิวเอชเอ ซิกโนด แฟคทอรี่ ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
  3. โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม.21 ตั้งอยู่ที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ
  4. โครงการดับบลิวเอชเอ-เคพีเอ็น เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ บางนา-ตราด กม.23 โปรเจค 2 ตั้งอยู่ที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ
  5. โครงการดับบลิวเอชเอ เซ็นทรัล เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ วังน้อย 63 ตั้งอยู่ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

โครงการที่กองทรัสต์ WHART ลงทุนในปีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการ (ดีมานด์) ระดับสูง เช่น บริเวณถนนบางนา-ตราด และพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถือเป็นจุดยุทธ์ศาสตร์ทางเศรษฐกิจ และเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย พื้นที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่คัญในการกระจายสินค้าไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากความ "โดดเด่น" ของที่ตั้งทรัพย์สินที่จะลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้ ทรัพย์สินส่วนใหญ่ยังเป็นอาคารคลังสินค้าที่สร้างตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-suit) ที่สามารถ "ตอบโจทย์" ความต้องการด้าน Operation ของลูกค้าได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง กลุ่มลูกค้าที่มีการเช่าคลังสินค้า และโรงงานประเภทนี้โดยปกติจะทำสัญญาเช่าระยะยาวจึงทำให้กองทรัสต์ WHART มีความมั่นคงและมีฐานลูกค้าที่เช่าคลังสินค้าอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ "กลุ่มผู้เช่า" ของทรัพย์สินทั้ง 5 โครงการอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มั่นคง เติบโตและที่เป็นที่รู้จักอย่างเช่น บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด, บริษัท เคอรี่ โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมสัญญาเฉลี่ยระยะยาว โดยภายหลังการเข้าลงทุนกองทรัสต์จะมีผู้เช่ากลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (3PLs) ในสัดส่วน 42% ของรายได้ค่าเช่า กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในสัดส่วน 20% ของรายได้ค่าเช่า และกลุ่มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ในสัดส่วน 15% ของรายได้ค่าเช่า

สอดคล้องภาพ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ครึ่งปีหลัง 65 ยังมีแนวโน้มเติบโต แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประสบกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 แต่กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวโดดเด่น อีกทั้ง ในปีนี้รัฐบาลได้มีการเปิดประเทศ ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทำให้หลายธุรกิจกลับมาดำเนินงานเต็มรูปแบบ ระบบการขนส่งต่างๆ กลับมาให้บริการทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีการปรับตัวมากขึ้น

สำหรับการเพิ่มทุน กองทรัสต์ WHART ครั้งนี้ จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิมในวันที่ 7-11 พ.ย. และประชาชนทั่วไป เสนอขายในวันที่ 15–18 พ.ย. โดยราคาเสนอขายสูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 10.0 บาทต่อหน่วย ส่วนราคาสุดท้ายจะประกาศให้ทราบผ่านเว็บไซต์ของทางตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

ท้ายสุด "อนุวัฒน์" บอกไว้ว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้สร้าง "ผลตอบแทน" สม่ำเสมอให้ผู้ลงทุนในช่วงภาวะตลาดผันผวน ในอัตราผลตอบแทนกองทรัสต์จากผลการดำเนินงานของกองทรัสต์ในปีนี้ยังอยู่ระดับสูงเฉลี่ย 7-8% และประมาณการจ่ายประโยชน์ตอบแทน หลังการลงทุนในทรัพย์สินหลักเพิ่มเติมอยู่ที่ประมาณ 0.80 บาทต่อหน่วย