'โลกแบ่งขั้วอำนาจ' พิสูจน์บทบาท'ไทย' เจ้าภาพเอเปค

'โลกแบ่งขั้วอำนาจ' พิสูจน์บทบาท'ไทย' เจ้าภาพเอเปค

สมาชิกเอเปคประกอบด้วยมหาอำนาจโลก และเขตเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่กำลังจะเดินทางมาเจอกันในการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18 - 19 พ.ย. นี้ ที่กรุงเทพมหานคร ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่โลกแบ่งขั้วการเมือง

สมาชิกเอเปคประกอบด้วยมหาอำนาจโลก และเขตเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่กำลังจะเดินทางมาเจอกันในการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18 - 19 พ.ย. นี้ ที่กรุงเทพมหานคร ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่โลกแบ่งขั้วการเมือง ซึ่งถือเป็นสิ่งท้าทายบทบาทของไทย ในการทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ รักษาความเป็นกลางในการทำให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างไร้รอยต่อได้อย่างไร

“เชิดชาย ใช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า บทบาทของไทย ในฐานะประเทศที่มีอิทธิพลต่อภูมิภาคมาตลอด จึงเป็นต้นทุนที่เราไม่จำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์เพิ่มเติม เพราะแสดงให้เห็นในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยมายาวนานหลายสิบปี สิ่งที่เราต้องแน่ใจคือ รัฐบาลและประชาชนไทย สามารถแบ่งปันความเห็นที่ไปด้วยกันได้หรือมองเห็นประโยชน์คล้ายๆกัน

“การที่ไทยเข้มแข็งในแง่ของเสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาค” เชิดชาย ระบุ
 

ดังนั้น การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยปีนี้จึงเป็นโอกาสดีมาก ที่จะได้แสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางสถานการณ์ระดับภูมิภาคเรามาทวงตำแหน่งผู้นำทางความคิดและผู้นำการเปลี่ยนแปลงสิ่งดีๆมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก 

 โดยอิทธิพลจากความสำเร็จตามเอกสารเป้าหมาย“Bangkok Goals on BCG Economy”จะเป็นมรดกที่ไทยจะมอบให้เอเปคในฐานะเจ้าภาพ สิ่งนี้จะเป็นหลักประกันกับประเทศไทยได้อย่างดีว่าเราสามารถเป็น “ตัวกลาง” หรือเป็นผู้สมานมือของเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค

“การเป็นตัวกลางไม่ใช่แค่เป็นกลางในประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่การเป็นผู้นำทางความคิดและการปฏิรูปการค้า แก้ไขกฎระเบียบและปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม มีการสร้างเงื่อนไขเชื่อมโยงการลงทุน โดยคำนึงถึงชุมชนท้องถิ่นเป็นอันดับหนึ่งและการขับเคลื่อนบทบาทของเยาวชน ถ้าเราทำเรื่องนี้ได้ดี เราจะสามารถรักษาบทบาทของไทยในฐานะผู้นำเอเปคได้อย่างเต็มที่” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าว

ขณะที่โลกแบ่งขั้วทางความคิด จะเป็นความท้าทายของไทยในการทำหน้าที่สมานมือกับเขตเศรษฐกิจต่างๆ เชิดชาย กล่าวว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับไทยเพียงอย่างเดียว แต่รวมสมาชิกอีกทั้ง 21 ประเทศ เมื่อเปรียบเทียบผู้นำ 21 คนเป็นเครื่องดนตรีวงออเคสตรา เป็นไปไม่ได้ที่ดนตรีแต่ละประเภทจะเล่นโน้ตดนตรีเดียวกัน แต่ความสวยงามของออเคสตราคือ “เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน อาจมีสนับสนุนกันหรือขัดแย้งกัน แต่ความสวยงามจากความแตกต่าง สามารถสร้างความงดงามทางดนตรีได้”

ดังนั้น นโยบายการต่างประเทศของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไม่ได้เกิดจากการทำสงครามเพียงอย่างเดียว แต่นโยบายการต่างประเทศของแต่ละที่ มีความต่างกันอยู่แล้ว เราจึงควรมาร่วมประชุม เพื่อนำความแตกต่างมาแสดงให้เห็นหนทางทางการฑูตให้ขับเคลื่อนไปได้และขอย้ำว่า ท่ามกลางความแตกต่าง เราได้วิเคราะห์ทำงานร่วมกับหลายเศรษฐกิจแล้ว การมุ่งสร้างความสมดุลด้านความยั่งยืน ความรับผิดชอบของธุรกิจ โดยเฉพาะปัญหาสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจรีไซเคิล และการใช้ประโยชน์ในความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่ทางการทูตที่ทุกคนเห็นตรงกัน

ในฐานะที่ไทยเล่นเครื่องดนตรีเครื่องหนึ่งในวงออเคสตราและบทเพลงสำคัญที่ทั้ง 21 เครื่องช่วยกันบรรเลงขึ้นมา นั่นคือการขับเคลื่อน Bio circular Green ในการบรรลุเรื่องต่างๆในที่ประชุมทั้งหมด ซึ่งไปไม่ได้ที่การเป็นเจ้าภาพแล้วเราจะต้องเน้นไปที่เรื่องเดียวแต่ขีดความสามารถในความร่วมมือของไทยทุกฝ่าย จะสร้างประโยชน์ให้กับทุกเศรษฐกิจรวมถึงไทยด้วย ซึ่งความแตกต่างของผู้เข้าร่วมประชุมอยู่ที่ว่า เราจะใช้ประโยชน์จากความแตกต่างอย่างไร และเอเปคจะเดินต่อไปอย่างไร และขอเสริมว่าในความเป็นสถาบันของเอเปค ผมคิดว่าช่วงนี้ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากความท้าทายต่างๆที่กล่าวมา ไม่ใช่ประเด็นความสำคัญต่อไทยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อเอเปคด้วย

ด้าน“เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) กล่าวว่า ความท้าทายจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดขอโควิด-19 เหมือนการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้น จนส่งผลให้พลังงานโลกมีราคาสูง เงินเฟ้อพุ่งสูงทั่วโลก ตลอดจนเกิดวิกฤติแทรกซ้อน อย่างการขาดแลคนอาหารจากภาวะสงครามในยูเครน ส่งผลให้ราคาปุ๋ยและธัญพืชแแพงขึ้น ทำให้หลายประเทศกังวลว่าผู้คนอดอยากและขาดแคลนอาหารมากกว่า 300 ล้านคน โดยเฉพาะประเทศยากจน

“ดังนั้น เราหวังว่า ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคจะสามารถหาหนทางสร้างสันติภาพ ความสงบสุข และลดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครนได้ ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันอย่างระมัดระวัง” ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ระบุ 

ในการประชุมคณะทำงาน ABAC เพื่อเตรียมการเอเปค จัดขึ้นทั้งที่เวียดนาม และสิงคโปร์เป็นระยะๆ ตลอดปี 2565 เราค่อนข้างใช้ความระมัดระวังในประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ โดยเกรียงไกร กล่าวว่า เจตนารมณ์ในการจัดตั้งเอเปค จะเห็นว่า ไม่เรียกสมาชิกว่าประเทศ แต่เรียกว่า “เขตเศรษฐกิจ” สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจ และการค้าการลงทุนเป็นหลัก จะไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง 

ตัวอย่างเช่น ไทยยึดถือนโยโบายจีนเดียว แต่ในมุมของเอเปค หรือเอแบค เราเรียกจีนเป็นเขตเศรษฐกิจจีน เช่นเดียวกับ เขตเศรษฐกิจจีนไทเป หรือเขตเศรษฐกิจจีนฮ่องกง เพราะถือว่าเวทีนี้ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง แต่วิกฤติทางการเมืองที่ปะทุขึ้นมา  ยอมรับว่า เอเปคต้องคอยระมัดระวังไม่ให้มีประเด็นการเมืองเข้ามาแทรก และยึดตามเจตนารมณ์ของเอเปคและเอแบคในเรื่องของเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และส่งเสริมความยั่งยืน 

ดังนั้น ในการเจรจาเราจะมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความเปราะบางที่อาจสร้างความไม่เข้าใจกัน

ซึ่งการประชุมในเอแบคที่ผ่านมา มีความเข้มข้นมากกว่าทุกครั้ง เพราะต้องคอยควบคุมการประชุมให้อยู่ในกรอบกติกาที่กำหนด และพยายามไม่ให้มีการเมืองเข้ามาแทรก

ท่ามกลางความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เป็นเรื่องเร่งด่วนในปัจจุบัน เห็นได้จากภัยพิบัติน้ำท่วม ฝนตกหนัก คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในปีนี้ และส่งผลต่อความปลอดภัยอาหาร ดังนั้น นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมกันแก้ไข ส่วนประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหาร หรือเรียกว่า ครัวของโลก มียอดส่งออกอาหารทุกชนิดรวมกันโตมากขึ้นถึง 30%  ดังนั้นเวทีเอเปคจะช่วยให้ไทยขยับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอาหาร 10 อันดับแรกของโลกได้

ภาคเอกชนเสริมการจัดงานของภาครัฐ ด้วยการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม ‘APEC CEO Summit 2022’ ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-18 พ.ค. 2565 ภายใต้ 3 แนวคิดหลัก คือ

EMBRACE: แสดงให้เห็นถึงการเปิดรับโอกาสที่กำลังเข้ามาใหม่ เปิดกว้างเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจหลังจากหยุดนิ่งจากสภาวการณ์ถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลก

ENGAGE: สื่อถึงการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อสรรสร้างทิศทางเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตร่วมกัน

ENABLE: ขยายข้อจำกัดความสามารถทางเศรษฐกิจ ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ทุกที่ทุกเวลา

     ข้อเสนอที่ ABAC เตรียมเสนอให้กับผู้นำ APEC ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. Regional Economic Integration:เส้นทางสู่เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการ

2. การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล เพราะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เป็นการปกป้องความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่าง ๆ

3. การเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของ MSMEs สนับสนุนการเติบโตนี้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก ซึ่งหมายรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนมาตรการให้เป็นสากล

4. Sustainability ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นเนื่องจากผู้ผลิตและผู้บริโภคในภูมิภาค จึงต้องเร่งดำเนินการ “แผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030” มีการการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การจำหน่ายและการค้า ตลอดจนการนำ Bio-Circular-Green (BCG) มาปรับใช้

5. Finance and Economics การดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจมหภาค การคลัง และการเงิน เพื่อเร่งการฟื้นตัว ปฏิรูปโครงสร้างหลัก  เพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงิน ในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัล และความยั่งยืนอย่างครอบคลุม

เอเปคเหมือนองค์กรต่างๆ ที่ต้องรู้จังหวะการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในช่วงรอยต่อของการสิ้นสุดโควิด-19 และสงครามทางการค้า ที่มีความรุนแรงน้อยลงนี้ เป็นจุดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเอเปค โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ปุตราจายาที่จะเกิดขึ้นตามเป้าหมายปี (ค.ศ.) 2040  ถ้าเอเปคไม่ปรับตัว ความสำคัญของเอเปคจะน้อยลง นั่นเป็นสมการระหว่างประเทศที่ทุกคนทราบกันดี