"วัน แบงค็อก" ตอบรับนโยบายกรีนแบงค็อก 2030 หนุนกรุงเทพฯ ก้าวสู่มหานครยั่งยืน

"วัน แบงค็อก" ตอบรับนโยบายกรีนแบงค็อก 2030 หนุนกรุงเทพฯ ก้าวสู่มหานครยั่งยืน

"เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้" เปิดวิสัยทัศน์การพัฒนาพื้นที่สาธารณะใจกลางเมือง ชู "วัน แบงค็อก" โครงการมิกซ์ยูสระดับโลก ตอบรับโครงการกรุงเทพฯ เมืองสีเขียว 2030 พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่

ในงานมหกรรมด้านความยั่งยืนระดับภูมิภาคในอาเซียน หรือ Sustainability Expo 2022 ได้ระดมความคิดในการร่วมค้นหาทางออกให้โลกสร้างสมดุลใหม่ให้พร้อมแนวทางพัฒนาด้านความยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือการเสวนาในหัวข้อ "ปรับอนาคตเมือง เปลี่ยนอนาคตเรา" และ "A Place for All – One Bangkok’s Sustainable Public Realm"

วรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาและบริหารโครงการ วัน แบงค็อก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในฐานะภาคเอกชน กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาโครงการของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ว่า สอดคล้องกับนโยบายผังเมือง กทม. ที่ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 10 ตร.ม.ต่อคน ภายในระยะเวลา 7-8ปี ในมุมของภาคเอกชนอยากจะเข้ามีส่วนร่วมในการสนับสนุนภาครัฐเพื่อพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ และสมบูรณ์มากขึ้น เพราะจากประสบการณ์ที่ทำการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่อายุการใช้งาน 30 ปีขึ้นไป ต้องวางโครงสร้างการพัฒนาโครงการให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยพยายามทำความเข้าใจปัญหา และแก้ไขให้เกิดความยั่งยืน

"จากสถิติพบว่า ทุกวันนี้ คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 3.54 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในเอเซียตะวันออก มีค่าเฉลี่ย 66.2 ตารางเมตรต่อคน ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ 60 ตารางเมตรต่อคน ฮ่องกง 105.3 ตารางเมตรต่อคน หวังว่านับจากนี้ 8 ปีพื้นที่สีเขียว เพิ่มขึ้น10 ตารางเมตรต่อคน"

\"วัน แบงค็อก\" ตอบรับนโยบายกรีนแบงค็อก 2030 หนุนกรุงเทพฯ ก้าวสู่มหานครยั่งยืน

วรวรรต มองว่า โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือ "พื้นที่สาธารณะ" ซึ่งในกรุงเทพฯ มีทางสาธารณะน้อย มีแค่ 7% ของพื้นที่เมืองผู้คนสัญจรได้ เมื่อเทียบกับมาตรฐานที่ควรมีอยู่น้อย 20-25% ยกตัวอย่างในพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาเมืองมีทางสาธารณะถึง 47% เมืองที่มีความหนาแน่นอย่างนิวยอร์กมีทางสาธารณะ 28% ของพื้นที่เมือง แม้แต่โตเกียวที่ก็ยังมีทางสาธารณะ 20% ของพื้นที่เมือง 

ในฐานะเอกชน สิ่งที่สามารถทำได้คือการพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้เป็นพื้นที่ "เปิดโล่ง" มีพื้นที่ "สีเขียว" มากขึ้น พร้อมกับปรับปรุงพื้นที่ให้เอื้อต่อการเดินเท้าภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสัญจรด้วยการเดินเท้ามากขึ้น ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดกิจกรรมนอกสถานที่ ตลอดจนรณรงค์ให้ลดการใช้รถส่วนบุคคล หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น 

ที่ผ่านมา เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีแนวคิดในการพัฒนาโครงการที่ใสใจต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยโครงการ "เดอะ ปาร์ค" โครงการไลฟ์สไตล์ มิกซ์ยูส ที่มีออฟฟิศและรีเทลอัจฉริยะภายใต้แนวคิด "Life Well Balanced" เป็นแบบอย่างของการสร้างพื้นที่สีเขียวในโครงการของภาคเอกชนเพื่อสาธารณะ โดยมีการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่เป็นแนวตลอดหน้าอาคารที่อยู่บนพื้นที่ของโครงการเพื่อสร้างความร่มรื่นให้ถนนและทางเดิน รวมถึงนำพื้นที่ตลอดแนวด้านหน้าโครงการมาเป็นส่วนต่อขยายทางเดินเท้าที่มีอยู่ให้กว้างขวางภายใต้ภูมิทัศน์ที่ดีขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้คนโดยรอบที่สัญจรไปมา 

\"วัน แบงค็อก\" ตอบรับนโยบายกรีนแบงค็อก 2030 หนุนกรุงเทพฯ ก้าวสู่มหานครยั่งยืน

โครงการ "วัน แบงค็อก" โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจร พร้อมมาตรฐานคุณภาพสูง และใหญ่ที่สุดใจกลางเมืองกรุงเทพฯ บนถนนวิทยุ พระราม 4 ที่ให้ความสำคัญ 3 เรื่องหลักเพื่อการสร้างสรรค์เมืองแห่งอนาคต ได้แก่

  1. เข้าใจความต้องการของผู้คน (People Centric) โดยออกแบบให้มีพื้นที่เข้าถึงได้โดยคนทั่วไป เอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่ รวมถึงลานอเนกประสงค์ขนาด 10,000 ตารางเมตรหรือประมาณ 6 ไร่ ทางเดินทั้งโครงการยาวกว่า 5 กิโลเมตร เพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิตภายนอกอาคาร และการเดินทาง
  2. ยกระดับความยั่งยืน (Sustainability) โดยพื้นที่กว่า 50 ไร่ จากที่ดิน 104 ไร่ จะเป็นพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียว มีแนวต้นไม้ให้ร่มเงายาว 2.6 กม. มีสวนกว้าง 40 เมตร ยาวตลอดแนวถนนวิทยุ และถนนพระราม 4 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและเชื่อมต่อพื้นที่เปิดโล่งกับสวนลุมพินี โดยตั้งเป้าเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการพัฒนาชุมชนแวดล้อมอย่าง LEED for Neighborhood Development ระดับ Platinum สำหรับการพัฒนาชุมชนแวดล้อมและมาตรฐานรับรองอาคาร WELL เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้อาคาร  
  3. การใช้ชีวิตอย่างสมาร์ท (Smart City Living) ด้วยการสร้างประสบการณ์การใช้ชีวิตในสมาร์ทซิตี้ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งผสานเทคโนโลยีอัจฉริยะในโครงการฯ เช่น ระบบไร้สัมผัส, วัน แบงค็อก โมบาย แอปพลิเคชัน, ระบบสาธารณูปโภคล้ำสมัย, การบริหารจัดการจราจร รวมถึงการรักษาความปลอดภัย ทั้งหมดถูกออกแบบเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตของผู้คนและรองรับการดำเนินงานโครงการอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งสาธารณูปโภคส่วนกลาง เช่น ระบบจัดการพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และเปิดโอกาสให้มีพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ร่วมเสวนาท่านอื่นๆ อย่าง ปาจริยา มหากาญจนะ ผู้อำนวยการสวนสาธารณะ 1 สำนักงานสวนสาธารณะสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร มารับฟังและร่วมแชร์นโยบายแผนพัฒนาย่านและสภาพแวดล้อมเพื่อนำกรุงเทพฯไปสู่มหานครสีเขียว, ยศพล บุญสม กรรมการบริหาร บริษัท ฉมา จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิสถาปัตย์เพื่อสิ่งแวดล้อม และภาคภูมิ โกเมศโสภา ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ซึ่งทุกภาคส่วนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรสนับสนุนสร้างความเชื่อมโยงในระดับเครือข่ายระหว่างหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่ารัฐ เอกชน หรือชุมชน เพื่อนำไปสู่การค้นหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ในเมืองให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นการปรับอนาคตเมือง เปลี่ยนอนาคตเรา และนำกรุงเทพฯ ไปสู่การเป็นมหานครที่ยั่งยืน

\"วัน แบงค็อก\" ตอบรับนโยบายกรีนแบงค็อก 2030 หนุนกรุงเทพฯ ก้าวสู่มหานครยั่งยืน