‘สุพัฒนพงษ์’ มั่นใจ พ.ย. เคาะกู้ 3 หมื่นล้านใส่กองทุนฯ

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติจากปัญหาโควิด-19 และสงครามทางการเมืองรัสเซียและยูเครน โดยช่วงโควิดการใช้น้ำมันลดลง การผลิตก็ลดลงด้วย และช่วงปลายปี 2564 เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติจากปัญหาโควิด-19 และสงครามทางการเมืองรัสเซียและยูเครน โดยช่วงโควิดการใช้น้ำมันลดลง การผลิตก็ลดลงด้วย และช่วงปลายปี 2564 เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ในประเทศตะวันตกมีวัคซีน กลุ่มเอเซียได้รับวัคซีนทำให้ดีมานด์เริ่มขยับขึ้น ส่วนซัพพลายลดลงไป ซึ่งกว่าจะผลิตน้ำมันกลับมาได้ต้องใช้เวลา

ทั้งนี้ ต้นปี 2565 ปัญหาความขัดแย้งและการแบ่งขั้วอำนาจ นำไปสู่ความไม่สมดุลในการผลิตต่าง ๆ และตัดสัมพันธ์ทางการค้า เกิดการเลิกส่งพลังงาน ซ้ำเติมการรอกำลังการผลิต ทำให้ราคาพลังงานกระโดดขึ้นมาก เกิดความกังวลในประเทศไทย โดยรัฐบาลพยาบามช่วยเหลือประชาชนโดยใช้กลไกการตรึงราคาน้ำมันจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่พยายามตรึงราคาในระดับไม่แพงเทียบกับเพื่อนบ้าน ถือเป็นมีภาระและเป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงต้องกู้เงินเพื่อทยอยใช้จ่ายต่อไป เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศให้มีความเสถียรภาพ

ซึ่งในเดือนพ.ย. 2565 จะมีความชัดเจนในเรื่องของการกู้เงิน โดยเฉพาะการเปิดให้สถาบันทางการเงินยื่นข้อเสนอต่าง ๆ ตามแผนการกู้เงินส่วนแรก 30,000 ล้านบาท และส่วนที่ 2 อีก 1.2 แสนล้านบาท โดยจะทยายกู้เป็นก้อนเล็ก ๆ ตามความเหมาะสม เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันยังมีความผันผวน แต่เชื่อมั่นว่ากลางปี 2566 ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะลดลงกว่านี้แน่นอน

ประเทศไทยนำเข้าพลังงานกว่า 80% ส่วนแก๊สธรรมชาติกว่า 20-30% สิ่งสำคัญคือต้องช่วยกันประหยัดพลังงานทั้งน้ำมันและไฟฟ้าเพียง 20% ก็ช่วยประหยัดเงินหลักแสนล้านบาท เพราะการลดการนำเข้าจากต่างประเทศไม่ใช่จะทำง่ายทันที รัฐบาลพยายามหาพลังงานทดแทนอื่น ๆ ทั้งการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานสะอาดจากโซลาร์ ลม และน้ำ เป็นต้น เพราะจากการนำเข้าและปัญหาทางการเมืองต่างประเทศส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับสูงขึ้นถึง 5 เท่าตัว และยิ่งปัญหาเงินเฟ้อก็มีผลสำคัญต่อราคาต้นทุนแก๊สโดยรวมของประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ กระทรวงพลังงานจะดำเนินงานตามแผนงาน และพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลและช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 300 หน่วยต่อเดือน โดยจะยังคงจ่ายค่า Ft เท่าเดิม ส่วนกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 300-500 หน่วยต่อเดือน จะจ่ายค่า Ft แบบขั้นบันได ซึ่งจะหมดมาตรการสิ้นปีนี้ ส่วนจะต่อให้อีกหรือไม่อยู่ระหว่างพิจารณา และรอสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศค่า Ft รอบเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 ช่วงต้นเดือนธ.ค. 2565 อีกครั้ง

การดูแลราคาดีเซลเพื่อไม่ให้ผลกระทบอัตราเงินเฟ้อมาก แต่ตอนนี้ราคาเบนซินอยู่ในราคาที่มีเสถียรภาพพอสมควร บางคนเริ่มปรับตัวใช้รถไฟฟ้าแล้ว เพราะรู้ว่าประหยัดจริง รัฐบาลพยายามทำเต็มที่ สิ่งที่อยากให้เห็นคือว่าโลก 2 ขั้วอำนาจยังดำเนินต่อไปแต่อยากจะให้เห็นคือวาระของโลกที่ต้องทำคือภาวะโลกร้อน ที่เห็นตรงกันคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันบนเวที COP26 ตั้งเป้าไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศา ซึ่งประเทศไทยก็ได้ประกาศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และเป้า Net Zero ปี 2065

 

 

คาดกลางปี 66 บังคับใช้แผนพลังงานชาติ

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. วัฒนพงษ์ คุโรวาท ระบุ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างร่างแผนพลังงานกลุ่มย่อย 5 แผนตามแนวทางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) หรือพีดีพี ซึ่งจะมีการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คาดว่าแผนย่อยจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อรวบรวมบรรจุไว้ในแผนพีดีพีที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2566 และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2566 

เมื่อ  5 แผนย่อยเสร็จแล้วจะถูกรวมเป็นแผนพลังงานชาติ ซึ่งจะตอบโจทย์การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) โดยแผนพลังงานชาติดังกล่าวจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะมีแผนปฎิรูปประเทศและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจะต้องมีการทบทวน ปรับปรุง เพื่อให้ประเทศมีขีดความแข่งขันได้เพิ่มขึ้น โดยเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่พลังงานสะอาด 

ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนไทยจะต้องดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.โครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานที่เป็นอัจฉริยะ 2. การปรับโครงสร้างตลาดและราคาให้ตอบโจทย์พลังงานรูปแบบใหม่ๆ 3. ปรับกฎระเบียบให้รองรับตลาดและการผลิต

 

สำหรับแผนพลังงานชาติจะมุ่งตอบโจทย์ลดโลกร้อนโดยวางกรอบไว้ 4 ส่วนและปักหมุดหมายไว้ที่จะไปให้ถึงในปี ค.ศ. 2050 ประกอบด้วย 1. เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากกำลังผลิตใหม่ๆ ให้มากกว่า 50% หลังปี ค.ศ. 2030 และจะมากขึ้นหลังจากนั้น โดยควบคู่กับเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (CCS และ CCUS) ไฮโดรเจน โดยพลังงานสะอาดจะเน้นพลังงานแสงอาทิตย์และลม ควบคู่เรื่องของแบตเตอรี่ (ESS) ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์ระยะแรกปี ค.ศ. 2030 จะมีระดับ 1 หมื่นเมกะวัตต์ และจากนั้นจะมีมากกว่า 2.5 หมื่นเมกะวัตต์ก่อนปี ค.ศ. 2050 เป็นต้น

2. ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ใช้ไฟฟ้าสะอาดจะเพิ่มการใช้ 30-50% ระยะแรก และปี ค.ศ. 2040 รถใหม่จะเป็น EV 100% รวมถึงต้องมีปั๊มชาร์จถึง 12,000 สถานี และมีแพลตฟอร์มต่างๆ 3. เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้มากกว่า 30-40% เช่น เรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงมากกว่าปัจจุบัน และ 4. ปรับโครงสร้างพื้นฐานรองรับ 4D1E เช่น เรื่องของมิเตอร์ไฟฟ้าที่สมาร์ทมากขึ้น จะเข้ามารองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน, การพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวและยืดหยุ่น

สำหรับแผนพลังงานชาติ ตามแนวทาง 4D1E จะประกอบไปด้วย 5 แผนย่อย  1.ด้านไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน RE, ลดสัดส่วนการผลิตเชื้อเพลิงที่ปลดปล่อย CO2, พัฒนาการกักเก็บคาร์บอน, พัฒนา Grid Modernization/Smart Grid, ผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานแบบกระจายศูนย์ 2. ด้านน้ำมัน ปรับปรุงมาตรฐานโรงกลั่นน้ำมัน, ส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ และเชื้อเพลิงชีวภาพ , พัฒนาระบบการควบคุมกำกับดูแล และเก็บข้อมูล 3.ด้านก๊าซธรรมชาติ ส่งเสริมการใช้ LNG, เปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติโดยปรับปรุงกฎระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคให้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบ, พัฒนาระบบการประเมินศักยภาพ และกำกับดูแลให้ทันสมัย , พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้แบบกระจายศูนย์

4.ด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ประเมินศักยภาพพลังงานหมุนเวียน, ส่งเสริมและพัฒนากลไกการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์, จัดทำแพลตฟอร์มและพัฒนาศูนย์ข้อมูล ในการควบคุมพลังงานหมุนเวียนด้วยระบบดิจิทัล, กำหนดมาตรการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น, ส่งเสริมการลงทุนในตลาดเทคโนโลยี RE, ศึกษาและพัฒนาการใช้ไฮโดรเจน และ 5.ด้านการอนุรักษ์พลังงาน กำหนดเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพ,ส่งเสริมการลงทุนในตลาดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน, พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น