อุบลฯวอนรัฐ ‘เพิ่ม’ วงเงินเยียวยาน้ำท่วม

จากสถานการณ์น้ำท่วมหนักในจังหวัดอุบลราชธานี นานกว่า 1 เดือน ทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 3 แสนไร่ มูลค่าประมาณการความเสียหายเบื้องต้นกว่า 50 ล้านบาท

จากสถานการณ์ น้ำท่วม หนักในจังหวัดอุบลราชธานี นานกว่า 1 เดือน ทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 3 แสนไร่ มูลค่าประมาณการความเสียหายเบื้องต้นกว่า 50 ล้านบาท ประชากรที่ลงทุนการทำนาปีนี้สูญเงินไปกว่า 30-40 ล้านบาทสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เป็นอย่างมาก
นางสาวเย็นจิตร วันทาสุข อายุ 38 ปี ชาวบ้านหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี 1 ในเกษตรกรตำบลหนองกินเพล เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรทั้งข้าวและผักสวนครัวกว่า 12 ไร่ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายทั้งหมด ทำให้ปีนี้ไม่มีรายได้จากการเกษตรแต่ต้องเสียเงินลงทุนไปแล้วกว่า 30,000 บาท ทำให้เดือดร้อนมาก

แต่ทุกปีรัฐบาลก็จะมีเงินชดเชย เงินเยียวยาให้เกษตรกรที่น้ำท่วมนาปีละ 900-1,000 บาท แต่ปีนี้พื้นที่เสียหายมาก 100 เปอร์เซ็นต์ ตนจึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือต่ออย่างน้อย 1,500 บาท ถึงแม้จะไม่พอแต่ก็ช่วยบรรเทาได้มาก ส่วนเรื่องพันธุ์ข้าวถ้าได้ด้วยก็จะดีเพราะทุกปีก็ต้องซื้อพันธุ์ข้าวซึ่งมีราคาสูงกิโลกรัมละ 20 กว่าบาท แต่ผลผลิตออกมาขายได้กิโลกรัมละ 6 บาท ค่าปุ๋ยก็ไม่ได้ เฉพาะบ้านหนองกินเพลพื้นที่นา พื้นที่เกษตรกว่า 2,000 ไร่ถ้าชาวบ้านลงทุนแต่ละครัวเรือก็ค่อนข่างจะลำบาก
 
สำหรับข้อมูลล่าสุดจังหวัดอุบลมีพื้นที่การเกษตรเสียหายทั้งหมด 21 อำเภอ กว่า 360,000 ไร่ 58,600 ครัวเรือน

  • ชาวนาบุรีรัมย์ขอ ‘เมล็ดพันธุ์’ ข้าว

ถึงแม้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จะเริ่มคลี่คลายลงแต่ก็ทิ้งร่องรอยความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะนาข้าวของเกษตรในหลายพื้นที่ถึงแม้ระดับน้ำจะลดระดับลงแล้ว แต่น้ำที่ท่วมจนมิดต้นข้าวก่อนหน้าที่และขังเป็นเวลานานเกือบเดือนก็ทำให้ต้นข้าวเน่าเสียหายบางส่วนก็เมล็ดลีบไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ชาวนาจึงได้วิงวอนให้หน่วยงานภาครัฐนอกจากจะช่วยเหลือเงินชดเชยนาข้าวที่เสียหายแล้ว ก็อยากให้จัดหาเมล็ดพันธุ์มาแจกจ่ายด้วย เพื่อจะได้มีเมล็ดพันธุ์เพาะปลูกในฤดูกาลผลิตหน้า
 
โดยนางฐิตาภรณ์ ยีรัมย์ ชาวนาบ้านโนนกลาง ต.แคนดง อ.แคนดง บอกว่า ในหมู่บ้านถูกน้ำเอ่อท่วมนาข้าวเป็นวงกว้างและน้ำท่วมขังมานานเกือบ1เดือนแล้ว เฉพาะของตนเองทำนาทั้งหมด9ไร่ ถูกน้ำท่วมเสียหายประมาณ6ไร่ ซึ่งก็ได้ไปแจ้งชื่อผู้ประสบภัยกับผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอรับการชดเชยเยียวยาตามขั้นตอนแล้ว แต่ก็อยากให้ทางภาครัฐได้ช่วยเหลือเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยเพราะปีหน้าคงไม่มีเมล็ดพันธุ์มาเพาะปลูก

 

  • เกษตรกรที่จะขอรับเงินเยียวยา

ขณะที่ล่าสุดจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ประกาศพื้นที่รับความช่วยเหลือภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินด้านอุทกภัยแล้ว ทั้ง 23 อำเภอ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 34,000 ครัวเรือน

พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 3 แสนไร่ เกษตรกรที่จะขอรับเงินเยียวยาจะต้องเป็น

- เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้นจึงจะรับเงินเยียวยา

- เกษตรอำเภอ จะประกาศแจ้งให้เกษตรกรไปยื่นความจำนงขอรับการช่วยเหลือที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ประมงอำเภอ หรือปศุสัตว์อำเภอ ตามประเภทของเกษตรกร

- จะมีการตั้งคณะกรรมการเข้าตรวจสอบความเสียหาย ก่อนจ่ายเงินช่วยเหลือ ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่

-  หลักเกณฑ์การช่วยเหลือจะได้ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่

  • ประเภทนาข้าวจะช่วยเหลือไร่ละ1,340บาท
  • พืชไร่ละพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่
  • ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆไร่ละ 4,048 บาท

- มีการจัดหาเมล็ดพันธุ์พืช และต้นพันธุ์ไว้สนับสนุนเกษตรกรด้วย

 

หมดตัวแล้ว! ศรีสะเกษจี้รัฐเร่งจ่ายเยียวยา

สถานการณ์น้ำท่วม จังหวัดศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในนาม ผอ.ศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ ได้ประกาศเขตภัยพิบัติทั้ง 22 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด 168 ตำบล 1,319 หมู่บ้าน ราษฎรซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 53,545 ครัวเรือน

แม้วันนี้น้ำจะเริ่มลดปริมาณลงแต่เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณวันละ 5 - 8 เซนติเมตร นาข้าวที่ถูกน้ำท่วมมานานกว่า 1 เดือน เน่าเสียหายโดยสิ้นเชิง จำนวน 289,025 ไร่ ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องสัญจรจากหมู่บ้าน เพื่อเข้ามาทำงานในตัวเมืองศรีสะเกษ ยังต้องพึ่งพารถยกสูงของทหาร ของป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเดินทางเข้าออก บนถนนที่มีน้ำท่วมสูงอยู่ 7 สายทาง เฉลี่ยวันหนึ่งเข้าออกนับ 10,000 คน

อำเภอที่ยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอีก 5 อำเภอ ได้แก่

  1. อำเภอศิลาลาด
  2. อำเภอราษีไศล
  3. อำเภอเมืองศรีสะเกษ
  4. อำเภอยางชุมน้อย
  5. อำเภอกันทรารมย์

เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม นาข้าวเน่าเสียหายโดยสิ้นเชิง มุ่งหวังรัฐบาลสั่งการในการสำรวจความเสียหาย เพื่อชดเชย เยียวยา และหาอาชีพเสริมให้หลังน้ำลด เพื่อจะได้มีรายได้ต่อไป จนกว่าจะถึงฤดูกาลทำนาใหม่ในปีหน้าซึ่งก็ไม่ทราบว่าน้ำจะท่วมอีกหรือไม่